อาจจะเนื่องจากผมเริ่มต้นทำงานด้าน HR และก็ทำงานด้านนี้มาโดยตลอดซึ่งงานและความรับผิดชอบส่วนหนึ่งของผมก็จะถูกมอบหมายให้ร่างหนังสือติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งต้องทำรายงานวิเคราะห์และนำเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงระบบต่าง ๆ ขององค์กร ฯลฯ
แน่นอนว่างานเอกสารเหล่านี้จะมีการสะกดคำผิดบ้างทั้งโดยที่ผมไม่รู้ว่าคำ
ๆ นั้นสะกดผิด หรือพิมพ์ผิดไปเองทั้ง ๆ ที่รู้
แต่ไม่ได้ตรวจสอบงานให้ดีก่อนจะส่งให้หัวหน้าเพราะความรีบร้อนตามประสาเด็กใหม่ใจร้อนอยากทำงานให้เร็วทันใจหัวหน้า
ผมก็จะถูกหัวหน้าส่วนเรียกไปกึ่งตำหนิกึ่งสอนเกี่ยวกับความสำคัญของการสะกดคำให้ถูกต้องและการตรวจข้อความทั้งหมดให้ละเอียดรอบคอบก่อนจะส่งงานออกไปนอกหน่วยงาน
โดยเฉพาะการลำดับเรื่องราวในหนังสือก่อนส่งออก
โดยอย่าไปคิดว่าคนที่อ่านหนังสือที่เราส่งไปเขารู้เรื่องนั้นมาแล้ว
แต่ต้องคิดเสมอว่าคนรับหนังสือไปจากเราไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อนเลย
เราต้องเขียนให้เขารู้ที่มาที่ไปและลำดับเรื่องไปจนถึงสรุปให้เขารู้และเข้าใจว่าเราต้องการให้เขาทำอะไร
ซึ่งภายหลังสิ่งเหล่านี้ก็กลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญมากในการเป็นคนเขียนหนังสือของผม
ทั้ง ๆ
ที่ในสมัยที่ยังเป็นเด็กที่เพิ่งเริ่มทำงานในยุคนั้นจะคิดในใจว่าพี่จะมาจุกจิกอะไรกันนักหนาแค่พิมพ์ผิดนิด
ๆ หน่อย ๆ เอง
แต่เมื่อเวลาผ่านไปผมกลับพบว่าสิ่งเหล่านี้คือ
“ความน่าเชื่อถือ” สำหรับคนเขียนครับ
ลองอ่านข้อความนี้ดูสิครับ
“หลักกาสำคัญในการทำโคงสร้างเงินเดือนคือกานำตำแหน่งงานต่าง
ๆ ในแต่ละ Job
Grad ไปเทียบกับตลาด แล้วมาหาค่าเฉลี่ยว่าใน Job Grade นั้น ๆ ตลาดเขาจ่ายเงินเดือนมูฐาน (Basic Salary) เฉลี่ยอยู่เท่าไหร่”
เป็นไงครับ
อ่านแล้วท่านรู้สึกดีกับคนเขียนไหมครับ
ถึงแม้ว่าคนเขียนจะมีความรู้เรื่องนี้ดีแค่ไหนก็ตาม ?
ทุกวันนี้ผมก็ยังเห็นการสะกดผิดพลาดอยู่ไม่น้อย
เช่น อนุญาติ, สังเกตุ, นะค่ะ, ลายเซ็นต์, เซ็นต์ชื่อ, โครต, ภาระกิจ, มาตราฐาน
ฯลฯ
(ที่ถูกต้องคือ
อนุญาต, สังเกต, นะคะ, ลายเซ็น, เซ็นชื่อ, โคตร, ภารกิจ, มาตรฐาน ฯลฯ)
ซึ่งคนที่เป็นครูบาอาจารย์ที่ดี
คนที่เป็นนักเขียนควรจะต้องหาความรู้เพิ่มเติม (ที่มีอยู่มากมายในโลกออนไลน์) และตรวจสอบคำผิดคำถูกให้แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่
ก่อนที่จะปล่อยข้อความออกไป
เพราะครูบาอาจารย์และนักเขียนจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกศิษย์และคนอ่านอยู่เสมอ
ยิ่งผิดบ่อยความน่าเชื่อถือจากคนรอบข้างจะยิ่งลดลง
ต้องคิดเสมอว่าเมื่อมีคนมาทักท้วงว่าสะกดคำผิดก็อย่าไปโกรธเขา
แต่ควรจะต้องขอบคุณที่เขาทำให้เราได้รู้ว่าเราสะกดผิดและแก้ไขให้ถูกต้อง
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้แปลว่าผมเป็นคนที่แตกฉานภาษาไทยและเขียนสะกดคำไม่เคยผิดนะครับ
แต่จะขอบคุณคนที่ท้วงติงผมมาทุกครั้งที่เห็นผมพิมพ์ผิดสะกดผิด
(ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ) ซึ่งผมจะแก้ไขให้ถูกต้องไม่ให้ผิดพลาดซ้ำอีก
อ่านแล้วใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็คงเป็นสิทธิของแต่ละคน
ถ้าใครยังคิดว่าเรื่องนี้ไม่สลักสำคัญอะไร ก็ทำเหมือนเดิมเอาตามที่สบายใจครับ
.............................