วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2564

จะให้ผู้เข้าอบรมสอบ Pre & Post Test ไปเพื่อ....?

          การแจกแบบทดสอบ Pre & Post Test นี่ก็จัดเป็นมหากาพย์ที่จะต้องร่ายยาวเพื่อให้ได้ข้อคิดบางอย่างกันอีกเหมือนกัน เพราะผมมักจะถูกองค์กรต่าง ๆ บอกมาว่าให้ช่วยทำแบบทดสอบ Pre Test และ Post Test มาให้ด้วยนะ

“บริษัทต้องการอะไรจากการให้พนักงานทำ Pre & Post Test ครับ”

ผมมักจะถามคำถามนี้กับผู้จัดอบรมอยู่บ่อย ๆ

คำตอบที่ได้จะคล้าย ๆ กันคือ T/O หัวเราะแฮ่ะ ๆ แล้วก็บอกว่า “บริษัทหรือฝ่ายบริหารเขาอยากจะวัดความรู้ว่าก่อนและหลังเข้าอบรมพนักงานจะมีความรู้เพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าไหร่....”

หรือไม่งั้นก็ตอบว่า “ระบบคุณภาพเขาให้ทำ”

          ยังไม่พอ..แถมยังกำชับต่อมาอีกว่า “อาจารย์ออกข้อสอบเป็นแบบปรนัยสัก 10 ข้อก็พอ”

            เนื้อหาทั้งวัน (หรือบางทีเป็นหลักสูตร 2 วัน) เนี่ยะนะต้องการวัดความรู้ทั้งหมดด้วยข้อสอบแบบปรนัย 10 ข้อ !!

          โอ้..บร๊ะเจ้าจอร์จมันยอดมาก ! (ขออนุญาตอุทานแบบโฆษณาขายตรงทางทีวีหน่อยเถอะ) ถ้าผมสามารถใช้ข้อสอบปรนัยแบบ ก ข ค ง เพียง 10 ข้อนี้ใช้วัดความรู้ความเข้าในเนื้อหาทั้งหมดจากผู้เข้าอบรมทั้งก่อนและหลังการฝึกอบรมได้จริง คงจะเป็นข้อสอบที่กูรูทางด้านการศึกษาคงต้องมาขอดูงานแหง ๆ !

            ในความเห็นของผมนั้น ผมเห็นว่าข้อสอบปรนัยมันไม่สามารถจะวัดความรู้ความเข้าใจจากผู้เข้าอบรมได้มากมายนัก เพราะผู้ตอบสามารถจะลอกกันก็ง่าย หรือจะเดาสุ่มก็ง่าย เพราะหากมี 4 ตัวเลือกผู้ตอบก็มีโอกาสเดาถูก 25 เปอร์เซ็นต์

            แต่ถ้าอยากจะรู้ว่าผู้เข้าอบรมรู้จริงหรือเปล่าแล้วล่ะก็ สำหรับผม ๆ ชอบออกข้อสอบเป็นแบบอัตนัย หรือให้ผู้เข้าอบรมเขียนบรรยายอธิบายในเรื่องที่เรียนรู้มาเลยจะชัดเจนกว่า

แต่ก็จะมีข้อด้อยตรงที่ T/O (Training Officer) ไม่ค่อยอยากจะตรวจน่ะสิครับ แม้ว่าผมจะมีเฉลยแนวทางตอบเอาไว้ให้แล้วก็ตาม ก็มักจะเกี่ยงว่ากลัวว่าตรวจแล้วไม่ดีเหมือนอย่างอาจารย์ต้องการ ฯลฯ แล้วแต่จะหาเหตุผลมาอ้างกันไปในขณะที่ตัววิทยากรเองก็ไม่มีเวลามาตรวจข้อสอบอัตนัยของผู้เข้าอบรมทั้งหมดเหมือนกัน

            บางทีหนักกว่านั้น คือเมื่อผล Pre และ Post Test ออกมากลายเป็นผู้เข้าอบรมทำข้อสอบ Pre Test ได้คะแนนสูงกว่า Post Test ก็เลยไม่รู้ว่าวิทยากรสอนไม่รู้เรื่อง หรือผู้เข้าอบรมเรียนไปแล้วยิ่งสับสันกันแน่ หรือเพราะตอน Pre Test ผู้เข้าอบรมเดาได้แม่นกา ก ข ค ง ได้มากกว่าตอน Post Test ก็อาจเป็นได้

            การออกแบบทดสอบ Pre & Post ที่เป็นปรนัยหรืออัตนัยก็มักจะไม่ค่อยเวิร์คด้วยประการฉะนี้

          เอาใหม่..ผมก็เลยออกข้อสอบเป็นเติมคำในช่องว่างแล้วก็มีเฉลยให้ไว้ด้วย

            วิธีนี้ผมว่าเป็นวิธีตรงกลางระหว่าง T/O วิทยากร และผู้เข้าอบรม

            องค์กรต้องการวัดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาจากผู้เข้าอบรม ถ้ารู้ก็ต้องเติมคำในช่องว่างได้ถูกต้อง ถ้าไม่รู้ก็เติมไม่ได้

