วันนี้มีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับหัวหน้าที่มีจิตใจดี รักและหวังดีกับลูกน้องก็เลยอยากจะช่วยเหลือในเรื่องที่อยู่ในอำนาจของหัวหน้า
ถึงแม้ว่าหัวหน้าจะมีอำนาจอนุมัติบางเรื่องที่จะช่วยเหลือลูกน้องได้
แต่ผมก็มีข้อคิดบางเรื่องฝากไว้ให้กับหัวหน้าท่านนี้ได้คิดแบบรอบด้านซึ่งผมว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนทำงานเผื่อจะเจอเคสในลักษณะนี้นะครับ
เรื่องมีอยู่ว่าหัวหน้าคนหนึ่งมีลูกน้องที่ครอบครัวมีปัญหาด้านการเงินไม่พอใช้
ก็เลยจะมาขอหัวหน้าลาแบบไม่รับเงินเดือน 1 สัปดาห์เพื่อไปเรียนทำขนมจะได้กลับมาสอนคุณพ่อคุณแม่ของพนักงานให้ทำขนมไปขายหารายได้เพิ่มให้กับครอบครัว
ผมก็ถามข้อมูลเพิ่มเติมว่าบริษัทแห่งนี้มีระเบียบเกี่ยวกับการลาโดยไม่รับเงินเดือนหรือไม่
ก็ได้รับคำตอบว่า “มี”
แต่ต้องระบุเหตุผลในการลาที่ชัดเจนโดยแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาให้หัวหน้าพิจารณา
นอกจากนี้บริษัทให้พนักงานมีสิทธิลากิจได้ปีละ
3 วัน แต่ต้องเป็นกิจธุระที่จำเป็นที่ต้องไปทำด้วยตัวเองไม่สามารถมอบหมายให้ใครไปทำแทนได้
ลูกน้องคนนี้ยังมีสิทธิลาพักร้อนเหลืออยู่อีก
6.5 วัน แต่ลูกน้องไม่อยากจะใช้สิทธิลาพักร้อนเพื่อไปเรียนทำขนมเพราะอยากจะเก็บเอาไว้เผื่อใช้ฉุกเฉิน
ลูกน้องคนนี้ไม่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมเสีย
ๆ หรือแย่ ๆ ในการทำงาน ไม่ได้เล่นการพนัน ไม่ได้ติดอบายมุข แต่ครอบครัวมีปัญหาการเงินจริง
ๆ ก็เลยอยากจะหารายได้เพิ่มเพื่อให้กับรายจ่ายในบ้าน
ปัญหาทำนองนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในสภาพเศรษฐกิจในตอนนี้ที่ผมว่าหลายคนก็กำลังประสบพบอยู่
ซึ่งคนที่เป็นหัวหน้าแต่ละคนก็คงจะตัดสินใจในเรื่องนี้ที่แตกต่างกันไป
ผมก็เลยให้ข้อคิดไปดังนี้ครับ
1.
ถ้าอนุมัติให้ลูกน้องคนนี้ลา (แม้ว่าจะไม่รับเงินเดือน)
จะถือเป็นการลาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวใช่หรือไม่
2.
ถ้าอนุมัติให้ลูกน้องคนนี้ลาไปแล้วจะมีผลกระทบกับงานที่ลูกน้องคนนี้ทำอยู่หรือไม่
จะมีปัญหามากน้อยแค่ไหน และจะไปเพิ่มโหลดงานให้กับเพื่อนร่วมงานที่จะต้องเข้ามารับผิดชอบแทนมากน้อยแค่ไหน
3.
ต่อไปถ้าลูกน้องคนอื่น ๆ จะขอลาแบบเดียวกันนี้โดยอ้างเหตุผลเพื่อประโยชน์ของตัวเอง
(ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ใช่เพื่อไปเรียนรู้หารายได้เพิ่มเหมือนลูกน้องคนนี้)
โดยใช้หลัก Me
too หัวหน้าจะต้องอนุมัติหรือไม่ และจะมีผลกระทบกับงานและการบังคับบัญชาในหน่วยงานมากน้อยแค่ไหน
เรื่องที่ต้องคิดให้ดีคือถ้าอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ใครจะเกิดเสียงกระซิบต่อ
ๆ กันไปในทีมงานว่า “ลูกรัก” สำหรับคนที่หัวหน้าอนุมัติ หรือ “ลูกชัง” สำหรับคนที่หัวหน้าไม่อนุมัติมากน้อยแค่ไหน
4.
