วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2565

การประเมินผลงานกับการบริหารค่าตอบแทน ถ้ายังมองแบบแยกส่วนก็ยังมีปัญหาต่อไปเรื่อยๆ

             เรื่องที่ผมจะแชร์ต่อไปนี้ก็อยากจะให้เป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับบริษัทต่าง ๆ ที่ยังมีปัญหาวนเวียนซ้ำซากเกี่ยวกับการประเมินผลงานที่มักจะเรียกให้หรู ๆ ดูดีว่า Performance Management System (PMS)

ถึงแม้จะเรียกชื่อให้หรู ดูมีพิธีกรรมในการทำแผนกลยุทธ์หรือกำหนดตัวชี้วัดหลัก (หรือ KPI) ทางทฤษฎีที่ “เขาว่า” กันมาสักเท่าไหร่ ถ้าไม่ได้นำเรื่องนี้มาเชื่อมโยงกับการบริหารค่าตอบแทนอย่างเป็นระบบที่ชัดเจน แถมยังคงทำแบบแยกส่วนก็จะยังคงวนเวียนอยู่ในปัญหาเดิม ๆ แบบนี้ต่อไป

            ผมสรุปลำดับปัญหาเป็นข้อ ๆ ดังนี้ครับ

1.      ทุกบริษัทจะมีการประเมินผลงานและนำผลการประเมินไปใช้หลัก ๆ คือการขึ้นเงินเดือนประจำปี, การปรับเงินเดือนพิเศษ, การจ่ายโบนัส, การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง

2.      ระบบการประเมินแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ 2 กลุ่มคือ

2.1   การประเมินแบบจิตสัมผัส (Rating Scale)

2.2   การประเมินแบบมีตัวชี้วัด (KPI) เช่น MBO, BSC หรือวันนี้หลายที่ก็รวม OKR เข้ามาไว้ในกลุ่มนี้

3.      ปัจจุบันมักจะใช้การประเมินผลแบบมีตัววัดหลักหรือ KPI โดยบริษัทก็จะให้ความรู้กับพนักงาน (โดยจ้างวิทยากรมาสอน) และให้หัวหน้านำสิ่งที่เรียนรู้ไป Implement ที่หน้างานที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่โดยไปกำหนดตัวชี้วัดให้กับลูกน้องของแต่ละคนไปตามที่ได้รับการเรียนรู้มา

4.      ปัญหาเกิดตรงการนำมา Implement นี่แหละครับ คือหัวหน้าก็จะเรียนรู้ว่าจะต้องทำแผนกลยุทธ์ของหน่วยงานยังไงให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท จะต้องกำหนด KPI ของหน่วยงานและตัวบุคคลยังไงให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ ฯลฯ

5.      ปัญหาที่มักเกิดขึ้นคือหลายบริษัทไม่มีการตกลงร่วมกัน (บางแห่งจะเรียกว่า Business Plan) เพื่อดู KPI ของแต่ละหน่วยงานว่าสอดคล้องหรือขัดแย้งกันไหมเพื่อจะได้ปรับจูนให้สอดคล้องกัน แต่กลับกลายเป็นต่างฝ่ายต่างกำหนด KPI (ที่บ่อยครั้งไม่ใช่ตัววัดหลักที่สำคัญ) ของตัวเองไปตามความเข้าใจ (ที่ผิดบ้างถูกบ้าง) ของหัวหน้าแต่ละคนแต่ละฝ่าย

ผลคือมักจะเห็น KPI ที่เน้นเชิงปริมาณ KPI ที่ประหลาด ๆ เช่นทำทุกอย่างให้ลูกค้าพึงพอใจแต่ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มมากขึ้นยังไงไม่สนใจ หรือ KPI ในงาน Routine ที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรที่ไม่ใช่ตัววัดที่สำคัญ ฯลฯ

6.      การกำหนด KPI หลายแห่งจึงกลายเป็น “พิธีกรรม” ที่ต้องทำตามนโยบาย คล้าย ๆ กับการแก้บนตามที่นายสั่งมา หากจะนำผลการประเมินไปใช้ต่อในเรื่องการขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสให้สอดคล้องกับผลการประเมินก็จะมีปัญหา ซึ่งจะเห็นได้ว่าสาเหตุหลักของปัญหานี้ทั้งหมดมักจะมาจากหัวหน้าผู้ประเมินที่ขาดความเข้าใจ, ต่อต้านระบบ, มีอคติกับลูกน้อง ฯลฯ ไม่ได้เกิดจากระบบตัวชี้วัดที่ไม่ดีแต่อย่างใด

