วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

เด็กยุคใหม่ไม่อดทนทำงานได้ไม่นานก็ลาออก..จริงหรือ ?

            ผมมักจะได้ยินผู้บริหารระดับต้นไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงบ่นให้ฟังอยู่บ่อยครั้งในทำนองว่า “เด็กสมัยนี้ทำงานไม่อดทน ไม่สู้งาน ทำงานแป๊บเดียวก็ลาออกแล้วดูสิ..นี่ก็ต้องสัมภาษณ์หาคนใหม่มาแทนอีกไม่รู้จะเป็นเหมือนเดิมอีกหรือเปล่า....ฯลฯ

 

            พอได้ยินคำบ่นทำนองนี้ก็ต้องถามกลับไปว่า “บริษัทมีการปฏิบัติกับพนักงานใหม่ (ที่ผมขอเรียกว่า “น้องใหม่”  นะครับยังไงกันบ้าง ?”

 

            ลองมาสำรวจดูไหมครับว่าบริษัทของเรามีวิธีการรับน้องใหม่อย่างที่ผมจะพูดต่อไปนี้บ้างหรือไม่

 

1. บริษัทไม่เคยมีการปฐมนิเทศ หรือแจ้งให้น้องใหม่รู้เรื่องอะไรเลยในวันแรกที่เข้าทำงาน

 

             ยังจำบรรยากาศการทำงานในวันแรกได้ไหมครับ เราเป็นพนักงานใหม่ที่ไม่รู้จักใครเลยในบริษัท แล้วเราก็ก้าวเข้ามาทำงานในบริษัทนี้ตอนเช้าซึ่งเราอาจจะไปเช้ามาก 

 

            ไปก่อนใครจนรปภ.มาถามว่า “มาติดต่อใคร” เราก็บอกว่ามาเริ่มงานวันแรกเขาก็ให้เราไปนั่งบริเวณที่รับแขก 

 

             หลังจากนั้นเมื่อมีพนักงานทะยอยมาทำงานก็จะเดินผ่านเราไปมา ผ่านมาแล้วผ่านไปเหมือนมองไม่เห็นเรา หรือเราเป็นมนุษย์ล่องหนไม่มีตัวตน

 

            ซ้ำร้ายกว่านั้นแม้แต่ฝ่ายบุคคล (ซึ่งคงไม่ใช่คนที่เป็นมืออาชีพด้านนี้แต่คงเป็นใครสักคนที่บริษัทอุปโลกน์ให้เป็น “HR” แล้วทุกคนก็เชื่อสนิทใจว่าคน  นั้นคือ HR) ก็ไม่ได้พาไปแนะนำตัวกับหัวหน้าในหน่วยงานที่น้องใหม่จะต้องไปทำงาน และแน่นอนว่าไม่มีการปฐมนิเทศบอกเรื่องราวต่าง  เกี่ยวกับบริษัทหรือเกี่ยวกับงานที่ต้องรับผิดชอบ

 

             อาจจะมีเพียงใครสักคนมาเรียกให้น้องใหม่เดินตามไปแล้วพาไปที่แผนกที่น้องใหม่ไปทำงานแล้วก็บอกว่าให้เข้าไปพบกับพี่คนนั้นแหละที่แกกำลังสั่งงานลูกน้องอยู่นั่นแหละ 

 

             พอน้องไปเดินไปหาพี่คนที่ว่านั้นก็อาจจะแค่รับไหว้ทักทายแล้วก็บอกให้ไปช่วยพี่อีกคนทำงาน (งานอะไรก็ยังไม่บอกให้ชัดเจนไม่มีการอธิบายเรื่องราวต่าง หรือสรุปงานให้น้องใหม่ได้มีความเข้าใจเบื้องต้น 

 

            หรือแม้แต่ JD (Job Description) ก็ไม่มีให้น้องใหม่ได้อ่านว่าเขาจะต้องรับผิดชอบงานอะไรบ้าง

 

             ลองคิดกลับกันว่าถ้าเราเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้ามาในบริษัทแห่งนี้บ้าง เราจะรู้สึกยังไง ?

 

2. ไม่มีแผนการสอนงานที่ชัดเจน

 

            ข้อนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากข้อแรกน่ะครับ เพราะเมื่อมีการรับน้องใหม่แบบที่ผมอธิบายในข้อ 1 ไปแล้วหัวหน้าหน่วยงานนั้น  ก็จะมอบหมายให้ใครสักคนมาสอนงานน้องใหม่ ซึ่งคนที่มาสอนงานน้องใหม่อาจจะได้รับการอุปโลกน์แบบให้ดูดีก็เรียกว่าเป็น “พี่เลี้ยง” 

 

              แต่ที่สำคัญคือพี่เลี้ยงที่จะต้องเป็น “ครู”  สอนงานน้องใหม่ก็ดันไม่มี “แผนการสอนงาน” น่ะสิครับ 

 

             คำว่าแผนการสอนงานที่ผมพูดถึงนี้อธิบายอย่างง่าย  คือ ควรจะต้องมีแผนที่ชัดเจน เช่น 

 

           1. เราจะสอนงานเรื่องอะไรให้น้องใหม่ได้รู้บ้างมีกี่เรื่องกี่หัวข้อที่สำคัญ  

 

