วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

จะวัดรายได้ใครดีกว่าบรรทัดสุดท้ายคือคำตอบ

             นาย A นาย B และนาย C เป็นเพื่อนเรียนวิศวะมาด้วยกัน เมื่อจบการศึกษาต่างก็เข้าทำงานเป็นวิศวกรคนละบริษัท เมื่อมีงานเลี้ยงรุ่นก็หนีไม่พ้นเรื่องการคุยกันเรื่องเงินเดือนว่าใครได้เงินเดือนเท่าไหร่

            นาย A เงินเดือน 22,000 บาท นาย B เงินเดือน 24,000 บาท นาย C เงินเดือน 26,000 บาท

            ถ้านาย A คิดแบบผิวเผินก็จะรู้สึกว่าตัวเองได้เงินเดือนน้อยกว่าเพื่อน และอาจจะรู้สึกว่าบริษัทที่ทำอยู่เอาเปรียบเรา กดเงินเดือนต่ำกว่าบริษัทที่เพื่อนทำอยู่ และรู้สึกไม่ดีกับบริษัทและฝ่ายบริหารของบริษัท ถ้ายังเป็นอย่างงี้ต่อไปคงต้องร้องเพลงอย่างงี้ต้องลาออก

             แต่ถ้าทั้ง 3 คนไม่ได้คุยเรื่องเงินเดือนแล้วคุยกันแต่เรื่องโบนัสล่ะ

บริษัทของนาย A จ่ายโบนัสเฉลี่ยปีละ 3.5 เดือน บริษัทของนาย B นายโบนัสเฉลี่ยปีละ 3.0 เดือน และบริษัทของนาย C จ่ายโบนัสเฉลี่ยปีละ 2.5 เดือน

            ถ้าคิดแบบผิวเผินทั้งนาย B และนาย C ก็ต้องอิจฉานาย A ว่าได้โบนัสมากกว่าตัวเอง

นาย B และนาย C อาจจะอยากไปทำงานกับบริษัทของนาย A เพราะเห็นว่าได้โบนัสเยอะดีกว่า

แต่ถ้าทั้ง 3 คุยกันเฉพาะเรื่องเงินเดือนกับโบนัสเท่านั้น นาย A ก็จะยังรู้สึกว่าตัวเองยังมีรายได้รวมน้อยกว่านาย B และนาย C จริงไหมครับ

แต่....

ต้องไม่ลืมว่าเมื่อเราพูดถึง Pay mix หรือองค์ประกอบค่าตอบแทนจะต้องดู Total Pay ทั้งหมด

Pay mix ประกอบด้วยอะไรบ้าง ?

1.      เงินเดือนมูลฐาน (Basic Salary)

2.      โบนัส

3.      สารพัดค่า (ที่ไม่ใช่ข้อ 1 และ 2) เช่น ค่าครองชีพ, ค่าวิชาชีพ, ค่าเบี้ยขยัน, ค่ากะ, ค่าโอที, ค่าอาหาร, ค่าภาษา, ค่าตำแหน่ง, ค่ารถ, ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ

เรื่องนี้จึงทำให้เห็นสัจธรรมอยู่ 2 เรื่องคือ

1.      เงินเดือนของเราได้เท่าไหร่ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่ และ

2.      คนมักจะเอาสิ่งที่ตัวเองไม่มี ไปเทียบกับสิ่งที่คนอื่นมี แต่จะไม่เอาสิ่งที่เรามีไปเทียบกับสิ่งที่คนอื่นเขาไม่มี

ถ้านาย A มองแต่ตัวเงินเดือนเป็นหลักก็อาจจะรู้สึกน้อยอกน้อยใจบริษัทที่จ่ายให้น้อยกว่าเพื่อน

หรือแม้แต่นาย A มองตัวเงินเดือน+โบนัสก็ยังไม่รู้สึกดีขึ้น เพราะนาย A กำลังเอาสิ่งที่ตัวเองไม่มีคือเงินเดือนได้น้อยกว่าเพื่อน ไปเทียบกับเงินเดือนของเพื่อนที่ได้มากกว่า

แต่มักจะไม่เอาสิ่งที่ตัวเองมีไปเทียบกับสิ่งที่เพื่อนไม่มี

นั่นคือถ้าบริษัทของนาย A จ่ายค่าเบี้ยขยัน, ค่าครองชีพ, ค่าวิชาชีพ, ค่ากะ, ค่าอาหาร, ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ที่มากกว่าบริษัทของนาย B และนาย C

จนบรรทัดสุดท้ายนาย A มีรายได้รวม (Total Pay) จากบริษัทมากกว่านาย B และนาย C

เรื่องนี้จึงเป็นข้อคิดให้กับทั้งคนที่ทำงานและคนที่ดูแลระบบค่าตอบแทนว่า

1.      เวลาจะเปรียบเทียบรายได้ต้องดูบรรทัดสุดท้ายคือ Total Pay ทั้งหมด

2.      ต้องจัดองค์ประกอบค่าตอบแทน (Pay mix) ให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม โจทย์ที่ท้าทายคือจะจัด Pay mix ของบริษัทเรายังไงให้พนักงานมี Total Pay ที่ไม่ต่ำกว่าตลาดแข่งขัน

3.      คำตอบของข้อ 2 คือต้องมี “ข้อมูล” ของเงินเดือนเฉลี่ย, โบนัสเฉลี่ย, สารพัดค่า (แต่ละตัว) เฉลี่ยของตลาด+ทักษะการวิเคราะห์เพื่อหาสัดส่วน Pay mix ที่เหมาะสมและแข่งขันได้ของ Com & Ben

4.      ถ้า Com & Ben มีความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานที่ดีพอก็จะสามารถทำให้สารพัดค่าบางตัวไม่ใช่ “ค่าจ้าง” ตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งก็จะทำให้บริษัทลด Staff Cost บางตัวลงได้ 

      แต่ถ้า Com & Ben ขาดความรู้ความเข้าใจกฎหมายแรงงานในเรื่อง “ค่าจ้าง” ก็จะเกิดปัญหา Staff Cost บวมตามมาได้

ปิดท้ายบทความนี้เหมือนชื่อเรื่องคือจะวัดรายได้ใครดีกว่า..บรรทัดสุดท้ายคือคำตอบครับ