วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ความเข้าใจในเทคนิคการออกแบบโครงสร้างเงินเดือนเป็นเรื่องสำคัญ

           วันนี้ผมมีข้อคิดเตือนใจสำหรับคนที่ทำงานด้าน Com & Ben มาเล่าสู่กันฟังเป็นอุทาหรณ์และกลับมาทบทวนโครงสร้างเงินเดือนของเราดูครับ

ผมได้รับอีเมล์มาถามเรื่องเกี่ยวกับการปรับเงินเดือนแล้วบอกว่าโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทกระบอกแรกมี min=15,000 max=19,000 และ กระบอกที่สองมีmin=19,000 max=23,000

ถามว่าโครงสร้างเงินเดือนนี้เป็นยังไง ?

ผมก็เลยตอบไปว่าโครงสร้างเงินเดือนลักษณะนี้จะดูแปลก ๆ ในสายตาของผม

เพราะถ้าออกแบบโครงสร้างเงินเดือนแบบนี้ผมก็มีข้อสังเกตคือ

1.      ค่า Range spread ของทั้งสองกระบอกจะอยู่ที่กระบอกละ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าต่ำมาก หากออกแบบโครงสร้างแบบนี้จะทำให้เงินเดือนพนักงานตันเร็วเกินไปและไม่น่าจะเหมาะกับบริษัทแบบไทย ๆ

2.      ถ้าออกแบบโครงสร้างเงินเดือนให้มีค่า Range Spread ที่ต่ำจนเกินไปก็แสดงว่าองค์กรไม่อยากจะเลี้ยงคนไว้ใน Job Grade นั้นนาน และต้องการจะ Drive ให้พนักงานใน Job Grade นั้นเร่งทำผลงาน/พัฒนาตัวเองให้ Promote ขึ้นไปใน Job Grade ถัดไปเร็ว ๆ เช่นตามตัวอย่างนี้ min=15,000 max=19,000 Midpoint=17,000 Range Spread=27%

ถ้าบริษัทรับพนักงานเข้ามาที่ Min แล้วได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ยปีละ 5% ประมาณ 5 ปีพนักงานคนนี้ก็จะเงินเดือนตัน แต่ในความเป็นจริงบริษัทก็ไม่ได้รับพนักงานทุกคนเข้ามาที่ min

ดังนั้นถ้าพนักงานส่วนใหญ่เงินเดือนอยู่แถว ๆ Midpoint ก็แปลว่าถ้าได้ขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ยปีละ 5% อีกประมาณ 2 ปีพนักงานไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปใน Job Grade ต่อไปได้ เงินเดือนก็จะตัน

ซึ่งผมมักจะเจอปัญหาในการออกแบบโครงสร้างเงินเดือนที่กำหนดค่า Range Spread ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแบบนี้หลายแห่งมาก ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจความหมายของค่าต่าง ๆ เช่นค่าของ Range Spread, Midpoint Progress, Compa Ratio แล้วก็ออกแบบไปโดยไม่ได้ดูบริบทหรือนโยบายของบริษัท ก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาจากการใช้โครงสร้างเงินเดือนอีกหลายเรื่อง

ทำให้โครงสร้างเงินเดือนถูกมองเป็นผู้ร้ายได้บ่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องของ Human Error ของคนออกแบบที่ไม่เข้าใจเทคนิคและขาดประสบการณ์ในการนำมาประยุกต์ใช้จริงครับ

3.      การออกแบบให้มี min ของกระบอกที่สอง (ในกรณีนี้คือ 19,000) เท่ากับ max ของกระบอกแรกใน Job Grade ถัดไปก็เท่ากับบริษัทนี้ทำโครงสร้างเงินเดือนแบบไม่มี Overlap ซึ่งผมก็ไม่ค่อยพบบริษัทที่ออกแบบในลักษณะนี้มากนัก เพราะจะทำให้บริษัทมีต้นทุนในการปรับเงินเดือนเมื่อ Promote พนักงานสูงในกรณีที่ต้องการ Promote พวก Talent แบบ Fast Track

และถ้าผู้บริหารไม่อนุมัติเปอร์เซ็นต์การปรับ Talent เพราะเห็นว่ามากเกินไป ก็จะทำให้พนักงานที่เป็น Talent ลาออกเพราะเสียความรู้สึกคือกว่าจะ Promote ได้ต้องเงินเดือนใกล้ตันเสียก่อน เรียกว่ามีปัญหาตามมาให้แก้กันอีกหลายเรื่องแหละครับ

บริษัทส่วนใหญ่จึงมักจะออกแบบให้มี Overlap เพื่อไม่ให้บริษัทต้องมีต้นทุนในการปรับเงินเดือนที่สูงจนเกินไป

ตรงนี้ผู้ถามก็คงต้องกลับไปคุยเรื่องนโยบายในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนและ Career Path ของบริษัทกับ CEO แหละครับว่าจะเอายังไง เพื่อจะได้ออกแบบโครงสร้างเงินเดือนให้สอดคล้องกับนโยบายและ Career Path ขององค์กรและใช้ได้จริงต่อไป

เล่ามาถึงตรงนี้ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ต้องดูแลเรื่องค่าจ้างเงินเดือนนะครับ