เมื่อพูดถึงโครงสร้างเงินเดือนแล้วโดยทั่วไปเราก็มักจะแบ่งออกเป็น 3
แบบใหญ่ ๆ คือ
1.
โครงสร้างเงินเดือนแบบขั้นคือการกำหนดเงินเดือนในแต่ละ
Job
Grade เป็นขั้น ๆ เช่น
ซึ่งโครงสร้างเงินเดือนแบบขั้นตามตัวอย่างข้างต้นนี้มักไม่ค่อยเป็นที่นิยมใช้ในบริษัทเอกชนเพราะการปรับขึ้นเงินเดือนไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือนประจำปีหรือปรับเงินเดือนเมื่อเลื่อนตำแหน่งก็จะต้องเป็นขั้นย่อย
ๆ ลงไปอีก เช่นขึ้นเงินเดือน 1 ขั้นคือ 100 บาท ถ้าได้ 2 ขั้นจะได้ 200 บาท
ตามที่ระบบกำหนดเอาไว้เป็นล็อคแบบตายตัวทำให้ขาดความยืดหยุ่น อย่างในตัวอย่างข้างต้นนี้ความต่างระหว่างขั้นคือ
100 บาท
ไม่สามารถเป็นอย่างอื่นได้นอกจากนี้จึงทำให้ไม่นิยมใช้ในบริษัทเอกชน
2.
โครงสร้างเงินเดือนแบบช่วง (Range Salary) โครงสร้างเงินเดือนแบบนี้จะเป็นที่นิยมใช้กันมากในบริษัทเอกชนทั้งไทยและต่างชาติทั่วไปโดยการประเมินค่างานทุกตำแหน่งงานในบริษัทแล้วจัดเรียงลำดับความสำคัญของงานในตำแหน่งต่าง
ๆ ตามคะแนนที่ได้ จากนั้นก็จัดตำแหน่งต่าง ๆ เข้าสู่กลุ่มงาน (Job Grade) ต่าง ๆ ตามช่วงคะแนนที่กำหนด เสร็จแล้วก็นำเอาตำแหน่งงานในแต่ละ Job
Grade ไปเปรียบเทียบกับตลาดแข่งขันดูว่าตลาดเขาจ่ายกันเท่าไหร่แล้วก็นำผลจากการทำ
Job Matching นี้มาออกแบบโครงสร้างเงินเดือนต่อไป
(ผู้สนใจอยากจะศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้ก็ไปดาวน์โหลดหนังสือ
“การประเมินค่างานและการทำโครงสร้างเงินเดือน (ภาคปฏิบัติ)”
ที่ผมแจกฟรีอยู่ในบล็อกของผมคือ http://tamrongsakk.blogspot.com ได้เลยนะครับ
แต่ให้ใช้คอมพิวเตอร์ดาวน์โหลดนะครับถ้าใช้มือถือจะเห็นหน้าจอไม่เหมือนกันในคอมฯ) ซึ่งลักษณะของโครงสร้างเงินเดือนแบบช่วงจะมีหน้าตาดังนี้ครับ
รูปข้างต้นเป็นรูปตัวอย่างของโครงสร้างเงินเดือนแบบช่วงซึ่งท่านจะเห็นได้ว่ามีทั้งหมด
9 ระดับชั้นหรือ 9 Job Grade
ซึ่งตำแหน่งที่อยู่ในระดับชั้นที่ต่ำกว่าก็จะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของระดับชั้นที่สูงกว่า
ข้อดีคือจะทำให้มี Career Path พนักงานจะรู้สึกว่ามีโอกาสความก้าวหน้ารออยู่
ซึ่งแต่ละ Job Grade ก็จะมีอัตราเงินเดือนเริ่มต้น (Min) และสูงสุด (Max) ควบคุมเอาไว้
3.
