วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2567

วิทยากรไม่ควรเป็น “ผู้สอน” แต่ควรเป็น “นักเล่าเรื่อง” ที่ดี

           การเป็นวิทยากรที่จะประสบความสำเร็จได้ในความเห็นของผมไม่ใช่การเป็น “ผู้บรรยายที่ดี” หรือ “สอนได้ดีนะครับ”

            แต่วิทยากรที่ประสบความสำเร็จควรเป็น “นักเล่าเรื่อง” ที่ทำให้เรื่องที่เล่ามาน่าสนใจครับ

            คือต้องมีความสามารถในการเล่าเรื่องให้คนฟังสนใจติดตามได้ตลอดการสอนโดยไม่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่ากำลังฟังการสอน หรือฟังการบรรยาย

แต่ผู้ฟังจะรู้สึกเหมือนกับมีเพื่อนที่เราไว้วางใจกำลังเล่าเรื่องที่น่าสนใจ หรือเราอาจจะไม่สนใจในตอนแรกแต่พอฟังเรื่องที่เล่าไปแล้วก็เกิดความสนใจอยากติดตามต่อไปเรื่อย ๆ ครับ

เพราะอะไรผมถึงคิดอย่างนี้

            เพราะวิทยากรจะต้องให้ความรู้กับ “คนทำงาน” ไม่ใช่ “นักเรียน” น่ะสิครับ

            “คนทำงาน” คือคนที่อยู่ในวัยทำงาน มีความรู้และประสบการณ์ในงานรวมถึงมีการใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ที่จะต้องมีภาระความรับผิดชอบ ความรู้สึกนึกคิด ฯลฯ แบบผู้ใหญ่

            จะแตกต่างจากคนวัย “นักเรียน” หรือ “นักศึกษา” ที่เรียนหนังสือเป็นหลัก ยังไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากนัก ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงานหรือถ้ามีก็น้อยมาก

            ดังนั้นถ้าวิทยากรใช้วิธีการสอนหรือบรรยายตามเนื้อหาเป็นหลักตั้งแต่เช้ายันเย็นเหมือนกับการสอนนักเรียนนักศึกษาแล้ว ก็จะทำให้ผู้ฟังเบื่อหน่าย หรืองีบหลับ หรือนั่งเล่นโซเชียลเล่นเกมในโทรศัพท์เสียเป็นส่วนใหญ่

            ดังนั้น การเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับคนวัยทำงานจึงควรจะหาเรื่องราวที่น่าสนใจทั้งจากเรื่องที่ตรงกับเนื้อหาโดยตรง และบวกด้วยประสบการณ์ที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่สอนมาเล่าให้ผู้เข้าอบรมได้มีความรู้ใหม่ ๆ หรือเล่าเรื่องเพื่อเปิดมุมมองความคิดใหม่ ๆ

ซึ่งอาจจะใช้วิธีการถาม-ตอบ, การใช้สื่อวิดีโอ, การยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากประสบการณ์ของวิทยากรหรือผู้เข้าอบรม, การทำกิจกรรมกลุ่ม ฯลฯ ประกอบการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจเหล่านี้ให้ผู้เข้าอบรมฟังอย่างเหมาะเจาะ ไหลลื่น และต่อเนื่อง

            จะทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจและจะดีกว่าการสอนแบบบรรยายไปเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน

             จึงอยากจะสรุปว่าวิทยากรที่ดีควรจะเป็นนักเล่าเรื่องมากกว่าการเป็นผู้สอนแบบบรรยายไปเรื่อย ๆ ตามเนื้อหาครับ

...........................