วันพุธที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ทำยังไงไม่ให้คนใหม่เงินเดือนแซงเรา

            ผมเคยเขียนเรื่อง “การขึ้นเงินเดือนประจำปีไม่ใช่ความก้าวหน้า” (ใครอยากจะอ่านเรื่องนี้ก็ไปเสิร์ชคำ ๆ นี้ในกูเกิ้ลนะครับ) เพื่ออยากจะให้คนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนได้เข้าใจธรรมชาติของเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนประจำปีโดยเฉลี่ยของบริษัทต่าง ๆ ว่ามันอยู่ที่ประมาณปีละ 5 เปอร์เซ็นต์มาเกินสิบปีแล้ว

ซึ่งการขึ้นเงินเดือนประจำปีในอัตราประมาณนี้ก็จะทำให้คนเข้ามาใหม่มีเงินเดือนใกล้เคียงหรือสูงกว่าคนเก่าในที่สุด เพราะความเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจภายนอกบริษัทมีมากกว่าการเปลี่ยนแปลงภายในบริษัท

            ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ให้ท่านเห็นว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้

            เมื่อ 1 มกราคม 2560 ที่ผ่านมามีประกาศเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำที่บริษัททั้งหลายจะต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300 เป็น 310 บาท ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คือประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์

          แล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมาบริษัทต่าง ๆ ขึ้นเงินเดือนประจำปีโดยเฉลี่ยกี่เปอร์เซ็นต์ล่ะ ?

            โดยเฉลี่ยก็คือ 5 เปอร์เซ็นต์ก็ใกล้เคียงกันปีนี้หรือปีที่ผ่าน ๆ มาก่อนหน้านี้อย่างที่ผมบอกไปแล้วข้างต้นนั่นแหละครับ !

          ได้ขึ้นเงินเดือน 5 เปอร์เซ็นต์ แต่อัตราเงินเฟ้อในบ้านเราประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับได้ขึ้นเงินเดือนจริง ๆ ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกบริษัทปรับขึ้นมาประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์

          เท่ากับการขึ้นเงินเดือนประจำปีสูงกว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ+ค่าครองชีพแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ !

            นี่ยังไม่รวมความเปลี่ยนแปลงภายนอกบริษัทคือการปรับเงินเดือนภายนอกบริษัทแบบแรง ๆ อย่างเมื่อปี 2555 ที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดที่สูงมากคือ ปรับจาก 215 เป็น 300 บาทคือปรับขึ้นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ สำหรับคนที่จะเข้าทำงานใหม่

ซึ่งการปรับที่รุนแรงขนาดนี้ยิ่งมีผลกระทบต่อคนทำงานประจำ (ที่เป็นคนเก่าทำงานมาก่อน) สูงมาก และเป็นปัญหาในระบบค่าตอบแทนทั้งระบบที่มีผลกระทบกับบริษัทต่าง ๆ เรียกว่าที่ขึ้นเงินเดือนกันมาปีละ 5 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ยแทบไม่มีความหมายสำหรับคนเก่าที่ทำงานมาก่อนเลยเพราะคนใหม่เข้ามาก็ได้เงินเดือนเกินคนเก่าไปแล้ว

ท่านคงเห็นภาพได้ชัดเจนแล้วนะครับว่าทำไมการขึ้นเงินเดือนประจำปีไปเรื่อย ๆ ปีละครั้งแล้วในที่สุดก็จะทำให้คนที่ไม่สามารถจะพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้าได้รับการ Promote หรือได้รับการปรับเงินเดือนเป็นพิเศษเนื่องจากมีผลงานมีความสามารถที่มักจะเรียกกันว่า Talent จึงจะถูกคนเข้ามาใหม่มีเงินเดือนจี้หลังหรือแซงไปในที่สุด

            ถ้าจะถามว่า “แล้วคนเก่าที่ทำงานมาก่อนควรจะแก้ปัญหานี้ยังไง ?”