โครงสร้างเงินเดือนแบบ Broadband โครงสร้างเงินเดือนแบบนี้จะนิยมใช้ในองค์กรบางแห่งที่ไม่อยากจะมีระดับชั้น (Job Grade) และสายการบังคับบัญชาที่มากจนเกินไปดังนี้
จากรูปตามตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าโครงสร้างเงินเดือนแบบ
Broadband
คือการควบรวมเอาระดับชั้นที่เดิมมีอยู่ 9 Job Grade ให้ลดลงมาเหลือ 3 Job Grade แล้วเรียกแต่ละ Job
Grade ใหม่ว่า “Band” หรือ "Broadband” ซึ่งจะทำให้ระดับชั้นลดลง
การบังคับบัญชาก็จะรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกันเมื่อดูโครงสร้างเงินเดือนของแต่ละ Band แล้วท่านจะเห็นได้ว่าจะมีช่วงห่างระหว่าง
Min ถึง Max ที่เราเรียกกันว่า “Range
Spread” มีเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มสูงมากขึ้นด้วย
ดังนั้นหลักของการทำโครงสร้างเงินเดือนแบบ
Broadband
สรุปแบบง่าย ๆ ก็คือการควบรวม Job Grade ที่มีอยู่มาก
ๆ ในโครงสร้างเงินเดือนแบบ Range Salary มาลดให้เหลือน้อยลงนั่นเองครับ
ข้อดีคือจะมีความสะดวกรวดเร็วในการทำงานในการบังคับบัญชาเพราะโครงสร้างเงินเดือนแบบ Broadband
จะมีความยืดหยุ่นสูงมากคือมี Range Spread เป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงโดยอาจจะสูงได้ถึง
300-400 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละกระบอก
(หรือแต่ละ Band) ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็เปรียบเสมือนโครงสร้างเงินเดือนที่ไม่มีเพดานตันก็ว่าได้
ทำให้ Staff Cost ของบริษัทที่จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ
ในขณะที่พนักงานยังทำงานรับผิดชอบอยู่ใน Job Grade เดิมเป็นเวลาหลาย
ๆ ปี
ข้อควรระมัดระวังของการทำโครงสร้างเงินเดือนแบบ
Broadband
ก็คือองค์กรของท่านคงต้องกลับมาชั่งใจให้ดี ๆ
ว่าแม้โครงสร้างเงินเดือนแบบ Broadband อาจจะทำให้พนักงานแฮ๊ปปี้เพราะเงินเดือนจะตันยากมาก
(เนื่องจาก Range Spread เปอร์เซ็นต์สูงมาก)
แต่พนักงานที่ต้องการความก้าวหน้าต้องการจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นนั้นจะมีโอกาสน้อยเพราะมี
Job Grade น้อยกว่าโครงสร้างเงินเดือนแบบช่วง ทำให้มีตำแหน่งรองรับความก้าวหน้าน้อยลงซึ่งมีผลทำให้
Career Path ของพนักงานมีไม่มากนัก แล้วบริษัทจะจูงใจพนักงานที่ทำงานดีและต้องการความก้าวหน้าเอาไว้ให้อยู่กับบริษัทได้อย่างไร
โดยเฉพาะค่านิยมในเรื่องตำแหน่ง, หัวโขน, นามบัตรของทางซีกโลกตะวันออก
(รวมไทยด้วย) ยังมีอยู่มากเมื่อเปรียบเทียบกับทางฟากฝั่งอเมริกาที่ไม่ได้ยึดถือ Title
หรือติดหัวโขนมากเหมือนกับทางซีกตะวันออก
ถ้าจะถามความเห็นส่วนตัวของผมว่าควรจะเอายังไงดี
ผมยังเห็นว่าโครงสร้างเงินเดือนแบบช่วงยังมีความเหมาะสมกับบ้านเรามากกว่า Broadband เพียงแต่ควรจะต้องมีหลักในการกำหนด Job Grade ให้มีความเหมาะสมกับบริษัทของท่านให้พอดีพอประมาณไม่ควรจะซอยระดับชั้นให้เยอะเยิ่นเย้อหรือมี
Job Grade ที่มากจนเกินไป หรือไปสร้าง Job Grade ขึ้นมาเพียงเพื่อรองรับตัวบุคคลบางคนโดยไม่ได้มองภาพรวม
เพราะผมจะถือหลักเดินสายกลางอะไรที่มากไปก็ไม่ดี
น้อยไปก็ไม่เหมาะก็เท่านั้นแหละครับ
…………………………………………