ผมไปเห็นกระทู้หนึ่งในเว็บไซด์ดังแห่งหนึ่งมีคนตั้งกระทู้เอาไว้แบบนี้ ซึ่งก็เขียนสอบถามมาทำนองว่า HR แจ้งสาเหตุที่ไม่ปรับเงินเดือนเพราะฐานเงินเดือนของผู้ตั้งกระทู้สูงกว่าตำแหน่งงาน ก็เลยไม่ปรับขึ้นเงินเดือนให้ ในขณะที่เพื่อน ๆ ได้รับการปรับเงินเดือน ฯลฯ
เรื่องก็เลยเป็นไปตามสัจธรรมที่ว่า
“เงินเดือนเราได้เท่าไหร่ ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่”
เงินเดือนของเรามากเท่าไหร่ก็ไม่พอใจตราบใดที่เพื่อนได้มากกว่า
จริงไหมครับ
แล้วก็ต่อไปด้วยข้อความเชิงน้อยอกน้อยใจว่าบริษัทไม่เคยดูเลยว่าเจ้าตัวทำงานปริมาณและรับผิดชอบมากแค่ไหน
ทำอย่างงี้มันเลือกปฏิบัติชัด ๆ ทำงานเหนื่อยแทบตายสุดท้ายก็ไม่ได้ปรับเงินเดือน
อ่านกระทู้นี้แล้วก็เลยนำมาเล่าสู่กันฟังและขออธิบายเพิ่มเติมอย่างนี้ครับ
1.
กฎหมายแรงงานไม่มีมาตราไหนกำหนดให้นายจ้างจะต้องปรับขึ้นเงินเดือนให้ลูกจ้าง
หรือกำหนดให้นายจ้างจ่ายโบนัสให้กับลูกจ้าง
2. ดังนั้นการปรับขึ้นเงินเดือนและการจ่ายโบนัสจึงเป็น “สิทธิของนายจ้าง” ที่จะปรับขึ้นให้ก็ได้หรือไม่ให้ก็ได้ ตราบใดที่นายจ้างไม่ได้มีข้อตกลงที่เป็นสภาพการจ้างโดยสัญญาว่าจะปรับเงินเดือนให้ทุกปี หรือจะจ่ายโบนัสให้ทุกปี ก็ยังเป็นสิทธิของนายจ้างที่จะเขียนระเบียบหรือกำหนดเงื่อนไขการปรับขึ้นเงินเดือนและการจ่ายโบนัสได้ตามที่บริษัทเห็นสมควร
3.
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วบริษัทจะพิจารณาขึ้นเงินเดือนให้ใครมากหรือน้อยหรือไม่ให้เลยก็ย่อมได้
รวมไปถึงการจ่ายโบนัสว่าบริษัทจะจ่ายมากน้อยแค่ไหนหรือไม่จ่ายโบนัสเลยก็ได้ครับ
4.
เล่ามาถึงตรงนี้คงจะเข้าใจตรงกันแล้วนะครับว่าเรื่องที่เจ้าของกระทู้ถามมาว่าจะไปฟ้องศาลแรงงานว่าบริษัทไม่ปรับขึ้นเงินเดือนก็ไม่ได้
เพราะบริษัทไม่ได้ทำผิดกฎหมายแรงงานครับ
5.
ผมเคยเขียนสมการหนึ่งเอาไว้คือ
เงินเดือน = P
(Performance)+C (Competency) (ไป Search P+C ในบล็อกของผม
https://tamrongsakk.blogspot.com
อ่านรายละเอียดดูนะครับ)
หมายถึงพนักงานคนใดที่ได้รับเงินเดือน
(หรือค่าตอบแทน) ในปัจจุบันเท่าไหร่ ก็แปลว่าบริษัทเห็นว่าพนักงานคนนั้นมี “คุณค่า”
(Value)
อยู่เท่านั้น (P+C=คุณค่าในตัวคน ๆ นั้น)
ถ้าผู้ตั้งกระทู้มั่นใจว่าตัวเองมีคุณค่า
(P+C)
มากกว่ากว่านี้ แต่บริษัทปัจจุบันยังไม่เห็นคุณค่าในตัวเราเท่ากับที่เราเห็นคุณค่าในตัวเอง
ก็ควรจะต้องหาโอกาสพิสูจน์โดยไปโชว์คุณค่า (P+C) ในตัวเองให้กับบริษัทอื่นได้เห็น
หรือร้องเพลง “เรือเล็กควรออกจากฝั่ง”
ของพี่ตูนแล้วล่ะครับ
และถ้าเรามีของมีคุณค่าในตัวเองเพียงพอที่จะฉายแววให้บริษัทใหม่เห็น
เราก็จะได้รับเงินเดือน (และค่าตอบแทนอื่น) ตามความคาดหวังที่อยากจะได้จริงไหมครับ
แถมถ้าบริษัทเดิมหาคนมาทำงานแทนเราแล้วทำงานได้ไม่ดีเท่าที่เราเคยทำเอาไว้
เขาก็จะคิดเสียดายที่ละเลยไม่ปรับเงินเดือนให้เราจนทำให้เราต้องไปเติบโตที่อื่นอีกต่างหาก
จึงสรุปเรื่องนี้ได้แบบนี้ครับ
หนึ่ง : การปรับขึ้นเงินเดือนและการจ่ายโบนัสเป็นสิทธิของบริษัท
บริษัทจะปรับขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสให้มากหรือน้อยแค่ไหน
หรือจะไม่ปรับขึ้นเงินเดือนและจ่ายโบนัสให้ก็ไม่ผิดกฎหมายแรงงาน
(ตราบใดที่บริษัทไม่ได้ทำเรื่องนี้ให้กลายเป็นสภาพการจ้าง)
สอง : การบ่น
ด่า ต่อว่า หัวหน้า/ฝ่ายบริหารไม่ได้ทำให้เขามาปรับเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสให้เราเพิ่มขึ้นหรอก
เอาเวลาเหล่านี้มาคิดวางแผนชีวิต วางแผน Career Path ให้กับตัวเอง
และพัฒนาตัวเองให้มีคุณค่ามากขึ้นจะดีกว่า
ชีวิตลิขิตเอง อยากได้อะไรที่ดีขึ้นกว่าเดิมก็ต้องเริ่มต้นคิดวางแผนและลงมือทำ
เป็นกำลังใจให้ครับ