ก่อนจะคุยกันในเรื่องนี้ผมขอทำความเข้าใจให้ตรงกันเกี่ยวกับศัพท์เทคนิคสักเล็กน้อยก่อนนะครับ
นั่นคือคำว่า “ลาพักร้อน”
ที่เราพูดกันจนติดปาก
ในกฎหมายแรงงานไม่มีคำว่า “ลาพักร้อน”
นะครับ เพราะมันไม่ใช่วันลา แต่มันเป็น “วันหยุดพักผ่อนประจำปี” ต่างหาก
“วันหยุด” ในทางกฎหมายแรงงานมี 3 ประเภทคือ
1.
วันหยุดประจำสัปดาห์ ตามมาตรา 28 “ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์
สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า 1 วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกินหกวัน.....”
2.
วันหยุดประเพณี
(หรือเรามักเรียกกันว่าวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตามมาตรา 29 “ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบสามวันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ให้นายจ้างพิจารณากำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี
วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น….”
3.
วันหยุดพักผ่อนประจำปี
(ที่เรามักจะเรียกว่า “วันลาพักร้อน” นี่แหละครับ) มาตรา 30 “ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงานโดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน
ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่าหกวันทำงานก็ได้ นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อๆ
ไปได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี
นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้”
ท่านสังเกตที่ผมทำตัวหนาและขีดเส้นใต้ไว้ให้เห็นทั้ง
3 ข้อข้างบนไหมครับ ?
นั่นคือวันหยุดทั้ง 3 กรณีข้างต้นนั้น ตามกฎหมายแรงงานกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดหรือจัดให้ลูกจ้างได้หยุด
เพราะเป็นสิทธิของลูกจ้างที่นายจ้างจะต้องจัดให้ตามกฎหมาย
เมื่อทำความเข้าใจในเรื่องสิทธิของลูกจ้างในเรื่องวันหยุดพักผ่อนประจำปีกันแล้ว
เราลองมาดูกรณีดังต่อไปนี้จะได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
แต่เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันในที่นี้ผมขอใช้คำว่า “ลาพักร้อน” ตามภาษาของคนทำงานก็แล้วกันนะครับ
อุดมมีสิทธิลาพักร้อน 10 วันในปีนี้
แต่ตลอดทั้งปีอุดมก็ทำงานไปโดยไม่เคยขอลาพักร้อนเลย
(ซึ่งตามระเบียบของบริษัทบอกไว้ว่าถ้าพนักงานจะลาพักร้อนก็ต้องยื่นใบลาพักร้อนล่วงหน้าเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาเสียก่อน
เมื่อผู้บังคับบัญชาอนุญาตพนักงานถึงจะหยุดพักร้อนได้และวันลาพักร้อนเมื่อไม่ใช้ในปีไหนก็ให้ตัดทิ้งไปไม่มีการสะสมวันลาพักร้อน)
เมื่อเป็นอย่างงี้ทั้งบริษัทและอุดมก็จะเข้าใจกันเอาเองว่าถ้าปีไหนพนักงานไม่ใช้สิทธิลาพักร้อน
หรือใช้สิทธิลาพักร้อนไม่หมดเช่นกรณีอย่างนี้ ก็ถือว่าพนักงานสละสิทธิลาพักร้อนเอง
(ก็อยากไม่ยื่นใบลาพักร้อนเองนี่)
ผมเชื่อว่าในบริษัทหลายแห่งก็คิดและทำอย่างนี้อยู่ใช่ไหมครับ
?
ในกรณีนี้แม้คุณอุดมไม่ได้ยื่นใบลาพักร้อนก็จริงไม่ได้แปลว่าคุณอุดมจะสละสิทธิวันลาพักร้อนนะครับ
!!
