วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565

หัวหน้างานกับ EQ

             EQ (Emotional Quotient) แปลง่าย ๆ คือการควบคุมอารมณ์

            เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ที่เราจำเป็นจะต้องคุยกันในเรื่องของการเป็นหัวหน้างานหรือการเป็นผู้นำคน เพราะเรามักจะพบเจอหัวหน้างานที่เก่งงาน มีความรอบรู้เข้าใจงาน มีฝีมือ มีความสามารถสารพัด

          แต่มีปัญหาในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ซะงั้น !!

            หัวหน้างานที่มีปัญหาด้าน EQ ที่ไม่ดีก็จะทำให้ลูกน้องเอือมระอา ไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะไม่รู้ว่าวันนี้พี่เขาจะมาอารมณ์ไหน จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าร้องฟ้าผ่าลงมาที่เราหรือเปล่า

            หรือตอนพี่เขาอารมณ์ดีก็ดีใจหาย บทจะอารมณ์ร้ายของขึ้นก็เหมือนกับมารเข้าสิง เลยดูเหมือนกึ่งเทพกึ่งมารดูไบโพล่าร์ยังไงก็ไม่รู้

            ลูกน้องก็จะทำงานกับหัวหน้าด้วยความรู้สึกเหมือนดูหนังสยองขวัญสั่นประสาทอยู่ทุกวันนั่นแหละครับ เพราะไม่รู้ว่าวันไหน เวลาไหนจะมีอะไรโผล่ออกมาทำให้เราตกใจประสาทเสียบ้าง ต้องหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา

            แล้วถ้าอย่างงั้นหัวหน้างานที่มี EQ ที่ดีควรเป็นยังไงล่ะ ?

            เป็นแบบนี้ดีไหมครับ

1.      เข้าใจอารมณ์ของตัวเองและคนอื่นอยู่เสมอ ถ้ามีสติรับรู้เข้าใจอารมณ์ของตัวเองและคนอื่นอยู่ตลอดแล้ว ก็จะสามารถโต้ตอบหรือแสดงพฤติกรรมคำพูดคำจาออกมาได้อย่างเหมาะสมกับกาละเทศะครับ

2.      ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี ถ้าเป็นอารมณ์ดีปกติทั่วไปก็คงไม่มีปัญหาหรอก แต่ถ้าเมื่อไหร่มีอารมณ์ที่ไม่ปกติ เช่น อารมณ์โกรธ, เซ็ง, ท้อถอยเบื่อหน่าย, เสียใจ ฯลฯ ก็จะต้องควบคุมอารมณ์ที่ไม่ปกติเหล่านี้ได้

หัวหน้างานที่ดีควรจะต้องมี “สติ” รับรู้และควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนวิธีการก็เป็นเทคนิคส่วนตัวของใครของมันที่ต้องหาวิธีควบคุมอารมณ์ตัวเอง

มีตัวอย่างให้เห็นในสื่ออยู่มากมายว่าคนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้จะทำให้เกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง โดยเฉพาะคนที่มีโทสะเป็นเจ้าเรือน

3.      มีความละเอียดอ่อน และไวต่อความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น คนที่สามารถจับความรู้สึกของอีกฝ่ายได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว มีความละเอียดอ่อนและสามารถจับรับรู้อารมณ์ของอีกฝ่ายได้ถูกต้องรวดเร็ว ก็มักจะสามารถพูดจาโน้มน้าว, แสดงความเห็นใจ, ชมเชย หรือสนองตอบอารมณ์ของอีกฝ่ายได้อย่างเหมาะสม ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่ทักษะการรู้จักรับฟังเป็นหลักเลยนะครับ

4.      สามารถปรับตัวให้รับกับทุกปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ มีความมั่นคงไม่อ่อนไหว จิตตกง่าย ๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีกลอนบทหนึ่งของหลวงวิจิตรวาทการว่า

“เป็นการง่าย ยิ้มได้ ไม่ต้องฝืน

เหมือนชีพชื่น เหมือนบรรเลง เพลงสวรรค์

แต่คนที่ ควรชม นิยมกัน

ต้องใจมั่น ยิ้มได้ เมื่อภัยมา”

นี่แหละครับลักษณะของคน EQ ดีที่พร้อมรับและสู้กับทุกปัญหา

5.      คนรอบข้างยอมรับว่าเราเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เข้าคนคนอื่นได้ง่าย ในข้อนี้เราไม่สามารถจะพูดอวดตัวเองได้เลยนะครับ ต้องให้คนอื่นรอบข้างเขาเป็นคนพูดมันถึงจะน่าเชื่อถือ

ผมเคยเจอผู้บริหารบางคนชอบพูดอวดตัวเองกับคนอื่นในงานเลี้ยง, ในการประชุม หรือในการทำงานว่า “ผมเป็นคนมนุษยสัมพันธ์ดีมีแต่คนอยากเข้ามาคุยกับผม....ฯลฯ”

เมื่อได้ยินแล้วผมก็ได้แต่ยิ้ม ๆ เพราะเรื่องอย่างนี้ต้องให้คนอื่นเขาพูดถึงเรามันถึงจะน่ายอมรับมากกว่ามาพูดยกยอตัวเอง

ลองสังเกตตัวเองดูง่าย ๆ ก็ได้ว่าวันนี้เรามีเพื่อนฝูง ลูกน้อง คนรอบข้าง กล้าเข้ามาหา เข้ามาพูดคุยมากน้อยแค่ไหน

เช่น เวลากินข้าวกลางวัน เมื่อหัวหน้าเดินถือจานข้าวเดินไปนั่งโต๊ะที่ลูกน้องกำลังนั่งล้อมวงกินข้าวพูดคุยกันอย่างสนุกสนานร่าเริง

ลูกน้องมีพฤติกรรมยังไง ?

เขายังพูดคุยกันเฮฮาร่าเริงเหมือนเมื่อตะกี้ หรือทักทายแค่เป็นพิธีแล้วแต่ละคนก็รีบ ๆ กินแล้วรีบ ๆ สลายตัวไปเหลือแค่คนสองคนที่ยังนั่งอยู่ หรือสลายตัวกันหมดไม่เหลือใครนั่งด้วยเลย ?

นี่เป็นดัชนีชี้วัดมนุษยสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องแบบง่าย ๆ ว่าเป็นยังไง

ถ้าใครเป็นหัวหน้าที่พอเข้าหาลูกน้องแล้วพบว่าลูกน้องมีปฏิกิริยาอย่างที่เล่ามาข้างต้นนี่ล่ะก็ผมว่าคงจะต้องหันกลับมาทบทวนเรื่อง EQ ในเชิงมนุษยสัมพันธ์กับลูกน้องว่ามีปัญหาในจุดไหน และควรจะต้องเริ่มหาทางแก้ไขแล้วนะครับ

           เพราะไม่ว่าใครก็อยากทำงานกับคนที่มี EQ ที่ดีกันทั้งนั้นแหละครับ ?