แปลกแต่จริงว่าในหลายองค์กรแทนที่จะแก้ปัญหาที่ตัวหัวหน้าผู้ประเมิน กลับไปแก้ปัญหาโดยเปลี่ยนระบบการประเมินโดยไปโทษว่าระบบการประเมินเดิมไม่ดีจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบ (ให้เสียเงินเปล่า) ซะงั้น

7.      ตอนเรียนรู้วิธีการกำหนด KPI นั้น ไม่เคยมีการพูดถึงว่าเมื่อหัวหน้าประเมินผลลูกน้องแต่ละคนเสร็จแล้ว จะต้องนำผลการประเมินลูกน้องในแต่ละเกรดไปใช้ต่อยังไง เช่น อธิบายว่าหัวหน้าจะต้องบริหารงบประมาณขึ้นเงินเดือนประจำปี (หรืองบประมาณจ่ายโบนัส) ที่ได้รับการจัดสรรมายังไงให้สอดคล้องกับผลประเมินลูกน้องแต่ละคน และต้องไม่เกินงบประมาณขึ้นเงินเดือนของหน่วยงานที่ได้รับมา

8.      ผมยกตัวอย่างให้ดูง่าย ๆ เช่น สมมุติบริษัทมี Payroll เงินเดือนพนักงานทั้งบริษัท 1 ล้านบาท เมื่อ Board อนุมัติมาว่าให้ขึ้นเงินเดือนประจำปีนี้ได้ไม่เกิน 5% ก็หมายความว่าจะต้องขึ้นเงินเดือนคนทั้งบริษัทได้ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งควรจะต้องเป็นหน้าที่ของผู้บริหารทุกหน่วยงานในการช่วยกันควบคุมงบประเมินไม่ให้เกินนี้

9.      แต่หลายบริษัทกลับเอาหน้าที่การควบคุมงบประมาณนี้ไปให้MD หรือ HR เป็นคนหยอดเงินตามผลการประเมินตามที่แต่ละฝ่ายส่งมาให้ HR โดยที่หัวหน้าแต่ละหน่วยงานไม่ต้องมารับผิดชอบเรื่องการหยอดเงินให้ลูกน้อง

10.   เมื่อเป็นอย่างนี้ก็จะพบว่าหลายหน่วยงานจะกำหนด KPI แบบง่าย ๆ หรือกำหนด KPI เชิงปริมาณ กำหนด KPI แบบ Routine ทั่วไป ฯลฯ แบบใคร ๆ ก็ทำได้ ก็จะทำให้ผลการประเมินลูกน้องอยู่ในเกรด A หรือ B เป็นส่วนใหญ่ แล้วก็ส่งผลประเมินมาให้ HR หยอดเงิน

11.   แน่นอนว่า HR จะต้องส่งผลประเมินกลับไปให้หัวหน้าจัดเกรดใหม่ เพราะเกินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติมาจาก Board เนื่องจาก 5% คือค่าเฉลี่ยที่คนส่วนใหญ่ได้เกรด C และจะมีคนส่วนน้อยที่มีผลงานดี (จริง ๆ) เช่น เกรด B อาจจะได้ 8% เกรด A อาจจะได้ 10% และคนส่วนน้อยที่มีผลงานแย่กว่าค่าเฉลี่ย เช่น เกรด D อาจจะได้ 2% และเกรด E แย่สุดไม่ได้ขึ้นเงินเดือน

12.   พอหัวหน้าโดน HR ส่งผลประเมินกลับมาให้เกลี่ยใหม่ก็ต้องบอกลูกน้องว่าที่ต้องลดเกรดลงเพราะ HR สั่งมา ก็เกิดดราม่าว่า “ใคร ๆ ก็เกลียด HR” ทำไมต้องมี Normal Curve, ทำไมต้องมากดเกรดกันด้วย, หวงเกรดอะไรกันนักหนา, ลูกน้องฉันจะเก่งจะมีคุณค่าทุกคนไม่ได้หรือไง ฯลฯ

ทั้งหมดที่ผมแชร์มานี้คือปัญหาของการไม่มองการประเมินผลงานให้เชื่อมโยงกับการบริหารค่าตอบแทนครับ !!

