เรื่องนี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ในบริษัทต่าง ๆ แต่ก็มักจะมีคำถามว่าแล้วควรจะทำยังไงมาอยู่เสมอ ๆ ผมเลยขอนำแนวทางที่เคยปฏิบัติมาเล่าสู่กันฟัง ถ้าเห็นว่าดีก็นำไปปรับใช้กันดูดีไหมครับ
1. หาสถานที่แจ้งผลการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม เช่น หาห้องประชุมที่มิดชิดสักหน่อยไม่ควรแจ้งผลในสถานที่เปิดโล่งแถมมีพนักงานคนอื่นร่วมด้วยช่วยกันนั่งฟังกันสลอน ต้องนึกถึงใจพนักงานที่ไม่ผ่านทดลองงานว่า เขาคงจะอายและไม่อยากให้ใครที่ไม่เกี่ยวข้องมานั่งฟังข้อบกพร่องหรือเหตุผลว่าทำไมเขาถึงไม่ผ่านทดลองงานหรอก จริงไหมครับ
2. แจ้งผลด้วยใจเป็นกลางด้วยความเห็นอกเห็นใจ โดยอธิบายสาเหตุของการไม่ผ่านทดลองงานว่ามีประเด็นใดบ้างซึ่งหัวหน้างานควรจะต้องมีข้อมูลผลการปฏิบัติงานรองรับว่ามีงานใดบ้างที่มีปัญหาหรือพนักงานมีพฤติกรรมใดบ้างที่เป็นปัญหา ซึ่งควรใช้เหตุใช้ผลมากกว่าการใช้อารมณ์หรือความรู้สึกในการแจ้งผล
ก่อนการเชิญพนักงานที่ไม่ผ่านทดลองงานมาแจ้งผล
ควรจะต้องมีการว่ากล่าวตักเตือนในเรื่องพฤติกรรมหรือผลงานที่ไม่เหมาะสมของพนักงานทดลองงานมาก่อนล่วงหน้านะครับ
เช่น เมื่อทดลองงานไปแล้วสัก 2 เดือนก็มีพฤติกรรมมาสาย ขาดงานบ่อย
หรือทำงานไม่รับผิดชอบจนเกิดปัญหาตามมาหลายครั้ง ฯลฯ หัวหน้าก็ต้องเรียกมาตักเตือนในเรื่องที่มีปัญหาและให้เวลาปรับปรุงตัว
ถ้าให้โอกาสปรับปรุงตัวแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ค่อยมาถึงการเชิญมาแจ้งผลไม่ผ่านทดลองงานครับ
3. ควรเปิดโอกาสรับฟังและให้พนักงานทดลองงานได้ชี้แจงในเหตุผลของเขาบ้าง และไม่จำเป็นต้องไปโต้แย้งอะไรให้มากนัก โดยถือหลักรับฟังเป็นส่วนใหญ่เพราะอย่างไรบริษัทก็ไม่บรรจุให้เป็นพนักงานประจำอยู่แล้ว
4. แนะนำให้พนักงานเขียนใบลาออก (ผมจะเตรียมใบลาออกไว้เพื่อให้พนักงานเซ็นชื่อได้เลย) โดยลงวันที่มีผล (ซึ่งอยู่ที่จะตกลงกันว่าจะเป็นวันไหน) โดยให้มีผลในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันที่แจ้งผลว่าไม่ผ่านทดลองงาน เช่น แจ้งวันที่ 5 มีนาคม ใบลาออกก็จะมีผลวันที่ 6 มีนาคม แล้วบริษัทก็จะจ่ายเงินเดือนให้จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม เป็นต้น ซึ่งบริษัทจะจ่ายถึงแค่วันที่ 5 มีนาคมก็ได้ แต่ผมมักจะจ่ายให้ถึงสิ้นเดือนครับ
5. กรณีที่พนักงานเขียนใบลาออกบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (ถ้ามีอายุงานตั้งแต่ 120 วันขึ้นไป) หรือค่าบอกกล่าวล่วงหน้า เพราะถือเป็นการลาออกของพนักงานตามปกติ ซึ่งส่วนใหญ่พนักงานทดลองงานมักจะยื่นใบลาออกเนื่องจากจะได้ไม่เสียประวัติว่าถูกเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงาน เพราะถ้าหากพนักงานไปสมัครงานในบริษัทแห่งใหม่และต้องให้ข้อมูลว่าพ้นสภาพพนักงานจากที่เดิมด้วยสาเหตุใด ก็จะได้กรอกไปว่าลาออกเอง แต่ถ้าใส่ว่าถูกเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงานก็จะทำให้บริษัทแห่งใหม่มีประเด็นสะดุดใจขึ้นมาว่าแล้วทำงานยังไงหรือมีปัญหาอะไรถึงได้ไม่ผ่านทดลองงานจนถูกเลิกจ้าง
