วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ยืดหยุ่นเวลามาสายคิดให้ดีก่อนจะมีดราม่า

             ก่อนหน้านี้ผมเคยเล่าให้ฟังเรื่องลูกน้องมาสายทำไงดีไปแล้ว ก็เลยคิดไปถึงอดีตที่ครั้งหนึ่งผมเคยไปทำงานเป็นผู้บริหารงาน HR ที่บริษัทแห่งหนึ่ง (เพิ่งเข้าไปทำงานประมาณ 1 เดือน) เขามีข้อบังคับเกี่ยวกับเวลามาทำงานที่เขียนไว้นานหลายปีแล้วว่า

เวลาทำงานปกติคือ 8.30-17.30 น. แล้วก็มีเงื่อนไขข้างใต้เวลานี้เอาไว้ว่าให้เป็นดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาที่จะอนุญาตให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าทำงานไม่เกิน 8.45 น.

การเขียนกฎเกณฑ์กติกาแบบนี้แหละครับทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาซึ่งผมก็ไม่รู้นะครับว่าคนเขียนข้อบังคับในเรื่องนี้ได้คิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมาหรือเปล่า

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดก่อนที่ผมจะเข้ามาทำงานที่บริษัทแห่งนี้คือ

1.      พนักงานรับรู้และเข้าใจต่อ ๆ กันมาว่าเวลาเริ่มงานคือ 8.45 น.

2.      หัวหน้าที่เข้มงวดกับเรื่องเวลามาทำงานก็จะเรียกลูกน้องที่มาเข้างานเกิน 8.30 น.มาตักเตือนทั้งเป็นวาจา หรือลายลักษณ์อักษรว่ามาทำงานสาย

3.      วันไหนหัวหน้าที่เข้มงวดอารมณ์ดีก็อาจยืดหยุ่นเวลามาทำงานให้เป็น 8.45 น.แต่ถ้าอารมณ์ไม่ดีก็ยึดเวลา 8.30 น. เพราะตามระเบียบบอกไว้ว่า “ให้เป็นดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา”

4.      หัวหน้าที่เป็นตุ๊กตาหมีใจดีกับน้อง ๆ ก็จะอะลุ่มอล่วยโดยถือว่าเวลาทำงานปกติคือ 8.45 น.

5.      พนักงานเกิดการเปรียบเทียบกันระหว่างหน่วยงานและเกิดความคับข้องใจว่าทำไมหน่วยงานนี้เข้าทำงานได้ไม่เกิน 8.45 น.แต่ทำไมหน่วยงานเราถึงต้องเข้าทำงาน 8.30 น. อยู่บริษัทเดียวกันลักษณะงานคล้ายกันทำไมถึงมีสองมาตรฐานล่ะ

พอผมเข้ามาเป็นผู้บริหารงาน HR ในบริษัทแห่งนี้ก็มีพนักงานมาระบายความรู้สึกและถามผมว่าความเห็นของ HR ว่าไงในเรื่องนี้ ?

ผมก็เลยต้องขอเวลาพบ MD แล้วก็เล่าเรื่องเหล่านี้ให้แกฟัง พร้อมทั้งบอก MD ว่าพี่คงต้องเลือกเอาแหละว่าต้องการให้พนักงานมาเข้างานกี่โมง 8.30 หรือ 8.45 น.ก็ได้ผมไม่มีปัญหา

แต่ขอเป็นเวลาเดียวไม่ควรยืดหยุ่นเวลาให้มันเกิดปัญหาแบบนี้

การทำงานเกี่ยวกับคนในเรื่องที่เป็น Common Factor แบบนี้ควรยึดหลักเกณฑ์มากกว่าหลักกู (หรือหลักดุลพินิจ) เพราะคนจะคิดเรื่องของ Me too (กูด้วย) อยู่เสมอ

แถมดุลพินิจของคนแต่ละคนก็แตกต่างกัน

เผลอ ๆ ดุลพินิจของคนเดียวกันยังต่างกันได้ตามอารมณ์และสถานการณ์เลยครับ

เรื่องที่เป็นความสงบเรียบร้อยที่ควรจะต้องปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันในองค์กรเช่นเวลามาทำงานจึงควรจะมีหลักปฏิบัติแบบเดียวกันเพื่อลดปัญหาหลักกูและ Me too

เว้นแต่ถ้าลักษณะงานของหน่วยงานไหนไม่สนใจเรื่องการลงเวลามาทำงาน

เช่น พนักงานขายที่บริษัทสนใจเฉพาะเรื่องยอดขายเป็นหลักและขายให้ได้ตามเป้าที่กำหนดก็ไม่ต้องลงเวลามาทำงานทั้งเข้าและออกเพื่อให้เกิดความสะดวกในการออกไปหาลูกค้า

ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหาครับ ถ้าใครไม่อยากจะลงเวลามาทำงานก็ขอย้ายมาเป็นพนักงานขายและต้องขายให้ได้ตามเป้าตามยอดที่กำหนดด้วยนะครับ บริษัทมีค่าคอมมิชชั่นให้อีกต่างหาก

แต่ถ้าพนักงานขายไม่อยากขายแล้วอยากจะมาทำงาน Back Office ก็ต้องกลับมาลงเวลามาทำงานเหมือนพนักงานคนอื่น ๆ เช่นเดียวกัน

สรุปเรื่องนี้ MD แกก็สั่งให้กลับมาเริ่มงาน 8.30 น.เหมือนเดิม ปัญหาหลักกูและ Me too ก็หมดไป

เคสที่เล่าสู่กันฟังมานี้คงเป็นอุทาหรณ์และข้อคิดเตือนใจที่ดีสำหรับ HR ทุกท่านสำหรับการออกกฎเกณฑ์กติกาที่จะใช้กับผู้คนในองค์กรต่อไปนะครับ