ก่อนหน้านี้ผมทำตารางประเมินตัวเองให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจลาออกไปแล้ว มาคราวนี้ก็เลยขอเอาเรื่องนี้มาพูดต่อเพิ่มเติมจากครั้งที่แล้วตามนี้ครับ
1.
ทำการบ้านก่อนส่งใบสมัครงาน : ควรหาข้อมูลรายละเอียดต่าง
ๆ ของบริษัทนั้น ๆ ให้ดีเสียก่อนว่าเขาทำธุรกิจอะไร มีใครเป็นผู้ถือหุ้น
ใครเป็นผู้บริหาร มีประวัติความเป็นมายังไง ฯลฯ
จะได้ใช้สำหรับเตรียมตัวเมื่อมีการเรียกไปสัมภาษณ์ คำว่า “รู้เขา-รู้เรา”
ยังใช้ได้อยู่เสมอ
2.
เป็นฝ่ายรุกตั้งคำถามบ้างไม่ใช่รอรับคำถามแต่เพียงฝ่ายเดียว : ไม่ควรเข้าไปในห้องสัมภาษณ์ด้วยการเป็นผู้รอรับคำถามและแค่ตอบคำถาม
แต่ควรเตรียมคำถามไปถามในห้องสัมภาษณ์ในสิ่งที่เราต้องการจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากทางบริษัทเพื่อให้รู้ทัศนคติ
วิธีคิดของผู้บริหารหรือคนที่เป็นว่าที่หัวหน้าเพื่อประกอบการประเมินและตัดสินใจด้วยว่าเราจะไปกับบริษัทนี้ได้หรือไม่
ในข้อนี้อาจจะมีคนแย้งว่าจะไปเลือกอะไรนักหนา
ทำเป็นกบเลือกนายไปได้ เขารับเข้าทำงานได้เงินเดือนมีงานทำก็ดีเท่าไหร่แล้ว อย่าเรื่องมากทำ
ๆ ไปเถอะ ฯลฯ
คงจะมีหลายคนที่คิดแบบนี้
ซึ่งผมคงไม่ตัดสินนะครับว่าคิดแบบนี้ดีหรือไม่ดี
แต่ตัวผมเองจะประเมินบริษัท
(และผู้บริหารที่สัมภาษณ์ผม) ทุกครั้งว่าจากที่สัมภาษณ์กันไปแล้วจะมีแนวโน้มที่จะทำงานด้วยกันได้ดีหรือไม่
ถ้าความคิดเห็นไม่ตรงกันตั้งแต่สัมภาษณ์ในประเด็นที่สำคัญหรือเป็นเรื่องที่
Sensitive ที่ผมคิดว่าขืนทำงานไปด้วยกันก็น่าจะเกิดความขัดแย้งกันแหง ๆ ผมก็จะตอบปฏิเสธ
เพราะถ้าขืนคิดแบบง่าย
ๆ ข้างต้นว่าเมื่อเขารับเรา ๆ ก็ทำไปก่อน แต่แล้วก็ทำได้ไม่นานต้องลาออกหรือไม่ผ่านทดลองงานเพราะขัดแย้งกันในวิธีการทำงาน
ในที่สุดคนที่จะเสียประวัติคือตัวเราเองนะครับ ไม่ใช่บริษัทที่รับเราเข้าทำงาน
พูดมาถึงตรงนี้ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้ก็แล้วแต่จะคิดเลยครับ
ผมแค่แชร์ความคิดในมุมของผมเท่านั้น
3.
สังเกตสภาพแวดล้อมในการทำงานของบริษัทที่เราไปสัมภาษณ์ : ก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์ควรสังเกตบรรยากาศของบริษัทว่าเป็นยังไง
รวมถึงสีหน้า แววตา ภาษากาย การพูดจาของพนักงานในที่นั้น ๆ เป็นยังไงบ้าง
มีบรรยากาศเป็นยังไง เพื่อเป็นปัจจัยหนึ่งในการประเมินว่าน่าทำงานที่นี่ไหม
4.
ไม่ควรยื่นใบลาออกเพราะแค่ความสะใจ : ยิ่งการยื่นใบลาออกโดยไม่มีงานใหม่หรือมีแผนอะไรรองรับเลยว่าหลังจากนี้เราจะเอายังไงต่อไปนี่
คนที่เดือดร้อนคือตัวเรานะครับไม่ใช่หัวหน้า
อย่าหลงตัวเองว่าถ้าบริษัทขาดเราแล้วจะเดือดร้อน เพราะไม่มีตำแหน่งใดสำคัญที่สุดจนขาดไม่ได้หรอกครับ
ในที่สุดเขาก็ต้องหาคนมาทำแทนได้อยู่ดีแหละ
5.
เซ็นสัญญาจ้างก่อนยื่นใบลาออก : ก่อนที่จะยื่นใบลาออกก็ควรจะต้องเซ็นสัญญาจ้างกับที่ใหม่ให้เรียบร้อยเสียก่อน
และที่ใหม่ควรจะต้องให้สำเนาสัญญาจ้างกับเรามาด้วยเพื่อยืนยันเข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย
เมื่อมีข้อสงสัยเวลาที่เราซักถามบริษัทมีการอธิบายลักษณะงาน สภาพการจ้าง
รวมไปถึงตอบคำถามต่าง ๆ ชัดเจนไหม
แล้วอย่าลืมอ่านสัญญาจ้างให้ดีนะครับ สัญญาจ้างที่ดีต้องไม่มีข้อความที่แสดงเจตนาเอาเปรียบพนักงานหรือผิดกฎหมายแรงงาน เช่น จะเรียกเงินค้ำประกันการทำงานทั้ง ๆ ที่ลักษณะงานไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ หรือถ้าไม่ผ่านทดลองงานจะไม่คืนเงินค้ำประกัน ฯลฯ
ถ้ามีสัญญาจ้างทำนองนี้ล่ะก็ไม่ควรทำงานด้วยเลยครับ
อีกเรื่องหนึ่งคือถ้าเซ็นสัญญาจ้างแล้วบริษัทไม่ให้สำเนาสัญญาจ้าง
หรือไม่ให้มีการเซ็นสัญญาจ้างก่อนที่จะไปเริ่มงานที่ใหม่ ผมตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทนั้นยังไม่มีความเป็นมืออาชีพ
และอาจจะมี Hidden
Agenda ของฝ่ายบริหารบางอย่างที่มีแนวโน้มที่ไม่ค่อยดีครับ
6.
ถ้าทำงานที่บริษัทนี้เราจะมี Career Path ที่จะเติบโตก้าวหน้าต่อไปได้มากน้อยแค่ไหน
7.
ตำแหน่ง เงินเดือน ค่าตอบแทนอื่น Total Pay รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ เป็นยังไงบ้าง น่าสนใจหรือไม่ ปกติการเปลี่ยนงานควรจะต้องมีรายได้และตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีกว่าเดิมนะครับ
8.
ไม่ควรตัดสินใจเปลี่ยนงานเพื่อหนีปัญหาปัจจุบันโดยยอมรับเงื่อนไขสภาพการทำงานที่ใหม่ที่แย่กว่าเดิม
ไม่งั้นอาจจะกลายเป็นการหนีเสือปะจระเข้ หนีร้อนไปเจอร้อนกว่าเดิมก็ได้ครับ
หวังว่าทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้จะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่กำลังคิดจะหางานใหม่ให้พิจารณาปัจจัยต่าง
ๆ ให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจและเป็นกำลังใจให้ได้งานที่ใช่นะครับ