6. หากพนักงานแจ้งเท็จในใบสมัครงานในบริษัทแห่งใหม่ว่าลาออกเอง (ทั้ง ๆ ที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากไม่ผ่านทดลองงาน) ก็จะเป็นปัญหากับคน ๆ นั้นต่อไปเพราะท้ายใบสมัครของทุกบริษัทมักจะบอกไว้ข้างท้ายว่าถ้าผู้สมัครแจ้งข้อมูลเป็นเท็จหรือเจตนาปกปิดข้อมูล บริษัทจะสามารถเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ฯลฯ
7. กรณีพนักงานไม่ยอมเขียนใบลาออก บริษัทก็ต้องทำหนังสือเลิกจ้าง (ควรเตรียมหนังสือเลิกจ้างเอาไว้เลยถ้าพนักงานไม่เขียนใบลาออกก็ต้องยื่นหนังสือเลิกจ้าง) โดยระบุเหตุผลว่ามีผลการปฏิบัติงานในระหว่างทดลองงานไม่ได้ตามมาตรฐานหรือมีปัญหาอะไรบ้าง และระบุวันที่มีผลเลิกจ้างให้ชัดเจน ซึ่งก็คือให้มีผลในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันที่แจ้งเลิกจ้าง โดยบริษัทจะต้องจ่ายเงินดังนี้
7.1 ค่าชดเชยตามอายุงาน ในกรณีที่พนักงานทดลองงานทำงานมาแล้ว (นับแต่วันเข้าทำงาน) ครบ 120 วันขึ้นไป บริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานคือค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน (ที่ภาษาคนทำงานจะเรียกว่า “จ่ายค่าชดเชย 1 เดือน” นั่นแหละครับ)
7.2
ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า บางคนเรียกว่า “ค่าตกใจ” ตามมาตรา 17
8. ไม่ควรคิดเล็กคิดน้อยแบบเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย บางบริษัทมักจะเสียดายว่าเมื่อแจ้งพนักงานไม่ผ่านทดลองงานแล้ว พนักงานเขียนใบลาออกแล้ว เช่นแจ้งพนักงานวันที่ 10 พฤษภาคม แล้วยังอยากจะให้พนักงานทำงานให้คุ้มค่าจ้างไปจนถึงสิ้นเดือน (31 พฤษภาคม) ก็เลยให้พนักงานเขียนใบลาออกมีผลวันที่ 1 มิถุนายน โดยไม่ได้คิดว่าถ้าเราถูกบอกว่าไม่ผ่านทดลองงานแล้วเรายังอยากจะมาทำงานอีกไหม
ดังนั้นเขาก็อาจจะมาบ้างหยุดบ้าง โทรมาบอกว่าป่วยบ้าง ฯลฯ เพราะเขารู้ว่าไม่ได้อยู่ที่บริษัทนี้แล้วนี่ครับจะให้ขยันทำงานไปเพื่ออะไร
? เพราะสู้เอาเวลาไปหางานใหม่ ไปสัมภาษณ์ที่ใหม่ไม่ดีกว่าหรือ
พอเป็นอย่างนี้หัวหน้างานก็จะเรียกเขาไปต่อว่าเรื่องการมาทำงาน
หรือมานั่งอารมณ์เสียกับเรื่องหยุมหยิมจุกจิกไม่เข้าเรื่องเหล่านี้อีก นี่ยังไม่รวมคนที่ไม่ผ่านทดลองงานที่อาจจะโกรธหัวหน้าโกรธบริษัทแล้วแอบสร้างความเสียหายระหว่างที่มาทำงานในช่วงสุดท้ายได้อีกหลายเรื่องเลยนะครับ
วิธีที่ผมปฏิบัติมาก็คือจะให้ใบลาออกมีผลตั้งแต่วันรุ่งขึ้นหลังจากแจ้งผลแล้วจ่ายค่าจ้างให้เขาไปถึงสิ้นเดือนเลยครับ
สบายใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายเพราะพนักงานก็จะได้มีเวลาไปหางานใหม่ไม่ต้องมาแก้ปัญหาจู้จี้จุกจิกรำคาญใจกันอีก
ถือหลักใจเขา-ใจเราครับ
จากที่ผมเล่าให้ฟังมานี้คงจะทำให้ท่านเข้าใจในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น
ถ้าใครเห็นว่าดีจะนำไปปรับใช้ก็เชิญตามสะดวกนะครับ