วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

น้องใหม่ไม่ผ่านทดลองงานหัวหน้าจะจัดการยังไงดี ?

           เมื่อบริษัทรับผู้สมัครเข้ามาเป็นพนักงานก็ต้องมีการทดลองงานกันซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะมีระยะเวลาไม่เกิน 120 วัน 

           ระหว่างทดลองงานบริษัทก็ต้องดูว่าน้องใหม่ที่ทดลองงานมีพฤติกรรมการทำงานเป็นยังไงบ้าง สามารถเรียนรู้งานได้ดีไหม มีความรับผิดชอบงานเป็นยังไง ฯลฯ 

         ถ้าบริษัทไหนมีแผนการสอนงานน้องใหม่ที่ดีอยู่แล้วก็จะพบว่ามีการประเมินผลการทำงานและวัดผลน้องใหม่ได้อย่างเป็นระบบเป็นรูปธรรมเมื่อแจ้งผลกับน้องใหม่ก็มักจะไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากมายนักเพราะมี Document Support มีเหตุผลรองรับที่ชัดเจน

          ส่วนบริษัทที่ไม่มีแผนการสอนงานน้องใหม่ แถมเอางานที่คั่งค้างสะสมไว้จากคนเก่าที่ลาออกไปมาโปะใส่น้องใหม่ แล้วก็มีคนที่ถูกอุปโลกน์ว่าเป็นพี่เลี้ยงหรือผู้สอนงานมาชี้ ๆ สั่ง ๆ บอก ๆ ด้วยเสียงดุ ๆ ปนด่าให้น้องใหม่เคลียร์งานที่คั่งค้างตามสั่งแล้วคิดว่าเป็นการสอนงานก็มีหวังเจอดราม่าสารพัดจากการทำงานแบบมวยวัดแบบนี้

           ผมขอข้ามเรื่องการสอนงานแบบมวยวัดไปก็แล้วกันนะครับเพราะเคยพูดเอาไว้หลายครั้งแล้ว

           ขอข้ามตัดตอนมาถึงตอนที่สมมุติว่าน้องใหม่ไม่ผ่านทดลองงานเลยก็แล้วกัน

          เมื่อพนักงานไม่ผ่านทดลองงานก็ต้องเป็นหน้าที่ของหัวหน้าที่จะต้องเชิญน้องใหม่มาแจ้งผลว่าไม่ผ่านทดลองงานและก็ต้องพูดให้จบกันด้วยดี

           เช่น หัวหน้าเรียกพนักงานทดลองงานมาแจ้งวันที่ 31 กค.ซึ่งเป็นวันจ่ายเงินเดือนว่าไม่ผ่านทดลองงาน และบริษัทจะเลิกจ้างโดยจะให้มาทำงานไปจนถึง 31 สค.แล้วบริษัทจะจ่ายเงินเดือนให้จนถึงวันสุดท้ายที่มาทำงาน

           วิธีนี้จะเรียกว่า “การบอกกล่าวล่วงหน้า” คือบอกพนักงานล่วงหน้า 1 รอบการจ่ายค่าจ้างว่าบริษัทจะไม่จ้างเธออีกต่อไปแล้วนะ และให้เธอมาทำงานถึงสิ้นเดือนแล้วบริษัทก็จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายให้

             ตรงนี้แหละที่ผมอยากจะให้ข้อคิดอย่างนี้

            ลองคิดถึง “ใจเขา-ใจเรา” ดูครับ สมมุติหัวหน้ามาบอกว่าเราไม่ผ่านทดลองงาน บริษัทจะเลิกจ้างเราแต่จะให้เราทำงานไปอีกประมาณ 1 เดือน แม้บริษัทจะจ่ายเงินเดือนให้ ถามว่าเรายังอยากจะมาทำงานให้ครบ 1 เดือนไหม ?    

             ก็อาจจะทำให้พนักงานที่ไม่ผ่านทดลองงานบางคน(ที่ถูกโปะงาน ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม และถูกแจ้งผลแบบมวยวัดเหมือนที่ผมบอกมาข้างต้น) “เอาคืน” โดยมักจะลาป่วย (ไม่จริง) บ้าง มาสายบ้าง หรือมา ๆ ขาด ๆ สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจให้กับหัวหน้าผู้บริหารที่จะต้องมาคิดแก้ปัญหาด้วยการออกหนังสือตักเตือนพนักงานที่บริษัทเลิกจ้างไปแล้วกันอีก

                หรือแย่กว่านั้นอาจจะทำให้บริษัทเสียหาย (โดยบริษัทไม่รู้ตัว) เช่น ลักลอบเอาไฟล์ข้อมูลสำคัญของลูกค้าออกไป หรือสร้างความเสียหายอื่น ๆ กับบริษัทก็มีให้เห็นมาแล้ว นี่แหละครับผลของการเสียน้อยเสียยาก..เสียมากเสียง่าย

                 แต่สำหรับหน่วยงานที่มีระบบแผนการสอนงานที่มีมาตรฐาน เป็นมืออาชีพ มีหัวหน้าที่เอาใจใส่ติดตามผลการทำงานของน้องใหม่อย่างสม่ำเสมอ มีการ Feedback พูดคุยกับน้องใหม่เป็นระยะแบบตรงไปตรงมาและให้โอกาสน้องใหม่ในการปรับปรุงตัวเองแล้ว แต่ในที่สุดน้องใหม่ก็ยังไม่ผ่านทดลองงาน

              เวลาแจ้งผลก็มักจะลงเอยด้วยดีและลูกน้องก็สมัครใจเขียนใบลาออกเองเพราะยอมรับว่าตัวเองทำงานไม่ได้ตามที่ได้รับการสอนงานมา หรือยอมรับว่าตัวเองมีพฤติกรรมการทำงานที่ไม่เหมาะสมจริง ๆ 

            ส่วนบริษัทที่มีหัวหน้าที่ทำงานแบบมวยวัด ไม่เคยมีแผนการสอนงานน้องใหม่อย่างที่ผลเล่ามาข้างต้นไม่เคยพูดคุย Feedback น้องใหม่อะไรทั้งนั้นแต่ชอบเรียกมาด่าและบอกในวันที่ 119 ว่าให้เขียนใบลาออกไปซะ แล้วลูกน้องไม่ยอมรับแถมไม่ยอมเขียนใบลาออกอีกต่างหาก

              ตรงนี้ก็คงต้องไปคิดกับเอาเองแล้วล่ะครับว่าบริษัทควรใช้วิธีไหนดีกว่ากัน ระหว่างการจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าแบบเจ็บแต่จบที่มักเรียกว่าจ่ายค่าตกใจ (กรณีทดลองงานตั้งแต่ 120 วันขึ้นไป)

             หรือจะใช้วิธีบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวดการจ่ายค่าจ้างแล้วให้พนักงานทดลองงานทำงานต่อไปอีกประมาณ 1 เดือนพร้อมกับลุ้นว่าจะมีปัญหาอะไรตามมาภายหลังอีกหรือไม่

             ถ้าหัวหน้ามีแผนการสอนงานที่ดี มีเป้าหมายในการวัดผลงานระหว่างทดลองงานที่ชัดเจน มีการ Follow up & Feedback ที่ดีจากหัวหน้าแล้วลูกน้องไม่ผ่านทดลองงาน ก็มักจะจบลงด้วยดีด้วยการลาออกมากกว่าการเลิกจ้างครับ

………………………