วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ตำแหน่งเดียวกันแต่อยู่คนละหน่วยงานควรได้ขึ้นเงินเดือนเท่ากันหรือไม่?

             คำถามมีอยู่ว่ากรณีพนักงานที่อยู่ในกลุ่มงาน (Job Grade) เดียวกัน แต่ทำงานกันคนละฝ่ายเมื่อถึงรอบขึ้นเงินเดือนประจำปีแล้วพนักงานทั้งสองคนนี้ต่างก็ได้รับการประเมินผลงานในเกรดเดียวกัน เช่น ได้เกรด C

ทั้งสองคนนี้ควรจะได้รับการขึ้นเงินเดือนในเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากันหรือไม่?

            ตัวอย่างเช่น พนักงานบัญชีคนหนึ่งเงินเดือน 15,000 บาท ถูกประเมินผลงานได้เกรด C ได้รับการขึ้นเงินเดือน 6%

พนักงานจัดซื้อ (อยู่ใน Job Grade เดียวกับพนักงานบัญชี) สมมุติว่าเงินเดือน 15,000 บาทเท่ากัน ถูกประเมินผลงานได้เกรด C เหมือนกัน ก็ต้องได้รับการขึ้นเงินเดือนเท่ากับพนักงานบัญชีคือ 6% หรือไม่

            ถ้ามองเผิน ๆ หรือคิดเร็ว ๆ ก็ควรจะต้องขึ้นเงินเดือนให้เท่ากัน

ลองมาดูในรายละเอียดตามตัวอย่างข้างล่างนี้ครับ


            จากตารางสมมุติว่าฝ่ายบัญชีมีพนักงาน 4 คน เงินเดือนรวมทั้งหมด 70,000 บาท ส่วนฝ่ายจัดซื้อมีพนักงานรวม 3 คนเงินเดือนรวม 50,000 บาท

ทั้งสองฝ่ายได้รับการจัดสรรงบประมาณขึ้นเงินเดือนประจำปีเท่ากันคือ 6% ก็จะทำให้ฝ่ายบัญชีได้รับงบประมาณ 4,200 บาท ส่วนฝ่ายจัดซื้อได้งบฯ 3,000 บาท

            หากดูในช่อง (A) กับ (B) ผมสมมุติว่านี่คือการพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีของทั้งสองฝ่ายตามหลักเกณฑ์ที่ควรจะเป็น เช่น สมมุติถ้าถูกประเมินผลเกรด B จะได้ขึ้นเงินเดือน 9% หากถูกประเมินในเกรด C จะได้ 6% จะเห็นว่าถ้าทำอย่างนี้ทั้งสองฝ่ายก็จะไม่สามารถควบคุมเม็ดเงินให้อยู่ในงบประมาณที่ได้รับ

          ดังนั้นผู้บริหารของทั้งสองฝ่ายจึงต้องกลับมาพิจารณาเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนของฝ่ายตัวเองกันใหม่แบบยืดหยุ่นเพื่อให้สมดุลระหว่างผลการประเมินกับงบประมาณที่ด้รับมาเป็นช่อง (C) และ (D)

            จากตารางช่อง (C) และ (D) เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างพนักงานบัญชีและพนักงานจัดซื้อจะเห็นว่าพนักงานจัดซื้อได้รับการขึ้นเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำกว่าพนักงานบัญชีทั้ง ๆ ที่มีค่างานอยู่ใน Job Grade เดียวกัน เพราะฝ่ายจัดซื้อได้รับการจัดสรรงบประมาณมาน้อยกว่าจึงดูเหมือนเสียเปรียบฝ่ายบัญชี

          นี่จึงเป็นที่มาของคำถามนี้ว่าการขึ้นเงินเดือนแบบนี้ยุติธรรมแล้วหรือ?

