บริษัทต่างๆมักจะมีการพัฒนาพนักงานวิธีหนึ่งที่เป็นวิธียอดนิยมจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันคือการส่งพนักงานไปฝึกอบรมภายนอกบริษัทที่มักเรียกกันว่า
"Public Training" หรืออาจจะจัดการอบรมภายในโดยเชิญวิทยากรจากภายนอกมาสอนหรือสอนกันเองด้วยคนภายในที่เรียกว่า
"Inhouse Training"
ไม่ว่าจะจัดฝึกอบรมแบบไหน
บริษัทก็จะต้องเป็นผู้จ่ายค่าฝึกอบรมทั้งหมดโดยบริษัทที่มีการวางระบบเอาไว้ดีแล้วก็จะมีการจัดเตรียมงบประมาณฝึกอบรมเอาไว้ในแต่ละปีที่ชัดเจนโดยถือว่าเป็น
Staff cost ตัวหนึ่งในการพัฒนาพนักงาน
แต่ก็ยังมีบริษัทที่ยังมีแนวคิดว่าถ้าบริษัทส่งพนักงานไปฝึกอบรมแล้วเดี๋ยวถ้าเกิดพนักงานมีความรู้ความสามารถเก่งขึ้นเรื่อยๆแล้วถึงวันหนึ่งเขาลาออกไปบริษัทอื่น
บริษัทของเราก็เหมือนกับตีงูให้กากิน แล้วบริษัทเราก็ลงทุนไปฟรีๆแบบสูญเปล่าน่ะสิ
อย่ากระนั้นเลย (พูดเป็นลิเกเชียว) สู้เรามาทำสัญญาให้พนักงานทุกคนที่บริษัทส่งไปอบรมไม่ว่าจะ
Public หรือ Inhouse เมื่อกลับมาแล้วจะต้องทำงานใช้ทุนบริษัทกันเสียก่อนในระยะเวลาหนึ่ง
ถ้าพนักงานเกิดมาลาออกก่อนถึงระยะเวลาตามสัญญาพนักงานจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทก็คงจะดีเป็นแน่แท้ทีเดียวเชียว
เช่น....
บริษัทส่งนายเดชไปเข้าอบรมครั้งที่ 1 ค่าฝึกอบรม 4,000 บาทก็ทำสัญญาว่าถ้านายเดชไปอบรมเสร็จกลับมาต้องอยู่ทำงานต่อไปอีก
1 ปี ถ้าลาออกก่อนนายเดชจะต้องชดใช้เงินค่าอบรมให้บริษัทสองเท่าคือ
8,000 บาท
ต่อมาบริษัทส่งนายเดชไปเข้าอบรมในหลักสูตร Inhouse ที่บริษัทเชิญวิทยากรมาสอน
คิดเป็นค่าอบรมหัวละ 3,000 บาท
บริษัทก็ทำสัญญาเหมือนเดิมคือต้องทำงานใช้ค่าอบรมหลังจากวันที่อบรมเสร็จนับไปอีก 1
ปี ถ้าลาออกก่อนก็จะปรับ 2 เท่าคือ 6,000
บาท รวมกับครั้งก่อนเป็นเงิน 14,000 บาท
???
วันนี้ผมคงไม่มาพูดว่าเรื่องนี้จะทำได้มากน้อยแค่ไหนในเชิงกฎหมายแรงงานนะครับเพราะมันเป็นเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละกรณีที่แตกต่างกันไป
แต่จะมาชวนคุยให้คิดในประเด็นว่า "ควรหรือไม่ควร"
ทำสัญญาในลักษณะที่เล่ามาให้ฟังจะดีกว่า
เพราะผมเคยเจอคำถามทำนองนี้จากผู้บริหารว่าควรจะทำสัญญาอย่างที่บอกไปข้างต้นดีหรือไม่ผมก็ได้แต่ให้ข้อคิดไปดังนี้
1. ผมเข้าใจดีว่าบริษัทเป็นผู้ลงทุนไป
ถ้าไม่มีสัญญาอะไรผูกมัดไว้บ้าง แล้วพอพนักงานเก่งขึ้นก็ลาออกไปอยู่ที่อื่น
บริษัทก็เท่ากับตีงูให้กากินตามที่บอกไว้ข้างต้น
ทีหน้าทีหลังก็ไม่อยากส่งพนักงานเข้าอบรมแล้วเพราะกลัวว่าพอพนักงานเก่งขึ้นเดี๋ยวก็ลาออกอีก
นี่คือข้อกังวลของฝ่ายบริหาร
แต่....
2. จากข้อ 1
ผมตั้งคำถามว่า
2.1 "แน่ใจหรือว่าสาเหตุที่พนักงานลาออกเกิดจากการที่บริษัทส่งพนักงานไปฝึกอบรมแล้วเก่งขึ้นเพียงเรื่องเดียว?"
