ผมเพิ่งจะเขียนเรื่องของสารพันปัญหาไม่ผ่านทดลองงาน (ถาม-ตอบ) ไปแล้ว ซึ่งก็จะเป็นการตอบคำถามในกรณีที่พนักงานทดลองงานผลงานไม่ดี
ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจของบริษัทและบริษัทก็ไม่อยากจะรับบรรจุเป็นพนักงานประจำ
แต่แล้วก็มีคำถามเพิ่มเติมเข้ามาอีกว่า
“ถ้าบริษัทประเมินผลการทำงานของพนักงานทดลองงานแล้วแต่ยังไม่แน่ใจก็เลยอยากจะขอต่อทดลองงานออกไป
บริษัทควรจะต่อทดลองงานสักกี่เดือนดีถึงจะถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน ควรจะต้องทำสัญญาให้พนักงานทดลองงานยินยอมเรื่องต่อทดลองงานหรือไม่เพราะเขาว่ากันว่าต้องให้พนักงานเซ็นยินยอมต่อทดลองงานด้วย
และในสัญญาต่อทดลองงานนั้นจะระบุว่าถ้าพนักงานไม่ผ่านทดลองงานบริษัทสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่”
ผมก็เลยขอนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้เข้าใจตรงกันเกี่ยวกับคำถามข้างต้นอย่างนี้ครับ
1.
ในกฎหมายแรงงานไม่มีการระบุเอาไว้ว่าจะต้องมีการทดลองงาน
แถมไม่ได้บอกด้วยว่าจะต้องทดลองงานนานกี่วันกี่เดือนกี่ปี
ดังนั้นการทดลองงานและการต่อทดลองงานจึงเป็นเรื่องที่แต่บริษัทมากำหนดกันเอาเองและทำต่อ
ๆ ตาม ๆ กันมาจนถึงปัจจุบันนี้
2.
ถ้าจะถามว่าทำไมถึงต้องทดลองงานไม่ให้เกิน
120
วัน
ก็ตอบได้ว่าเพราะถ้าพนักงานมีผลการปฏิบัติงานไม่ดีหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมไม่ผ่านทดลองงาน
แล้วพนักงานไม่ยอมเขียนใบลาออก บริษัทก็ต้องแจ้งเลิกจ้าง
ถ้าพนักงานทำงานมาแล้วตั้งแต่ 120 วันแต่ยังไม่เกิน 1 ปี (นับตั้งแต่วันเข้าทำงานจนถึงวันเลิกจ้าง) บริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชย 1
เดือน แต่ถ้าพนักงานทดลองงานอายุงานยังไม่ถึง 120 วัน แล้วบริษัทแจ้งเลิกจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นี่จึงเป็นเหตุให้มักจะกำหนดเอาไว้ว่าต้องทดลองงานไม่ให้เกิน 120 วันไงครับ
3.
ดังนั้นถ้าบริษัทจะต่อทดลองงานก็ทำได้แต่ก็ต้องรู้ว่าหากพนักงานทดลองงานมีอายุงานตั้งแต่
120
วันขึ้นไป และพนักงานยังไม่ผ่านการทดลองงานอีกเหมือนเดิมถ้าบริษัทจะเลิกจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานที่ผมบอกไว้ในข้อ
2
4.
