ผมได้ยินคำ ๆ นี้ครั้งแรกเมื่อปี 2522 ตอนเรียนปี 2 วิชาการจัดการผู้สอนคือรศ.ศรีอรุณ เรศานนท์ ท่านบอกไว้ว่าใครที่เรียนการจัดการก็ต้องเข้าใจคำนี้ให้ดีเพราะมันเป็นหัวใจของการจัดการยุคใหม่ ตอนนั้นผมก็ได้แต่ฟังเอาไว้เพราะยังเป็นนิสิตยังไม่ได้ทำงานก็เลยยังไม่ได้เข้าใจอะไรเกี่ยวกับคำ ๆ นี้
แต่เมื่อมาทำงานแล้วอายุงาน
(อายุตัว) มากขึ้นเรื่อย ๆ ผมก็เข้าใจสิ่งที่อาจารย์พูดเอาไว้มากขึ้นตามไปด้วย
ยิ่งมาทำงานด้าน HR
ก็ยิ่งเห็นว่าหลัก POSDCoRB ก็ยังคงใช้ดีอยู่ในปัจจุบันแม้จะถูกนำเสนอผ่านกาลเวลามา
กว่า 80 ปีแล้วก็ตาม ก็เลยอยากจะเอาหลักนี้มาเล่าสู่กันฟังสำหรับคนที่ยังไม่เคยได้ยินนะครับ
ปีค.ศ.1937 (พ.ศ.2480) ลูเธอร์ กูลิค (Luther Gulick) และ ลินดัล เออร์วิค (Lyndall Urwick) ได้นำเสนอแนวคิดด้านการจัดการของนักบริหารในบทความ
“Paper on the Science of
Administration: Notes on the Theory of Organization” มีอยู่ 7
เรื่องคือ
POSDCoRB
P = Planning ผู้บริหารต้องรู้จักการวางแผน คือการคิดทุกอย่างเอาไว้ล่วงหน้านั่นเอง
ผู้บริหารที่ดีไม่ควรทำงานโดยไม่วางแผนล่วงหน้า
O =
Organizing ผู้บริหารต้องรู้จักการจัดโครงสร้างองค์กร
รู้จักการแบ่งส่วนงาน, หน่วยงาน การกำหนดตำแหน่งต่าง ๆ ในองค์กร
พร้อมทั้งอำนาจหน้าที่
S = Staffing ผู้บริหารต้องรู้จักการจัดการเกี่ยวกับผู้คน
ตั้งแต่การสรรหาคัดเลือก การวางคนลงในตำแหน่งงานต่าง ๆ การบรรจุและแต่งตั้ง
การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง การจ่ายค่าตอบแทน การพัฒนาคน ไปจนถึงการพ้นสภาพจากองค์กร
D = Directing ผู้บริหารต้องรู้จักการบริหารจัดการ การสั่งการ
การมอบหมายงาน การควบคุมติดตามงานให้สำเร็จตามแผน
ไปจนถึงการใช้ภาวะผู้นำในการสร้างแรงจูงใจให้กับทีมงาน
Co =
Coordinating ผู้บริหารต้องรู้จักการประสานงานกับทุกภาคส่วนทั้งในและนอกองค์กรเพื่อเกื้อหนุนให้งานบรรลุผลสำเร็จ
R = Reporting ผู้บริหารต้องรายงานความคืบหน้าไปยังผู้บังคับบัญชาที่เหนือขึ้นไป
รวมถึงการรับฟังรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น
B = Budgeting ผู้บริหารต้องมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการทำแผนงบประมาณ
การเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผน
ตลอดจนถึงการควบคุมการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายขององค์กรอย่างคุ้มค่า
ตามที่ผมเล่าให้ฟังไปข้างต้นจะเห็นได้ว่าแม้เวลาจะผ่านมากว่า
80 ปีนับแต่วันที่มีการนำเสนอแนวคิด POSDCoRB
จนถึงปัจจุบันผู้บริหารก็ยังคงต้องมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบงานทั้ง 7
เรื่องนี้อยู่
เรียกว่าเป็นแนวคิด “เก๋าแต่ไม่เก่า”
ก็ว่าได้
จริงไหมครับ