หนึ่งในวิธีการปรับเงินเดือนที่ผมเคยเห็นมาในบางบริษัทคือเมื่อพนักงานผ่านทดลองงานแล้ว บริษัทก็จะปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากอัตราเดิมตอนที่รับเข้ามา
เช่น
บริษัทรับพนักงานจบปริญญาตรีเข้าใหม่มีอัตราเริ่มต้นที่ 15,000 บาท ถ้าพนักงานรายนี้ผ่านทดลองงานก็จะปรับเงินเดือนเพิ่มเป็น 16,000
บาท
หรือบริษัทรับพนักงานเข้ามาในตำแหน่ง
Supervisor
อัตราเริ่มต้น 25,000 บาท
เมื่อผ่านทดลองงานก็จะปรับเพิ่มให้เป็น 27,000 บาท เป็นต้น
จากตัวอย่างข้างต้นสงสัยไหมครับว่าทำไมบริษัทที่ทำแบบนี้ถึงไม่ตั้งเงินเดือนเริ่มต้นให้เป็น
16,000 หรือ 27,000 บาทตั้งแต่ตอนแรกเข้า
ทำไมต้องรอให้ผ่านทดลองงานด้วย
เหตุผลของบริษัทที่มีนโยบายอย่างนี้ก็คงจะเป็นอย่างนี้ครับ
1.
ลดการจ่ายค่าชดเชย+ค่าตกใจกรณีเลิกจ้าง : โดยบริษัทอยากจะขอดูผลงานในระหว่างทดลองงานเสียก่อน
ถ้าผลงานดีผ่านทดลองงานก็จะปรับให้ แต่ถ้าผลงานไม่ดีแล้วปะเหมาะเคราะห์ไม่ดีจะเลิกจ้างเนื่องจากไม่ผ่านทดลองงาน
บริษัทจะได้ลดค่าใช้จ่ายในการจ่ายค่าชดเชยและค่าตกใจลงได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการจ่ายเต็มอัตราตั้งแต่แรก
2.
ทำให้พนักงานเข้าใหม่ให้เกิดแรงจูงใจและตั้งใจทำงาน
: แนวคิดนี้ก็จะเชื่อว่าเมื่อบริษัทแจ้งให้พนักงานทราบว่าเมื่อทำงานดีมีผลงานสามารถผ่านทดลองงานได้
พนักงานก็จะได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากเดิมก็ย่อมจะทำให้พนักงานตั้งใจทำงานมากกว่าได้รับเงินเดือนเท่ากับตอนที่เข้ามาใหม่
จากเหตุผลข้างต้นของฝั่งบริษัทก็คงจะต้องมาดูด้วยว่าโอกาสที่พนักงานจะไม่ผ่านทดลองงานมีมากน้อยแค่ไหน
เพราะแทบทั้งหมดก็มักจะผ่านทดลองงานซึ่งจะมีส่วนน้อยมากที่ไม่ผ่านทดลองงาน
ถ้าบริษัทมีนโยบายอย่างนี้ทำให้พนักงานขาดส่วนต่างของเงินเดือนไปประมาณ
4 เดือน ก็อาจจะไม่ได้ทำให้เกิดแรงจูงใจเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันอาจทำให้พนักงานเกิดทัศนคติเชิงลบกับบริษัทมากกว่าหรือไม่
ยังไงก็ตามเมื่อนำเหตุผลข้างต้นมาหักกลบลบกันดูแล้ว
ถ้าบริษัทไหนจะมีนโยบายปรับเงินเดือนเพิ่มให้หลังจากผ่านทดลองงานแล้วก็ไม่ได้ผิดกฎหมายแรงงานอะไร
และเป็นสิทธิที่บริษัทสามารถจะทำได้นะครับ
แต่ผมมีข้อสังเกตและข้อคิดเกี่ยวกับนโยบายนี้เผื่อว่าจะนำไปทบทวนนโยบายการปรับเงินเดือนหลังทดลองงานของท่านอย่างนี้ครับ
จากตัวอย่างการปรับเงินเดือนข้างต้น
เมื่อเรามาเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์การปรับเงินเดือนขึ้นเมื่อผ่านทดลองงานอย่างในกรณีที่
1 ปรับเพิ่มจาก 15,000 บาทเป็น 16,000 บาท เพิ่มขึ้น 6.7%
หรือกรณีที่ 2 ปรับเพิ่มขึ้นจาก
25,000 บาท เป็น 27,000 บาท เพิ่มขึ้น 8%
จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 กรณีมีเปอร์เซ็นต์การปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเกิน
5% ซึ่งมากกว่าเปอร์เซ็นต์ขึ้นเงินเดือนประจำปีตามค่าเฉลี่ยของตลาด
(บ้านเรามีเปอร์เซ็นต์ขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ย 5% มาตั้งแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี
2540 ครับ)
ซึ่งค่าเฉลี่ยการปรับเงินเดือนประจำปี
5% เป็นเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือน (โดยเฉลี่ย) ของคนที่ทำงานมาตลอดทั้งปี
ในขณะที่เราปรับเงินเดือนเพิ่มให้กับพนักงานทดลองงานที่มีระยะเวลาทำงานไม่เกิน 120
วัน แสดงว่าผลงานของคนทำงานมาประมาณ 4 เดือนสมควรได้รับผลตอบแทนโดยเฉลี่ยเท่ากับหรือมากกว่าคนที่ทำงานมาตลอด
12 เดือนเลยหรือ
และที่สำคัญคือหลายบริษัทก็ไม่มีแผนการสอนงานพนักงานทดลองงานที่ชัดเจน
ไม่มีการกำหนดเป้าหมายตัววัดผลการทำงานแล้วแจ้งให้พนักงานทดลองงานทราบว่าต้องทำงานอะไรยังไงถึงจะเป็นไปตามเป้าหมายและผ่านทดลองงาน
อีกหลายบริษัทก็ยังมองพนักงานทดลองงานน้องใหม่เป็นเหยื่อที่พอเข้ามาทำงานปุ๊บก็จะเอางานที่สุมกองเป็นตั้งที่ตั้งแต่คนเก่าลาออกไปแล้วยังไม่มีใครเคลียร์งานเหล่านี้เลย
มาเทใส่พนักงานเข้าใหม่ถ้าทำได้ก็ผ่านทดลองงาน ถ้าทำไม่ได้ก็ลาออกไป
หวังว่าข้อคิดเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการคิดทบทวนนโยบายนี้ดูอีกครั้งนะครับ