มีเรื่องที่ผมอยากจะให้ข้อคิดเอาไว้ในเรื่องการต่อทดลองงานก็คือ
หลายบริษัทที่ผมเจอมานั้นไม่มีระเบียบหรือหลักเกณฑ์ในการต่อทดลองงานให้ชัดเจน
พูดง่าย ๆ คือให้อยู่ใน “ดุลพินิจ” ของหัวหน้างานแต่ละหน่วยงาน
ซึ่งจะทำให้เกิดการลักลั่นในการปฏิบัติของแต่ละหน่วยงาน (แต่ละหัวหน้างาน)
ที่แตกต่างกัน เพราะดุลพินิจ (หรือหลักกู) ไม่เหมือนกัน บางหน่วยงานต่อทดลองงาน 1 เดือน
บางหน่วยงานก็ต่อทดลองงาน 2 เดือน
ซึ่งผมแนะนำว่าบริษัทควรกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีปฏิบัติในเรื่องการต่อทดลองงานให้เป็นเกณฑ์เดียวกันว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้างในการต่อทดลองงาน
และจะต้องแจ้งให้ทุกหน่วยงานทราบ (รวมถึงควรมีการปฐมนิเทศให้พนักงานใหม่ทราบหลักเกณฑ์นี้ด้วย)
และทุกหน่วยงานควรจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการต่อทดลองงานเพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นสับสน
หรือการใช้ดุลพินิจที่หลายครั้งก็ใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุและผลที่ชัดเจนซึ่งผมเคยแชร์ไปแล้วว่าหากใช้ดุลพินิจหรือ
“หลักกู” ในการบริหารงานบุคคลโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนก็มักจะมีปัญหากับผู้คนในองค์กรอยู่เสมอ
5.
แต่จากประสบการณ์ทำงานของผมนั้นระยะเวลาประมาณ
120
วันนั้นถือว่ามากเกินพอสำหรับหัวหน้างานที่จะตัดสินใจว่าควรจะรับพนักงานทดลองงานคนนั้น
ๆ มาเป็นพนักงานประจำหรือไม่ ซึ่งควรจะตัดสินใจได้ก่อนจะครบ 120 วันนะครับ
6.
ถามว่าบริษัทจำเป็นจะต้องทำสัญญาต่อทดลองงานหรือไม่
คำตอบคือจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้อยู่ที่เงื่อนไขของการทดลองงานและต่อทดลองงานของบริษัทที่ควรกำหนดให้ชัดเจนตามที่ผมอธิบายไว้ในข้อ
3 นั่นแหละครับ
แล้วที่บอกว่า “เขาว่า” พนักงานต้องเซ็นยินยอมในสัญญาต่อทดลองงานด้วยน่ะ
ผมอยากเห็นตัว “เขา” จริง ๆ เลยว่า “เขา” คนนั้นคือใครกันน้อ 555
7.
ถ้าทำสัญญาต่อทดลองงาน (ซึ่งผมบอกแล้วว่าไม่ต้องทำก็ได้เพราะทำไปก็ไม่มีผลอะไร)
แล้วระบุในสัญญานี้ว่า “ถ้าต่อทดลองงานแล้วพนักงานยังไม่ผ่านทดลองงาน
บริษัทจะไม่จ่ายค่าชดเชยและไม่จ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า....” แล้วให้พนักงานเซ็นชื่อในสัญญานี้เอาไว้
เมื่อครบกำหนดต่อทดลองงานแล้วพนักงานคนนี้ไม่ผ่านทดลองงานอีกบริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามสัญญาได้หรือไม่
คำตอบคือ “สัญญาน่ะทำได้
แต่สัญญาใดก็ตามที่ขัดต่อกฎหมายแรงงานเมื่อไหร่สัญญานั้นก็เป็นโมฆะแหละครับ”
ซึ่งสัญญาที่มีข้อความทำนองที่ผมบอกไปข้างต้นมันแสดงเจตนาที่ขัดกฎหมายแรงงานชัดเจนอยู่แล้ว
เพราะเมื่อนายจ้างแจ้งเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากไม่ผ่านทดลองงานแล้วลูกจ้างมีอายุงานตั้งแต่
120 วันขึ้นไปนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายแรงงานตามมาตรา 118 และ 17 แหง ๆ
ถ้านายจ้างไม่จ่ายแล้วอ้างสัญญาแล้วลูกจ้างไปฟ้องศาลแรงงานก็ชัวร์ว่านายจ้างแพ้คดีร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะสัญญาแบบนี้ขัดกฎหมายแรงงานครับ
หวังว่าท่านที่กำลังมีประเด็นค้างคาใจในเรื่องการต่อทดลองงานคงจะเข้าใจชัดเจนและปฏิบัติได้ถูกต้องแล้วนะครับ.
……………………………………….