วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

Pareidolia คำตอบของการมองเห็นที่ผิดเพี้ยน

             เคยเห็นกระต่ายในดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญบ้างไหมครับ ?

หรือบางคนมองก้อนเมฆเป็นรูปนั้นรูปนี้แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนว่าใครจะมองเห็นก้อนเมฆเดียวกันนั้นว่าเป็นรูปอะไร

หรือเมื่อดูข่าวจากสื่อต่าง ๆ หลายครั้งเราก็จะเห็นการนำเสนอข่าวประเภทแชะติดวิญญาณโผล่เข้ามาร่วมแจมกับคนในภาพกันอยู่บ่อย ๆ

หลายครั้งเพื่อนก็ส่งไลน์ภาพถ่ายมาให้ดูแล้วถามว่าเราเห็นอะไร ซึ่งก็จะพบว่าบางทีเราก็เห็นภาพนั้นเหมือนกับเพื่อน แต่บางทีเราก็เห็นภาพนั้นต่างจากเพื่อน

ล่าสุดก็มีข่าวคนบอกว่าถ่ายรูปมนุษย์ต่างดาวที่มีแสงสีม่วง ๆ ที่มาปรากฎตัวตรงหน้า (แต่ไม่ได้บอกว่าก่อนถ่ายรูปเห็นมนุษย์ต่างดาวตัวม่วงด้วยตาของตัวเองหรือเปล่า)

            การที่เรามองภาพต่าง ๆ แล้วเห็นเป็นอย่างโน้นอย่างนี้อย่างที่ผมบอกมาข้างต้นเป็นเรื่องของ “สมอง” ของแต่ละคนที่ถูกกระตุ้นจากภาพต่าง ๆ ที่เราเห็น

ทางจิตวิทยาจะเรียกว่า “Pareidolia” (แพริโดเรีย) ครับ

มาจากคำว่า “para” ในภาษากรีกหมายถึงบกพร่องหรือผิดพลาด และ “eidolon” หมายถึงภาพหรือรูปร่าง ความหมายโดยรวมคือการมองภาพที่ผิดพลาดไป

เราจะพบเห็นปรากฎการณ์ของ Pareidolia ได้อยู่เสมอ ๆ เช่น เมื่อครั้งที่ยานไวกิ้งของสหรัฐอเมริกาเคยโคจรรอบดาวอังคารและถ่ายภาพส่งมายังโลกก็จะเห็นเป็นเหมือนภาพหน้าคนอยู่บนพื้นผิวดาวอังคาร, สะดืออ่างล้างหน้าที่เห็นเป็นหน้าคน, ลูกบิดประตูกับรูกุญแจหน้าคน, มองเห็นก้อนเมฆเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ, เห็นวิญญาณในภาพถ่าย ฯลฯ

ถ้าจะว่าไปแล้วปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดแพริโดเรียก็คือ “แสงและเงา” ครับ

เช่นภาพที่ได้จากการถ่ายรูปที่เกิดจากแฟลร์ (Flare) คือแสงของดวงอาทิตย์ที่สะท้อนเข้าเลนส์ของกล้องทำให้เห็นเหมือนประกายสว่างหรือเห็นเป็นรูปทรงแบบแปลก ๆ ในภาพ (แก้ได้ด้วยการใส่ Hood ที่หน้าเลนส์)

หรือแม้แต่การถ่ายรูปในที่ที่แสงน้อยแล้วเกิดเงาในบางส่วนของภาพก็เลยทำให้เห็นภาพแปลก ๆ ไปตามการมองเห็นของแต่ละคน

แสงและเงาจึงมีส่วนสำคัญที่มักจะทำให้คนเห็นภาพต่าง ๆ แตกต่างกันออกไปตามจินตนาการของคนที่เห็นภาพนั้น ๆ

เมื่อเราเห็นภาพใด ๆ สมองก็จะเริ่มคิดทบทวนภาพเก่า ๆ ที่เราคุ้นเคยที่ใกล้เคียงกับภาพที่เห็นตรงหน้าเพื่อมาเชื่อมโยงกัน ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติอะไรครับ แถมบางครั้งยังทำให้เกิดจินตนาการคิดสร้างสรรค์อะไรที่แปลกใหม่ออกมาอีกต่างหาก

เมื่อเข้าใจเรื่องของ Pareidolia อย่างนี้แล้ว ครั้งต่อไปถ้าใครส่งรูปมาให้ดูแล้วเห็นอะไรแปลก ๆ โผล่เข้ามาร่วมเฟรมในภาพจะได้บอกตัวเองในแวบแรกว่าเป็นเพราะแสงและเงาหรือเปล่าที่ทำให้เราเห็นเป็นแบบนั้น จะได้ไม่เผลอสาธุแบบตามแห่เร็วเกินไปไงครับ 😉