            ก็ตอบได้ว่าถ้าไม่อยากให้คนใหม่เงินเดือนแซงเราก็ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเองตั้งแต่เดี๋ยวนี้ครับ

1.      ท่องเอาไว้เสมอว่า “ความมั่นคงและเงินเดือนขึ้นอยู่กับตัวของเราเอง”

2.      หันกลับมาทบทวนดูว่าตัวเรามีขีดความสามารถ (Competency) ในเรื่องไหน มีความเก่งความถนัดในเรื่องอะไร เรามีผลงานอะไรที่เป็นจุดขายหรือสามารถต่อยอดในสิ่งเหล่านี้บ้างและฝ่ายบริหารมองเห็นความสามารถหรือคุณค่าต่าง ๆ เหล่านี้ในตัวของเราบ้างหรือไม่

3.      ถ้าฝ่ายบริหารมองเห็นความสามารถในตัวเราก็ควรจะต้องมีแผนในการปรับเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษหรือมีการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งเพื่อให้เราได้มีโอกาสได้แสดงความรู้ความสามารถหรือพัฒนาความรู้ความสามารถของเราให้เพิ่มมากขึ้น

ซึ่งการปรับเงินเดือนเป็นพิเศษ หรือการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งดังกล่าวก็จะตามมาด้วยการปรับเงินเดือนในเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปให้เหมาะสมกับความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้นและรักษาคนเก่ง+ดีเอาไว้ ถ้าบริษัทไหนยังไม่คิดวางแผนที่จะรักษาพนักงานที่เก่ง ๆ ดี ๆ เอาไว้ก็จะต้องเสียคนเก่งเหล่านี้ไปในที่สุดอย่างแน่นอนแหละครับ

4.      ถ้าฝ่ายบริหารมองไม่เห็นความสามารถที่มีอยู่ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตามอย่าไปเสียเวลาคิดวนเวียนซ้ำซากเลยว่าทำไมหัวหน้าหรือฝ่ายบริหารถึงไม่เลื่อนตำแหน่งให้เราหรือเราไม่ดีตรงไหน ฯลฯ ถ้ามั่นใจว่าเราก็เป็นคนมีของ (หมายถึงคนที่มีความรู้ความสามารถมีผลงาน) ก็คงจะต้องมองหาทางเดินใหม่ที่เหมาะตรงกับความสามารถที่เรามีอยู่ไม่ว่าจะเป็นการหางานใหม่ (ถ้ายังอยากจะเป็นลูกจ้าง) หรือไปทำธุรกิจ (ที่ตรงกับความสามารถ) ของตัวเองซึ่งแน่นอนว่าเงินเดือนหรือรายได้ควรจะต้องเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

เรียกว่าถึงเวลาที่เรือเล็กต้องออกจากฝั่งแล้วล่ะครับ !

            นี่แหละครับจะเป็นวิธีแก้ปัญหาให้หลุดจากวงจรเงินเดือนของคนใหม่ไล่แซงคนเก่าที่ผมพูดมาข้างต้นนี้ได้ทั้งหมด

          แต่ถ้าเรายังอยู่ไปเรื่อย ๆ สบาย ๆ ใน Comfort Zone ไม่ขยันไม่พยายามหรือไม่แม้แต่จะเริ่มต้นพัฒนาตัวเองให้ดีมากขึ้นกว่านี้แล้วคงจะโทษใครไม่ได้นอกจากต้องโทษตัวเองที่ทำตัวเป็นกบในหม้อต้มน้ำที่อยู่ในหม้อน้ำ (อยู่ใน Comfort zone ในบริษัท) ตั้งแต่น้ำเย็นจนน้ำเดือดและสุกคาหม้อต้มในที่สุด !

            จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผมพบว่าคนที่มีของจะเป็นคนที่องค์กรอื่น ๆ ต้องการตัวอยู่เสมอ ไม่เคยตกงาน หรือถ้าตกงานก็ไม่นานนักเดี๋ยวก็จะมีคนติดต่อให้ไปร่วมงานพร้อมทั้งเสนอตำแหน่งและเงินเดือนที่จูงใจ

          ที่สำคัญก็คือวันนี้เราได้พัฒนาตัวเองให้เป็นคนมีของอยู่ในตัวที่ทำให้มีคนสนใจและต้องการดึงเราไปร่วมงานบ้างแล้วหรือยังล่ะครับ


………………………………..