แต่บริษัทควรจะต้อง
“จัดวันหยุดพักผ่อนประจำปี” ให้กับคุณอุดม เช่น
ถ้าผมเป็นหัวหน้าของคุณอุดมแล้วผมเห็นว่าคุณอุดมยังไม่ลาพักร้อนเลยนี่ก็ผ่านมาครึ่งปีแล้ว
ผมก็ควรจะต้องกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้คุณอุดมโดยทำตารางการหยุดพักร้อนสำหรับคุณอุดมให้หยุดพักร้อนวันที่เท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ตามสิทธิที่คุณอุดมมีอยู่ในปีนี้คือ
10 วัน แล้วส่งให้คุณอุดมรับทราบ
แต่ถ้าคุณอุดมไม่อยากจะหยุดพักร้อนเอง
ก็ทำหนังสือแจ้งมาที่ผมซึ่งเป็นหัวหน้าว่าไม่ประสงค์จะใช้สิทธิลาพักร้อนในปีนี้แล้วเซ็นชื่อคุณอุดมไว้เป็นหลักฐาน
ถ้าทำอย่างนี้แล้วคุณอุดมจะมาเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าวันหยุดพักร้อนไม่ได้ และบริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าวันหยุดพักร้อนให้คุณอุดมเพราะเป็นไปตามมาตรา
30 (ข้างต้น)
คือบริษัทจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แล้วแต่พนักงานไม่ใช้สิทธิเอง
ดูจากคำพิพากษาศาลฎีกาตามนี้ครับ
ฎ.2816-2822/2529
“....ถ้านายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แล้ว
ลูกจ้างไม่ใช้สิทธิหยุด
ถือว่าลูกจ้างสละสิทธิ...ถือได้ว่านายจ้างได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10 แล้ว
เมื่อลูกจ้างไม่ยอมหยุดตามที่นายจ้างกำหนด
นายจ้างไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง”
แต่ถ้าไม่ทำอย่างที่ผมบอกข้างต้นแล้วคุณอุดมมาเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าวันหยุดพักร้อน
10 วันที่แกไม่ได้ลา
แล้วบริษัทก็ไม่ได้จัดวันหยุดพักร้อนให้เสียอีก หากเป็นอย่างงี้บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าวันหยุดพักร้อนให้คุณอุดมตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกานี้ครับ
ฎ.8661/2547
“....ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 30 วัน โดยถือตามปีปฏิทินพนักงานสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ได้ และไม่ปรากฏว่านายจ้างได้จัดให้ลูกจ้างได้หยุดในวันหยุดพักผ่อนประจำปีของแต่ละปีที่ลูกจ้างทำงานกับนายจ้าง
แสดงว่านายจ้างมิได้ปฏิบัติตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
มาตรา 30 ....เมื่อลูกจ้างมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิ
นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา
64”
จากที่ผมเล่าให้ฟังมาข้างต้นสรุปว่า
1.
หากบริษัทจัดวันหยุดพักร้อนให้พนักงานโดยแจ้งให้พนักงานทราบแล้ว
แต่พนักงานแจ้งยืนยันกลับมาว่าไม่ประสงค์จะใช้สิทธิ ถ้าทำแบบนี้แล้วบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าพักร้อนให้พนักงาน
ดังนั้นในเรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้างานที่จะต้องคอยสอดส่องดูว่าลูกน้องคนไหนยังไม่ยื่นใบลาพักร้อนบ้าง
ก็จะต้องจัดให้ลูกน้องคนนั้นหยุดพักร้อนโดยทำเป็นเอกสารแจ้งลูกน้องให้ชัดเจน
ส่วนลูกน้องจะใช้สิทธิหรือไม่ก็บอกมาจะได้เก็บไว้เป็นหลักฐาน
2.
หากบริษัทไม่ได้จัดวันหยุดพักร้อนให้พนักงาน
แล้วจะมาโมเมถือเอาเองว่าเมื่อพนักงานไม่ยื่นใบลาพักร้อนจะถือว่าพนักงานสละสิทธิ์การลาพักร้อนไปโดยปริยาย
แล้วจะไม่จ่ายค่าวันหยุดพักร้อนนั้นไม่ได้ครับ
เพราะบริษัทไม่จัดวันหยุดพักร้อนให้เขาตามมาตรา 30 (และตัวอย่างตาม ฎ.8661/2547
ข้างต้น)
อ่านมาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าทั้งบริษัทและพนักงานจะเข้าใจในเรื่องสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือลาพักร้อนตรงกันเสียที
และมีการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องแล้วนะครับ