วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2567

จะทำยังไงดีถ้าบริษัทไม่มีระเบียบเกษียณอายุ

             ผมได้รับคำถามว่า “บริษัทไม่มีระเบียบเกษียณอายุผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่?”

            ก็ตอบไปตรง ๆ ว่า “ไม่ผิดครับ”

            เลยมีคำถามต่อมาว่า “อ้าว..บริษัทของคนถามไม่มีระเบียบเกษียณอายุแล้วจะทำยังไงดี?”

          ตามมาตรา 118/1 ของกฎหมายแรงงานบอกไว้ว่ากรณีที่ไม่ได้มีกำหนดเกษียณอายุหรือบริษัทไหนที่มีกำหนดอายุเกษียณของลูกจ้างเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป ก็ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แสดงเจตนาเกษียณอายุต่อนายจ้างได้ และนายจ้างก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (ตามมาตรา 118) ให้ด้วย

โดยถือว่าการเกษียณอายุคือการเลิกจ้างครับ

ผมก็เลยขอนำเอาตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนาเกษียณอายุในกรณีที่บริษัทไม่มีระเบียบการเกษียณอายุมาให้ดูเป็นตัวอย่างเพื่อนำไปปรับใช้กันตามนี้ครับ


ถามว่า “แล้วถ้าบริษัทไม่จ่ายค่าชดเชยเมื่อเกษียณได้หรือไม่ โดยบริษัทจะต่อเกษียณไปอีกคราวละ 1 ปี เมื่อไหร่บริษัทไม่ต่อเกษียณแล้วจึงจะจ่ายค่าชดเชยครั้งเดียวไปเลย”

คำตอบคือ “ไม่ได้ครับ”

บริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเกษียณอายุในครั้งแรกเสียก่อน และเมื่อต่อเกษียณออกไปก็ต้องเริ่มนับอายุงานกันใหม่นับแต่วันที่ต่อเกษียณ และเมื่อบริษัทจะไม่ต่อเกษียณบริษัทก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยรอบสองตามอายุงานในครั้งที่สองนี้อีกด้วยครับ

ปะเหมาะเคราะห์ร้ายถ้าเกิดลูกจ้างไปยอมตามเงื่อนไขข้างต้นแล้วบังเอิญประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยถึงถึงแก่กรรมไปล่ะก็ บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ นะครับ เพราะการเสียชีวิตของลูกจ้างไม่ใช่การเลิกจ้าง

ครอบครัวของลูกจ้างก็จะไม่ได้อะไรเลย อาจจะได้เพียงพวงหรีดหรือค่าทำศพจากบริษัทเท่านั้นแหละ

แล้วถ้าบริษัทไม่จ่ายค่าชดเชยล่ะ ทำไงดี?

ตอบได้ว่าเรื่องนี้ก็ต้องไปถึงศาลแรงงานแหละครับ

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องวัดจริยธรรมของผู้บริหารแต่ละองค์กรว่ามีมากหรือน้อยแค่ไหนครับ

 

..................................