             ตรงนี้อธิบายได้อย่างนี้ครับ

1.      เมื่อมีการประเมินค่างานบริษัทจะตั้งคณะกรรมการประเมินค่างาน เป็นคนกลางทำหน้าที่ประเมินค่างานว่าตำแหน่งไหนจะมีค่างาน (Job Value) ที่สูงกว่าหรือต่ำกว่ากันมากน้อยแค่ไหนแล้วนำมาจัดเรียงตามคะแนนที่ถูกประเมินแล้วจึงจัดทุกตำแหน่งงานเข้า Job Grade ต่าง ๆ ซึ่งการประเมินค่างานเป็นการประเมินกันที่ตัว “ตำแหน่งงาน” เป็นหลัก ไม่ใช่การประเมินที่ “ตัวบุคคล”

2.      เมื่อจัดแบ่งตำแหน่งงานต่าง ๆ เข้าแต่ละ Job Grade แล้ว จะนำเอาตำแหน่งต่าง ๆ ในแต่ละ Job Grade ไปเทียบกับตลาดดูว่าตลาดเขาจ่ายกันอยู่เท่าไหร่เพื่อที่จะได้นำข้อมูลของตลาดมาวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างเงินเดือนให้สามารถแข่งขันได้

3.      เมื่อจบขั้นตอนตามข้อ 3 แล้ว ถือว่าเรื่องของการประเมินค่างานเสร็จสิ้นแล้วครับ เราจะไม่นำเรื่องค่างาน (Job Value) มาผูกโยงต่อไปว่าค่างานเท่ากันหรืออยู่ Job Grade เดียวกันจะต้องได้รับการขึ้นเงินเดือนเท่ากันถึงจะยุติธรรม หรือพูดง่าย ๆ ว่าจะไม่เอาเรื่องค่างานมาผูกกับเรื่องผลการปฏิบัติงาน เพราะ....

3.1   แม้ว่าพนักงานบัญชีและพนักงานจัดซื้อจะถูกประเมินได้เกรด C เหมือนกันก็จริง แต่ผู้ประเมินก็คือหัวหน้าของพนักงานบัญชีและหัวหน้าของพนักงานจัดซื้อต่างก็จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาผลงานลูกน้องที่แตกต่างกัน

3.2   ลักษณะงานที่รับผิดชอบของพนักงานบัญชีกับพนักงานจัดซื้อก็ไม่เหมือนกัน การกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมาย (KPIs) ก็แตกต่างกันไปตามลักษณะงาน

3.3   งบประมาณขึ้นเงินเดือนของทั้งสองฝ่ายไม่เท่ากัน ถ้าหน่วยงานไหนมี Total Payroll มากก็จะได้รับการจัดสรรงบประมาณขึ้นเงินเดือนสูงกว่าหน่วยงานที่มี Total Payroll น้อยกว่า

3.4   ดังนั้นแม้พนักงานบัญชีและพนักงานจัดซื้อต่างก็ถูกหัวหน้าประเมินแล้วได้เกรด C เหมือนกันก็ไม่ได้หมายความว่า C ของพนักงานบัญชีจะเท่ากับ C ของพนักงานจัดซื้อ เพราะผู้ประเมินก็คนละคน, ผู้ถูกประเมินก็คนละคน, ลักษณะงานก็ต่างกัน, เป้าหมายในงานก็ต่างกัน, งบประมาณก็ไม่เท่ากันอย่างที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้แล้ว

3.5   นอกจากนี้แต่ละฝ่ายจำเป็นจะต้องบริหารงบประมาณการขึ้นเงินเดือนประจำปีของตัวเองให้ไม่เกินงบฯ ดังนั้นผู้บริหารในแต่ละฝ่ายต่างก็จะต้องจัดสรรเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนให้สอดคล้องกับเกรดที่ตัวเองประเมินลูกน้อง และยังต้องควบคุมงบฯไม่ให้เกินที่ได้รับการจัดสรรมาอีกด้วย

จากเหตุผลข้างต้นจึงสรุปได้ว่า...

ตำแหน่งเดียวกัน แต่อยู่คนละหน่วยงานแม้จะอยู่ Job Grade เดียวกัน ถึงจะถูกประเมินผลด้วยเกรดเดียวกันก็ไม่จำเป็นจะต้องได้รับการขึ้นเงินเดือนเท่ากันครับ

                                             …………………………..