ลูกน้องคนนี้สามารถใช้วันลาพักร้อนไปเรียนได้หรือไม่
เนื่องจากการลาพักร้อนเป็นสิทธิของเขาที่ใคร ๆ ก็มาว่าอะไรไม่ได้ เพราะการให้เหตุผลว่าต้องการจะเก็บพักร้อนไว้เผื่อมีเรื่องฉุกเฉินเป็นเรื่องที่คาดคะเนเอาเองซึ่งอาจจะไม่มีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นจริงก็ได้
5.
ลูกน้องคนนี้สามารถเรียนรู้การทำขนมด้วยวิธีอื่นโดยไม่ต้องลาได้หรือไม่
เช่น การเรียนรู้จาก YouTube หรือการไปเรียนในวันหยุด หรือหารายได้พิเศษด้วยวิธีอื่นนอกเหนือจากการทำขนมขาย
(ซึ่งตัวเองก็ไม่ถนัด) เพียงอย่างเดียว หรือหัวหน้าลองให้ลูกน้องสำรวจความถนัดหรือความสามารถของตัวเองหรือคนในครอบครัวดูว่าเก่งอะไรและจะเปลี่ยนความเก่งความสามารถที่มีให้เป็นเงินได้ยังไงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งจะดีไหม
ทั้งหมดที่ผมบอกมานี้ไม่ได้หมายความว่าถ้าเราเป็นหัวหน้าคนแล้วก็จะเอาแต่ใช้ลูกน้องทำงานในบริษัทอย่างเดียวโดยไม่สนใจชีวิตส่วนตัวหรือความยากลำบากของลูกน้องนะครับ
ใครที่ติดตามผมจะทราบดีว่าผมเน้นเรื่องแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง
หรือบริษัทกับพนักงานและหลีกเลี่ยงการพูดคุยกันด้วยภาษากฎหมายมาโดยตลอด
ในขณะเดียวกันก็จะต้องคำนึงถึงความเสมอภาคและเป็นธรรมที่จะต้องไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกันให้มากจนเกินงาม
เช่น นายจ้างก็ไม่ควรออกกฎระเบียบหรือปฏิบัติการใด ๆ ที่เอาเปรียบพนักงาน
ในขณะที่พนักงานก็ต้องทำงานให้กับบริษัทโดยไม่เอาเปรียบบริษัทเช่นเดียวกัน
สำหรับกรณีนี้แม้พนักงานจะมีปัญหาด้านการเงินในครอบครัวก็จริง
แต่ถ้าหัวหน้าจะอนุมัติให้พนักงานลา (แม้จะไม่รับเงินเดือนก็ตาม) ในลักษณะนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการให้พนักงานลาไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยใช้เวลางานของบริษัท
ซึ่งจะมีผลกระทบตามมาสำหรับพนักงานคนอื่น ๆ ที่เฝ้าดูการตัดสินใจของหัวหน้าอยู่ด้วยเหมือนกัน
ถ้าการตัดสินใจของหัวหน้าไม่มีเหตุผลที่ฟังได้รองรับก็จะมีผลกับความน่าเชื่อถือจากลูกน้องคนอื่น
ๆ
ในขณะที่ทางเลือกที่จะช่วยเหลือพนักงานคนนี้ก็ยังมีอีกหลายทางเลือกที่อาจจะดีกว่าโฟกัสไปเพียงคำตอบเดียวว่าจะให้พนักงานคนนี้ลาไปโดยไม่รับเงินเดือนดีหรือไม่
ก็ได้แต่หวังว่าหัวหน้าที่จิตใจดีคนนี้จะหาทางเลือกที่เหมาะกับเคสนี้ได้ครับ