           2. ในแต่ละเรื่องแต่ละหัวข้อที่สอนน่ะมีเนื้อหา (Outline) อะไรบ้าง 

 

           3. แต่ละหัวข้อที่จะสอนนั้นใช้เวลาสอนกี่ชั่วโมงหรือกี่วันโดยประมาณ 

 

           4. กำหนดเป้าหมาย หรือ KPIs ในการสอนงานให้ชัดเจนบ้างไหม เช่น เมื่อสอนงานเสร็จแล้วน้องใหม่จะต้องผลิตสินค้าให้ได้ 50 ชิ้นต่อชั่วโมง ถ้าสอนงานเสร็จแล้วน้องใหม่ยังทำไม่ได้ตามนี้ต้องมาดูกันแล้วว่าเกิดปัญหาอะไรทำไมถึงทำไม่ได้ตามเป้าหมายเพื่อแก้ไขต่อไป 

 

           5. แต่ละเรื่องที่จะสอนนั้นควรจะสอนเมื่อไหร่ เช่น สอนภายในสัปดาห์แรกหรือภายในสองสัปดาห์แรกเป็นต้น 

 

           6. ใครเป็นผู้รับผิดชอบการสอนงาน

 

            ถ้าหน่วยงานหรือบริษัทไหนไม่มีแผนการสอนงานอย่างที่ผมบอกมานี้ ก็บอกได้เลยครับว่าการสอนงานน้องใหม่จะเป็นแบบมั่ว  เป็นการบอก  หรือชี้  สั่ง ๆ ให้ทำ 

 

           ซ้ำร้ายกว่านั้นก็จะเอางานของคนเก่าที่ลาออกไปที่สุมรอเหยื่อมาเคลียร์มาเทใส่น้องใหม่แล้วก็มีคนมาชี้ ๆ สั่ง ๆ ให้น้องใหม่เคลียร์งานเหล่านั้น

 

           แน่นอนว่าการทำแบบนี้จะทำให้น้องใหม่สับสน ซ้ำร้ายถ้าน้องใหม่ทำไม่ถูกต้องก็โดนด่าโดนตำหนิจากพี่เก่าที่คอยคุมงานอีกต่างหาก

 

            ถามใจดูว่าถ้าเราเป็นน้องใหม่แล้วโดนแบบนี้เรายังอยากทำงานที่นี่ต่อไปไหมล่ะครับ ?

 

3. ผู้คนในแผนกที่น้องใหม่ไปเริ่มงานหรือในบริษัทไม่ทักทาย หรือมีกิริยาอาการต้อนรับ

 

            อันนี้ก็จะเห็นได้บ่อย   คือพนักงานเก่าที่อยู่มาก่อนก็จะมองน้องใหม่เหมือนมนุษย์ต่างดาวหรือตัวอี.ที.อะไรทำนองนั้น ซึ่งผมว่าการที่พนักงานเก่าเข้ามาทักทายโอภาปราศัย สร้างความอบอุ่นเป็นกันเองในครั้งแรกที่น้องใหม่ก้าวเข้ามาจะเป็นความรู้สึกประทับใครครั้งแรก (First Impression) ที่ดีนะครับ 

 

             การพูดจาทักทายให้น้องใหม่คลายกังวลน่ะจะดีกว่าการมองผ่าน   ยิ่งเมื่อถึงช่วงพักเที่ยงยิ่งควรจะออกปากชักชวนน้องใหม่ไปกินข้าวกลางวันด้วยกันยิ่งจะเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันในวันแรก ดีกว่าปล่อยน้องใหม่ให้เคว้งคว้างไม่รู้จะไปไหนดี หรือไปหาที่กินข้าวกลางวันคนเดียวจริงไหมครับ

 

            ผมขอยกตัวอย่างวิธีปฏิบัติกับน้องใหม่แบบที่ไม่ควรจะทำมาให้ดูเป็นตัวอย่างสัก 3 ข้อข้างต้นก่อน เพื่อเป็นกระจกเงาสะท้อนไปยังบริษัทที่บ่นว่า “เด็กรุ่นใหม่ทำงานไม่อดทน อยู่ไม่นานก็ลาออก” นั้นน่ะ ในบริษัทนั้น  มีการปฏิบัติกับน้องใหม่อย่างมืออาชีพแล้วหรือยัง

 

            ถ้าบอกว่าเด็กยุคใหม่ไม่อดทนทำงานได้ไม่นานก็ลาออกเป็นปัญหา คนที่เป็นหัวหน้าก็ควรที่จะคิดแก้ปัญหาโดยกำหนดเป้าหมายสิครับว่าเราควรทำยังไงเพื่อลดการลาออกของน้องใหม่ให้ได้

 

            หนึ่งในคุณสมบัติของคนเป็นผู้นำที่ดีคือการแก้ปัญหาให้สำเร็จ ไม่ใช่เอาแต่บอกตัวปัญหาให้คนอื่นฟังโดยไม่คิดทำอะไร

 

           ไอน์สไตน์เคยบอกว่ามีแต่คนเสียสติเท่านั้นแหละที่ทำทุกอย่างเหมือนเดิม แต่หวังให้ผลลัพธ์ดีขึ้น

 

            จริงไหมครับ