13.   ปัญหาที่ผมเล่าให้ฟังมาตั้งแต่ต้นตามลำดับคงจะทำให้ท่านได้เห็นแล้วว่าเกิดจากการมองระบบการประเมินผลงานแบบแยกออกจากการบริหารค่าจ้างเงินเดือน โดย Line Manager ไม่ได้มอง (หรืออาจลืมไปว่า) อีกด้วยว่าทุกบริษัทจะต้องมีข้อจำกัดเกี่ยวกับงบประมาณการขึ้นเงินเดือนประจำปีทั้งสิ้นและต้องมีส่วนร่วมในการควบคุมงบประมาณตัวนี้ด้วย ซึ่งค่าเฉลี่ยของตลาดในการขึ้นเงินเดือนประจำปี = 5% เป็นมาไม่ต่ำกว่า 15 ปีแล้วครับ !!

14.   ผมเคยทำตัวเลขค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของบ้านเราย้อนหลัง 15 ปีไปแล้วว่าเรามีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยปีละ 9% ในขณะที่เรามีอัตราการขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ยปีละ 5% จะเห็นได้ว่าตลาดภายนอกบริษัทมีการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าตลาดภายในบริษัท

15.   เมื่อมองในมุมของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนแล้วมักจะพบว่าการกำหนดเป้าหมายให้บรรลุของบริษัทมักจะเขียนไว้อย่างสวยงาม เช่น ต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น.....ล้านบาท, ต้องมีกำไรเพิ่มขึ้น.....ล้านบาท ฯลฯ ในขณะที่ในมุมมองของการบริหารค่าตอบแทนจะเห็นว่าถ้าหากพนักงานทำได้ตามเป้าหมายก็จะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนอยู่ในค่าเฉลี่ยประมาณ 5%

หรือจะเรียกว่าเป้าหมายระดับจักรวาลแต่ตอบแทนผลงานระดับอบต.ก็ว่าได้ !

ที่ผมพูดมาถึงตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเรียกร้องให้ทุกบริษัทต้องมาปรับงบประมาณขึ้นเงินเดือนให้มากกว่า 5% หรอกนะครับ เพียงแค่อยากจะชี้ให้เห็นปัญหาของการประเมินผลงานที่วาดภาพไว้สวยหรูดูแพง แต่พอนำระบบการประเมินผลงานมา Implement จริงแล้วทำไมถึงไม่เวิร์ค

เพราะเมื่อมีการนำผลการประเมินไปใช้แล้วถ้าไม่ได้มองผลตอบแทนที่กลับมายังคนทำงานอย่างสอดคล้องกัน มันก็ยังไม่จูงใจผู้ปฏิบัติอยู่ดี ซึ่งก็ต้องเป็นโจทย์ของฝ่ายบริหารที่จะต้องมองภาพนี้แบบ Bird eye view ให้เห็นความเชื่อมโยงทั้งสองด้านไม่ใช่มองแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง

ฝ่ายบริหารก็อยากจะให้พนักงานทำงานให้เต็มที่เพื่อหวังจะให้บริษัทมี ROI (Return on Investment) หรือมีรายได้/กำไรที่เพิ่มสูงขึ้น

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าทางฝั่งพนักงานก็คาดหวัง ROI ในด้านของตัวเองด้วยเช่นเดียวกัน คือเมื่อเขามีส่วนร่วมทำให้บริษัทถึงฝั่งฝันตามเป้าหมายแล้วจะได้รับอะไรตอบแทนกลับมาจากผลงานที่เขาทำบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าพนักงานส่วนใหญ่คือคนที่ทำงานได้ตามค่าเฉลี่ยและยังถูกจำกัดด้วยงบประมาณ

โจทย์ที่ท้าทายคือจะบริหารความสมดุลระหว่างการประเมินผลการปฏิบัติงานกับการบริหารค่าตอบแทนยังไงให้เหมาะสม

เมื่อมองภาพรวมให้เห็นปัญหานี้ได้ชัดเจนแล้วจะแก้ปัญหานี้ยังไงต่อไปก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายบริหารแล้วแหละครับ