เมื่อมีการรับพนักงานเข้ามาทำงานใหม่ผมว่าทุกบริษัทจะต้องมีการทดลองงานกันนะครับ
ถ้าช่วงทดลองงานแล้วทำงานดีก็คงไม่มีปัญหาอะไรบริษัทก็จะบรรจุเป็นพนักงานประจำ
แต่ปัญหาก็คือพนักงานที่ทำงานไม่ดีระหว่างการทดลองงานนี่สิครับไม่ว่าจะมีพฤติกรรมที่ไม่ดีในระหว่างการทำลองงาน
เช่น มาสายเป็นประจำ, ลาป่วยบ่อยมาก, มนุษยสัมพันธ์ไม่ดีพูดจาไม่ดีกับเพื่อนร่วมงาน
ฯลฯ หรือจะเป็นเรื่องของการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น
ทำงานผิดพลาดบ่อยบอกก็แล้ว พูดก็แล้ว สอนก็แล้วแต่ก็ยังไม่ดีขึ้น,
ทำงานไม่เสร็จทันตามเวลาทำให้งานเสียหาย ฯลฯ
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านพฤติกรรมหรือด้านการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพที่เราจะมาคุยกันในวันนี้ผมขอสรุปว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากตัวพนักงานทดลองงานจริง
ๆ ไม่ได้เกิดจากหัวหน้าที่มีอคติหรือกลั่นแกล้งให้พนักงานไม่ผ่านทดลองงานนะครับ
จนถึงทุกวันนี้ผมมักจะได้รับคำถามเกี่ยวกับเรื่องการไม่ผ่านทดลองงานไม่ว่าจะมาทางอีเมล์หรือโทรศัพท์ซึ่งก็มักจะเป็นคำถามหรือปัญหาซ้ำ
ๆ กับที่เคยตอบไปแล้วหลาย ๆ ครั้ง
ผมก็เลยขอรวบรวมคำถาม-คำตอบในเรื่องนี้มาไว้ที่เดียวกันเพื่อให้ใครที่มีคำถามเหล่านี้ได้ทราบคำตอบโดยที่ผมจะได้ไม่ต้องตอบซ้ำ
ๆ ดังนี้
ถาม : บริษัทมีวิธีไหนที่จะปฏิบัติกับพนักงานที่ไม่ผ่านการทดลองงานและตัดสินใจว่าจะไม่รับเป็นพนักงานประจำบ้าง
ตอบ : 1. หัวหน้าเชิญพนักงานที่ไม่ผ่านทดลองงานมาแจ้งผลแล้วอธิบายเหตุผลที่ไม่ผ่านทดลองงานอย่างพี่อย่างน้อง
และให้เขาเขียนใบลาออกไปจะได้ไม่เสียประวัติ ส่วนจะให้วันลาออกมีผลเมื่อไหร่ดีก็อยู่ที่คุยกันระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องเพื่อให้จบได้ด้วยดี
จากประสบการณ์ทำงานของผมพนักงานมักจะเขียนใบลาออกครับ
2. หากพนักงานไม่ยอมเขียนใบลาออก
บริษัทก็ควรจะต้องทำหนังสือเลิกจ้างยื่นให้พนักงานพร้อมระบุสาเหตุการเลิกจ้างว่าไม่ผ่านการทดลองงานตาม
KPIs (ถ้ามี) หรือไม่ผ่านทดลองงานยังไงบ้าง
ถาม : กรณีที่บริษัททำหนังสือเลิกจ้างพนักงานที่ไม่ผ่านทดลองงานบริษัทจะต้องจ่ายอะไรบ้าง
ตอบ : 1. จ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน
สำหรับพนักงานทดลองงานที่มีอายุงานนับตั้งแต่วันเข้าทำงานจนถึงวันที่เลิกจ้างตั้งแต่
120 วันขึ้นไปตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน (ไปดูมาตรา
