ท่านเคยมีอาการ “รักวันศุกร์ เกลียดวันจันทร์” หรือมีอาการเหมือนกับเด็กไม่อยากไปโรงเรียนบ้างไหมครับ ?
รู้สึกว่างานที่ทำมันเริ่มจะไม่สนุกแล้ว
เริ่มหมด Passion
ทำงานไปจนเหมือนกับเป็น Routine ชนิดหลับตาก็ทำได้
งานที่ทำก็ซ้ำ ๆ งานวันนี้ก็เหมือนที่ทำไปเมื่อวานนี้ เหมือนเมื่อเดือนที่แล้ว
เหมือนเมื่อหลายปีที่แล้ว ทำงานไปก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปไหน เงินเดือนที่ได้ก็งั้น ๆ
ฯลฯ
เมื่อมีอาการทำนองนี้คำว่า
“ลาออก” ก็เริ่มดังขึ้นในหัวของเรา
การลาออกมันไม่ยากหรอกครับ
แค่เขียนใบลาออกแล้วไปยื่นให้กับหัวหน้ามันก็จบแล้วล่ะ เมื่อถึงวันที่เราระบุเอาไว้ในใบลาออกก็จะมีผลทันทีตามกฎหมายแรงงาน
แต่การลาออกไม่ใช่การสิ้นสุดของปัญหา
มันเป็นเพียงการเริ่มต้นของปัญหาในอนาคตต่อไปของตัวเราเองต่างหาก
ถ้าเราไม่มีการวางแผนที่ดีและมีสติคิดให้ดีก่อนยื่นใบลาออก
วันนี้ผมก็เลยทำเช็คลิสต์มาเพื่อดึงสติท่านที่กำลังคิดจะลาออก
แล้วลองให้คะแนนตัวเองในแต่ละปัจจัยดูว่าความหนัก-เบาของปัญหาที่เรากำลังเจออยู่น่ะมันเลเวล
(Level)
ไหน และเมื่อรวมคะแนนทั้งหมดทุกปัจจัยและคิดอย่างถี่ถ้วนรอบด้านแล้วเราควรจะตัดสินใจลาออกหรือเปล่า
ตามไปเช็คลิสต์ตัวเองที่ด้านล่างนี้ได้เลยครับ
เมื่อทำเช็คลิสต์แล้ว
คิดใคร่ครวญอย่างรอบคอบแล้วและยังตัดสินใจว่าจะลาออกจากที่ทำงานปัจจุบัน
ผมก็อยากจะให้ข้อคิดเพิ่มเติมเผื่อเป็นประโยชน์อย่างนี้ครับ
1. ประเมินศักยภาพ/ความสามารถของตัวเอง
(ด้วยใจเป็นกลางไม่เข้าข้างตัวเอง) ให้ดีว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร ถนัดเรื่องไหน อยากทำงานด้านไหน
เป้าหมายในชีวิตของเราอยากจะทำอะไรกันแน่
2.
ถ้าตัดสินใจลาออกจากที่ปัจจุบัน
เรามีแผนจะทำอะไรต่อไป แผนที่ผมพูดถึงนี้ต้องเป็นแผนที่เกิดขึ้นได้จริงแบบเป็นรูปธรรมนะครับ
ไม่เอาแผนแบบเพ้อฝันลอยลม เช่น
2.1
ถ้าจะยังเดินทางในสายลูกจ้าง
ก็ควรจะต้องได้งานใหม่เสียก่อนถึงค่อยไปยื่นใบลาออก
2.2
ถ้าไม่อยากเป็นลูกจ้างแล้วจะทำกิจการของตัวเองก็ยิ่งต้องมีการเตรียมตัวให้ดีในทุก
ๆ ด้าน
3.
ไม่ควรเปลี่ยนงานเพราะอารมณ์ความรู้สึกว่าสะใจ
เรากุมความลับ เรารู้งานดีที่สุดอยู่คนเดียว ถ้าเราลาออกซะคน บริษัทปั่นป่วนวุ่นวายแน่ ขาดฉันแล้วบริษัทจะรู้สึก ได้แก้แค้นหัวหน้าแก้แค้นบริษัท ฯลฯ การตัดสินใจลาออกด้วยอารมณ์แบบนี้มีแต่จะทำให้ตัวเราเองมีปัญหาต่อไปในภายหน้า
4.
ไม่ควรตัดสินใจทำงานในที่ใหม่เพียงเพราะคิดว่าเอาที่ไหนก็ได้ไว้ก่อน
เพราะที่ปัจจุบันเราอยู่ไม่ได้แล้วซึ่งความจริงที่ปัจจุบันก็อาจจะยังไม่เลวร้ายถึงขนาดนั้น
แต่ความรู้สึกของเรามัน Overreact
เล่นใหญ่รัชดาลัยเกินไป ถ้าเป็นอย่างงี้มีหวัง “หนีเสือปะจระเข้”
5.
ไม่ควรเปลี่ยนงานบ่อยแบบ Job Hopper ทำแต่ละที่ไม่เกินปี (หรืออาจจะบ่อยกว่านั้น) เบื่อที่ไหนก็พร้อมจะบินไปที่อื่น
ผมเคยเห็น Profile ของผู้สมัครงานบางคนที่ดูเหมือนจะเก่งมีความสามารถและคิดว่าตัวเองมีฝีมือ
แต่เปลี่ยนงานบ่อย เพราะเปลี่ยนงานทีไรก็ได้อัพค่าตัวขึ้นอยู่เสมอ
แต่พอเวลาผ่านไปก็พบว่าเก่งแบบกลวง ๆ ทำให้เสีย Career Path จากดาวรุ่งกลายเป็นดาวร่วง
เพราะเปลี่ยนงานบ่อยเกินไปจนบริษัทไม่กล้ารับเข้าทำงานเพราะกลัวว่าจะมาอยู่กับบริษัทเหมือนเป็นศาลาพักร้อน
หวังว่าเรื่องที่ผมเล่ามานี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังคิดที่จะลาออก
และเมื่อตัดสินใจแล้วก็ผูกเชือกรองเท้าให้แน่นแล้วเดินหน้าได้เลยครับ