วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างคำนวณกันถูกต้องแล้วหรือยัง?

           นายกิจ (นามสมมุติ) อายุงาน 12 ปี เงินเดือนปัจจุบันก่อนถูกเลิกจ้างคือ 42,000 บาท ได้รับค่าอาหารเดือนละ 1,500 บาท (ได้รับค่าอาหารเท่ากันทุกเดือนไม่ว่าจะเป็นวันหยุดหรือไม่ก็ตาม) ได้รับค่าน้ำมันเหมาจ่ายเดือนละ 8,000 บาท เข้า Payroll โดยไม่ต้องนำใบเสร็จมาให้บริษัท

ถ้าหากบริษัทเลิกจัาง นายกิจจะได้รับค่าชดเชยเท่าไหร่ครับ?

ใครคำนวณค่าชดเชยได้ 420,000 บาทบ้าง?

ผิดครับ

คำตอบที่ถูกคือ 515,000 บาทครับ

ตัวตั้งจะต้องเป็น “ค่าจ้าง” ไม่ใช่ “เงินเดือน” นะครับ

เพราะในกฎหมายแรงงานไม่มีคำว่าเงินเดือน มีแต่คำว่า "ค่าจ้าง" ตามมาตร 5 

โดยมาตรา 118 ให้ใช้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นฐานในการคำนวณ แล้วหาร 30 (กฎหมายแรงงานกำหนดให้ 1 เดือนมี 30 วันจะได้เป็นค่าจ้างต่อวัน แล้วคูณ 300 เพราะนายกิจมีอายุงาน 10 ปีไม่เกิน 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย=ค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

ค่าจ้าง = 42,000+1,500+8,000 = 51,500 บาท

51,500 หาร 30 = 1,716.66 บาทต่อวัน

ค่าชดเชย = 1,716.66 คูณ 300 = 515,000 บาท

จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่ามีการคำนวณค่าชดเชยผิดไปถึง 95,000 บาท และตรงนี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของดราม่าในเวลาถัดไป

รู้อย่างงี้แล้วบริษัท (โดยเฉพาะ HR) จะต้องเป็นมืออาชีพที่จะต้องรู้ว่าในบริษัทของเรามีสารพัดค่าอะไรที่เป็น “ค่าจ้าง” บ้าง จะได้ลดปัญหาลงครับ

ปล.ตามกฎหมายแรงงานไม่ได้กำหนดให้มีการแบ่งจ่ายค่าชดเชยเป็นงวด ๆ และควรจ่ายให้ในวันแจ้งเลิกจ้างโดยมีหลักฐานการเซ็นรับเงินต่าง ๆ ให้ครบถ้วนนะครับ