118 ของกฎหมายแรงงานโดยเสิร์ชคำว่า
“กฎหมายแรงงาน” ในกูเกิ้ลเอาเองนะครับเพราะถ้าเขียนทั้งมาตราจะยาวกินเนื้อที่)
ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทปล่อยให้พนักงานทดลองงานคนนั้น ๆ ทำงานมาแล้วนานแค่ไหน
ส่วนมากมากจะเกิดจากการต่อทดลองงานนั่นแหละครับ สรุปง่าย ๆ ว่าถ้าอายุงาน 120
วันยังไม่ครบ 1 ปีบริษัทก็จ่ายค่าชดเชย 1
เดือน แต่ถ้าพนักงานทดลองงานมีอายุงานยังไม่ครบ 120 วันแล้วถูกบริษัทเลิกจ้าง บริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครับ
2. จ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (หรือมักจะเรียกกันว่าค่าตกใจ)
มาตรา 17
ของกฎหมายแรงงาน (ไปเสิร์ชคำว่า “การบอกกล่าวล่วงหน้า..ต้องบอกกล่าวอย่างไรให้ถูกต้อง”
ในกูเกิ้ลนะครับ ผมอธิบายไว้ละเอียดแล้ว) ซึ่งค่าบอกกล่าวล่วงหน้านี้บริษัทจะต้องจ่ายให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทุกกรณีแม้ว่าลูกจ้างจะทำงานน้อยกว่า
120
วันก็ตามซึ่งค่าตกใจอาจจะต้องจ่าย 1-2
เดือน
ขึ้นอยู่กับจังหวะการแจ้งพนักงานว่าก่อนการจ่ายค่าจ้างเมื่อไหร่
ถาม : ถ้าพนักงานที่ไม่ผ่านทดลองงานได้รับค่าชดเชย
และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าไปแล้วจะไปฟ้องศาลแรงงานเพื่อเรียกร้องอะไรเพิ่มอีกได้หรือไม่
ตอบ : ได้ครับ
ข้อหามาตรฐานก็มักจะเป็นถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมถูกผู้บริหารกลั่นแกล้ง ฯลฯ
ประมาณนี้แหละเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมซึ่งก็อยู่ในดุลพินิจของศาลท่านจะว่ายังไงตามข้อเท็จจริง
แต่พนักงานที่จะไปฟ้องก็ต้องคิดให้ดี ๆ ว่าจะยอมเสียเวลากับการขึ้นโรงขึ้นศาลด้วยเรื่องแบบนี้ดีหรือไม่
หรือจะเอาเวลาไปหางานใหม่ ไปทำมาหากินอย่างอื่นดีกว่าจะมาทำแบบนี้จะดีกว่าไหม
ถาม : การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานทดลองงานควรทำเป็นเอกสารแบบฟอร์มหรือไม่ต้องมีแบบฟอร์ม
แค่บอกปากเปล่าว่าเขาทำงานไม่ดียังไงก็พอ
ตอบ : บริษัทควรจะมีมาตรฐานในการทำงานที่ชัดเจน
ควรจะมีแบบฟอร์มประเมินผลการปฏิบัติงานระหว่างการทดลองงานเพื่อให้หัวหน้าประเมินผลงานของลูกน้องได้อย่างเป็นรูปธรรม
ไม่ว่าจะใช้วิธีการประเมินผลงานแบบกำหนดหัวข้อปัจจัยที่เรียกว่าแบบ Rating Scale หรือจะเป็นการประเมินโดยมี KPIs ที่ชัดเจนก็ตาม
ซึ่งบริษัทก็จะได้มีหลักฐานเอกสารให้ศาลหรือแรงงานเขต
