วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2567

ทำไมถึงไม่จ่ายเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ?

             คนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนต้องคุ้นเคยรู้จักคำว่าเงินเดือนกันเป็นอย่างดีเพราะเป็นสิ่งที่เราจะต้องได้รับทุกเดือน

            บางบริษัทก็จ่ายเงินเดือนเพียงอย่างเดียว แต่บางบริษัทก็จ่ายเงินเดือนบวก “สารพัดค่า”

          สารพัดค่าคืออะไร ?

            สารพัดค่าคือชื่อที่ผมเรียกขึ้นมาเองนะครับไม่ได้อ้างอิงมาจากตำราไหนทั้งสิ้น

            ที่เรียกสารพัดค่าเพราะว่านอกเหนือจากเงินเดือนแล้ว บริษัทยังจ่ายค่าอื่น ๆ อีกหลายตัว เช่น ค่าครองชีพ, ค่าตำแหน่ง, ค่าภาษา, ค่าวิชาชีพ, ค่ากะ, ค่าเบี้ยขยัน, ค่าน้ำมัน, ค่ารถ, ค่าโทรศัพท์มือถือ, ค่าเช่าบ้าน, ค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ

            บางบริษัทก็จ่ายเงินเดือนให้พนักงานอย่างเดียว 100 เปอร์เซ็นต์

            บางบริษัทก็จ่ายเงินเดือนต่อสารพัดค่า 70/30 บ้าง 80/20 บ้าง 90/10 บ้าง ก็ว่ากันไปตามนโยบายของแต่ละบริษัท

            ปัญหามาเกิดตรงที่ในกฎหมายแรงงานจะมีแต่คำว่า “ค่าจ้าง” ไม่มีคำว่า “เงินเดือน” น่ะสิครับ

          หรือสรุปได้ว่า “เงินเดือนคือค่าจ้าง แต่ค่าจ้างไม่ได้มีเฉพาะเงินเดือน”

            เรามาดูกันนะครับว่าระหว่างการจ่ายเงินเดือน 100 เปอร์เซ็นต์กับการจ่ายเงินเดือนบวกสารพัดค่ามีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง

การจ่ายเงินเดือนอย่างเดียว 100 เปอร์เซ็นต์

ข้อดี

1.      เข้าใจง่าย, การบริหารจัดการเงินเดือนไม่ซับซ้อน

2.      ลดปัญหาความผิดพลาดในการบริหารจัดการเงินเดือน เช่น การใช้เงินเดือนเป็นฐานในการคำนวณสิทธิประโยชน์ให้กับพนักงานตามกฎหมาย เช่น คำนวณค่าโอที, ค่าชดเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า, เงินสมทบส่งประกันสังคม เป็นต้น

ข้อเสีย

1.      บริษัทอาจมี Staff Cost สูงกว่าการจ่ายเงินเดือน+สารพัดค่า เพราะต้องใช้เงินเดือนเป็นฐานในการคำนวณสิทธิประโยชน์ทุกเรื่องให้กับพนักงาน

2.      พนักงานอาจเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นว่าทำไมเขามีค่าโน้นค่านี้ แต่ทำไมเราถึงไม่มี ก็เลยจะเกิดความรู้สึกว่าบริษัทของเราจ่ายน้อยกว่าคนอื่น แต่พนักงานไม่ได้ดูว่าฐานเงินเดือนของเราสูงกว่าคนอื่น เพราะสัจธรรมของคนคือมักจะเอาสิ่งที่ตัวเองไม่มีไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่คนอื่นเขามี แต่จะไม่เอาสิ่งที่เรามีไปเทียบกับสิ่งที่คนอื่นเขาไม่มี

การจ่ายเงินเดือน+สารพัดค่า

ข้อดี

1.      บริษัทสามารถกดฐานเงินเดือนให้ต่ำกว่าคู่แข่งได้ แล้วเปลี่ยนเอาไปใส่ไว้ในสารพัดค่าแทนเพื่อลด Staff Cost บางตัวลงได้

2.      พนักงานรู้สึกว่าตัวเองมีรายได้อื่นมากกว่ามีเงินเดือนเพียงตัวเดียวทำให้รู้สึกว่าเราได้รับเงินมากกว่าบริษัทอื่น

ข้อเสีย

1.      การจ่ายเงินเดือน+สารพัดค่าที่ไม่ได้วางอัตราส่วนอย่างเหมาะสมก็อาจทำให้ Total pay สู้ตลาดไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถรักษาคนในและจูงใจคนนอกให้อยากเข้ามาร่วมงานได้ อาจเกิดสถานการณ์คนในไหลออก คนนอกไม่อยากมา

2.      มีความเสี่ยงที่จะบริหารค่าจ้างเงินเดือนผิดกฎหมายแรงงาน ถ้า HR ไม่นำสารพัดค่าบางตัวที่เข้าข่าย “ค่าจ้าง” เข้ามารวมเป็นฐานในการคำนวณสิทธิประโยชน์ให้กับพนักงาน เช่น โอที, ค่าชดเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า, เงินสมทบส่งประกันสังคม ซึ่งทำให้เกิดการร้องเรียน, ฟ้องร้อง ทำให้บริษัทแพ้คดีหรือเสียค่าปรับในที่สุด

เมื่อทราบอย่างนี้แล้วก็คงขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารของแต่ละบริษัทแหละครับว่าจะมีนโยบายในการจ่ายค่าตอบแทนยังไงถึงจะเหมาะสม ซึ่งไม่มีถูกไม่มีผิดเพราะแต่ละแบบก็มีข้อดี-ข้อเสียที่ต้องคิดให้ดีก่อนตัดสินใจ

แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนคือต้องมีความเสมอภาคและเป็นธรรม สามารถแข่งขันกับตลาดได้ และบริษัทมีขีดความสามารถในการจ่ายได้ครับ