2.2 "สาเหตุนี้เป็นสาเหตุหลักในบรรดาสาเหตุของการลาออกทั้งหมดจริงหรือ?"
2.3 "มีพนักงานที่ลาออกด้วยสาเหตุนี้คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของสาเหตุการลาออกทั้งหมด?"
3. บริษัทควรจะหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและสาเหตุนี้มาคิดวิเคราะห์ให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจสร้างกฎระเบียบหรือทำสัญญาใดๆออกมาจะดีหรือไม่
เพราะถ้าสมมุติว่าสาเหตุการลาออกส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการส่งพนักงานไปอบรม
แต่ผู้บริหารตัดสินใจจากความรู้สึกแล้วสั่งให้ทำสัญญาใช้ทุนการอบรมสำหรับพนักงานทุกคนที่บริษัทส่งไปอบรมไม่ว่าจะเป็นเงินมากหรือน้อย
ก็จะเกิดปัญหากระทบกับความรู้สึกของพนักงานส่วนใหญ่ที่เขาไม่ได้คิดที่จะลาออกด้วยหรือไม่
และถ้าเป็นอย่างนั้นพนักงานจะอยากเข้าอบรมหรือไม่
หรือบริษัทจะคิดว่าถ้าพนักงานจะหลีกเลี่ยงไม่เข้าอบรมเพราะไม่อยากเซ็นสัญญาก็ดีสิ
บริษัทจะได้ลดต้นทุนส่วนนี้ลงได้
แต่ถามว่าแล้วเมื่อคิดให้ถึงที่สุดใครเป็นคนเสียประโยชน์มากที่สุดครับ บริษัทหรือพนักงาน?
แถมสัญญาแบบนี้ก็จะมีเยอะแยะหยุมหยิมไปหมดแล้วแต่ว่าพนักงานแต่ละคนจะถูกส่งไปอบรมอะไรบ้าง
แล้ว HR ยังจะต้องมาเสียเวลาทำสัญญาเป็นรายบุคคลในแต่ละครั้งแล้วไหนยังจะต้องมาคอยติดตามอีกว่าสัญญาไหนครบระยะเวลาแล้วบ้าง
ฯลฯ
อย่างงี้จะเป็นการขี่ช้างจับตั๊กกะแตนหรือบริษัทกำลังไปหยิบเอาปัญหาของคนส่วนน้อยมาสร้างปัญหาให้กับคนส่วนใหญ่ที่เขาไม่เกี่ยวข้องไปด้วยหรือเปล่าครับ
4. ถ้าเป็นการส่งพนักงานไปอบรมหรือพัฒนาในหลักสูตรที่มีต้นทุนสูงๆ
เช่น บริษัทให้ทุนพนักงานไปเรียนต่อปริญญาโทตลอดหลักสูตรคิดเป็นเงิน 400,000
บาท หรือ บริษัทส่งไปฝึกงาน/ดูงานต่างประเทศคิดเป็นเงิน 200,000
บาทและมีเป้าหมายให้พนักงานกลับมาสอนงานให้กับลูกน้องและเพื่อนร่วมงาน
อย่างนี้บริษัทจึงทำสัญญาให้พนักงานเซ็นยังจะดูสมเหตุสมผลกว่าจะไปทำสัญญาใช้ทุนแบบหยุมหยิมนะครับ
ซึ่งตรงนี้ฝ่ายบริหารก็อาจจะมากำหนดกันว่าถ้าจะทำสัญญาให้พนักงานใช้ทุนที่ส่งไปนั้นควรจะเป็นหลักสูตรที่มีมูลค่าตั้งแต่เท่าไหร่ขึ้นไป
ซึ่งในความเห็นของผมก็น่าจะไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาทขึ้นไปครับ
แต่ถ้าจะต้องการให้ต่ำกว่านี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจฝ่ายบริหารของแต่ละแห่งแล้วล่ะครับ
ยังไงก็ตามผมก็ยังไม่เชื่ออยู่ดีว่าสาเหตุหลักของการลาออกจะเกิดจากการที่บริษัทส่งพนักงานไปอบรมจนพนักงานเก่งขึ้นแล้วก็เลยมาขอลาออกน่ะสิครับ
ดังนั้นถ้ายังระบุตัวปัญหาและสาเหตุไม่ถูกต้อง
การแก้ปัญหาก็จะผิดพลาดเหมือนติดกระดุมเม็ดแรกผิดโดยไม่รู้ตัว
การติดกระดุมเม็ดต่อไปก็จะผิดตามไปทั้งหมด
แล้วในที่สุดก็จะเป็นไปตามคำพังเพยที่ว่า
"เสียน้อยเสียยาก..เสียมากเสียง่าย" ครับ
.......................................