(กรณีที่พนักงานไปฟ้องศาลหรือไปร้องเรียนแรงงานเขตพื้นที่)
ได้ดูว่าบริษัทมีผลการประเมินที่เป็นระบบ มีมาตรฐาน
เพราะถ้าไม่มีหลักฐานการประเมินแต่ใช้วิธีดู ๆ แล ๆ การทำงานแล้วพูดด้วยปากเปล่าว่าพนักงานไม่ผ่านทดลองงานแล้วจะเอาอะไรเป็นหลักฐานได้ล่ะ(เจ้าของคำถามนี้เป็นกิจการเถ้าแก่ที่ยังไม่มีระบบอะไรเลยครับ)
ถาม : กรณีที่บริษัทแจ้งว่าพนักงานไม่ผ่านทดลองงาน
บริษัทควรจะใช้วิธี “บอกกล่าวล่วงหน้า” ดีหรือไม่ เช่น บอกเขาวันที่ 31
กค.ว่าไม่ผ่านทดลองงาน แล้วแจ้งเลิกจ้างแต่จะให้มาทำงานไปจนถึง 31 สค.โดยบริษัทก็จ่ายเงินเดือนให้เขาในเดือนสิงหาคม (บริษัทจ่ายเงินเดือนทุกสิ้นเดือน)
ตอบ : ทำได้ครับซึ่งวิธีที่ถามมามักจะเรียกว่า
“การบอกกล่าวล่วงหน้า” คือบอกพนักงานล่วงหน้าว่าบริษัทจะไม่จ้างเธออีกต่อไปแล้วนะ
และให้เธอมาทำงานถึงสิ้นเดือนแล้วบริษัทก็จ่ายเงินเดือนให้ในงวดสุดท้าย
แต่ผมจะถามกลับไปว่า
“จะทำแบบนี้ไปเพื่อ.....?” ลองคิดถึง “ใจเขา-ใจเรา” ดูสิครับ สมมุติหัวหน้ามาบอกว่าเราไม่ผ่านทดลองงาน
จะเลิกจ้างเราแต่จะให้เราทำงานไปอีกประมาณ1 เดือนแล้วจะจ่ายเงินเดือนให้
ถามว่าเราอยากจะมาทำงานให้ครบ 1 เดือนไหม ?
บริษัทบางแห่งก็อยากจะใช้พนักงานให้คุ้มค่าเงินทุกเม็ดโดยไม่ได้นึกถึง
“ใจเขา-ใจเรา” แบบนี้แหละครับ ทำให้พนักงานที่ไม่ผ่านทดลองงานบางคน “เอาคืน”
บริษัทโดยมาทำงานบ้าง ลาป่วย (ไม่จริง) บ้าง มาสายแทบทุกวันบ้าง หรือมา ๆ ขาด ๆ
สร้างความหงุดหงิดรำราญใจให้กับหัวหน้าผู้บริหารที่จะต้องมาคิดแก้ปัญหาด้วยการออกหนังสือตักเตือนพนักงานที่บริษัทเลิกจ้างไปแล้วกันอีก
หรือแย่กว่านั้นพนักงานทดลองงานอาจจะทำให้บริษัทเสียหาย (โดยบริษัทไม่รู้ตัว) เช่น
ลักลอบเอาไฟล์ข้อมูลสำคัญของลูกค้าออกไปขายต่อก็มีให้เห็นมาแล้ว
นี่แหละครับผลของการเสียน้อยเสียยาก..เสียมากเสียง่าย
ผมมักจะแนะนำว่าถ้าพนักงานไม่เขียนใบลาออก
บริษัทก็ควรยื่นหนังสือเลิกจ้างโดยระบุวันที่มีผลเลิกจ้างคือวันรุ่งขึ้นแล้วบริษัทก็จ่ายค่าชดเชย
(ถ้ามี) และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าไปเลยจะดีกว่าจะได้ไม่ต้องมาตามแก้ปัญหาหยุมหยิมให้หงุดหงิดใจทำนองนี้อีกและลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากพนักงานไม่ผ่านทดลองงานที่มีพฤติกรรมไม่ดีเหล่านี้อีกต่างหาก
หวังว่าคำถาม-คำตอบทั้งหมดนี้น่าจะเป็นประโยชน์และทำให้ท่านมีไอเดียในการจัดการเรื่องเหล่านี้ให้เหมาะสมกับบริษัทของท่านนะครับ
………………………………………