          ผมถึงชอบออกข้อสอบแบบเติมคำมากกว่าปรนัย และส่งเฉลยคำตอบให้กับ T/O เพราะลูกค้าขอมาว่าอยากจะวัดความรู้ความเข้าใจของพนักงานจริง ๆ

            แต่ก็ยังมีไม่น้อยที่มีไฟต์บังคับมาเลยว่าขอให้ออกเป็นปรนัยเท่านั้น เพราะจะได้ตรวจง่าย และให้วิทยากรเฉลยให้พนักงานตรวจกันเองในห้องอบรมหลังการฝึกอบรมแล้ว

            ก็จัดให้นะครับ แต่บอกไว้ได้เลยว่าอย่าไปคาดหวังว่าผลจะได้อย่างที่ต้องการครบถ้วนหรือใครได้คะแนนเยอะก็แปลว่าเป็นคนที่รู้และเข้าใจในเนื้อหาดี เพราะเขาอาจจะมั่วกาข้อถูกมากกว่าข้อผิดก็ได้นะครับ

          คราวนี้มาว่ากันต่อในเรื่องของปัญหาการแจกแบบทดสอบ Pre & Post

            หลายครั้งเลยนะครับที่ผมพบว่า T/O แจก Handout พร้อมทั้ง Pre Test ให้กับผู้เข้าอบรมหลังจากที่ผู้เข้าอบรมเซ็นชื่อในใบเซ็นชื่อเสร็จแล้ว

ผู้เข้าอบรมก็นำ Pre Test มาทำโดยเปิดดู Handout ไปทำข้อสอบไป

            คำถามของผมก็คือ....

          ถ้าทำอย่างนี้แล้ว เราจะให้ผู้เข้าอบรมทำ Pre & Post Test ไปเพื่อ....?

          แล้วอย่างงี้มันจะวัดคุณภาพของทั้งผู้เข้าอบรมและการจัดอบรมได้จริงอย่างที่ระบบคุณภาพเขาต้องการจริงหรือ ?

            ก็เล่นปล่อยให้อ่านหนังสือไปสอบไป กา ก ข ค ง หรือเติมคำ หรืออัตนัยก็ตาม ถ้าทำไม่ได้เต็มก็แย่แล้วล่ะ

เพราะคำตอบมันก็อยู่ใน Handout อยู่แล้วสิครับ

            ยัง....ยังไม่พอตอน Post Test ก็เหมือนกัน T/O บางคนก็ยังปล่อยให้ผู้เข้าอบรมนั่งเปิดเอกสารไปตอบข้อสอบไป หรือบางทีก็ปล่อยให้ผู้เข้าอบรมลอกกันไป ถามกันไปสนุกสนานได้บรรยากาศเก่า ๆ สมัยเรียนหนังสือตอนลอกข้อสอบเพื่อนกลับมา

          แล้วอย่างงี้จะเป็นการวัดความรู้ความเข้าใจของผู้เข้าอบรมกันยังไงล่ะครับ ?

            ดังนั้น ผมถึงอยากฝากข้อคิดไว้สำหรับทุกองค์กรที่มีนโยบายในการให้ผู้เข้าอบรมทำ Pre & Post Test ด้วยนะครับว่า เป้าหมายของการให้ทำ Pre & Post คืออะไรกันแน่ เช่น

-          ถ้าจะให้ทำเพราะต้องการจะขู่ให้พนักงานตั้งใจเรียน สนใจเนื้อหาบ้าง หรือ

-          จะให้ทำเพราะพนักงานจะได้ไม่โดดเรียน หรือ

-          ต้องการจะให้พนักงานนำความรู้จากการอบรมไปใช้ในการทำงานจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม

-          ฯลฯ

ถามใจตัวเองให้แน่ ๆ เสียก่อน ถ้าองค์กรมีนโยบายที่ต้องการวัดความรู้ความเข้าใจอย่างจริงจังก็จะต้องเข้มงวดในการทดสอบให้ผู้เข้าอบรมทราบอย่างชัดเจน

แต่ถ้าจะทำเพราะต้องการให้เป็นเพียงแค่ “พิธีกรรม” แล้ว ผมแนะนำว่าไม่ต้องมี Pre & Post ดีกว่า เพราะเสียเวลาทั้งคนออกข้อสอบ, คนตรวจ, พนักงานที่เข้าอบรม ไปโดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย

แถมยังจะทำให้บริษัทสิ้นเปลืองกระดาษ, หมึกพิมพ์ ในแต่ละรุ่นแต่ละหลักสูตร ลองคิดดูนะครับว่าในปีหนึ่ง ๆ จัดอบรมไปกี่หลักสูตรและให้ทำ Pre & Post ที่สูญเปล่าแบบนี้ไปมากขนาดไหน สู้ประหยัดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไว้ใช้ในงานอื่นของบริษัทจะดีกว่าไหมครับ

          ข้อคิดอีกเรื่องหนึ่งก็คือ หลายครั้งที่ผู้เข้าอบรมทำข้อสอบได้คะแนนเต็มหรือเกือบเต็ม ในหลักสูตรที่อบรม แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผู้เข้าอบรมคนนั้น ๆ จะมีทักษะในเนื้อหาวิชานั้น ๆ เสมอไป

            ยกตัวอย่างเช่น

            หลักสูตร “การพัฒนาทักษะหัวหน้างาน” ในเนื้อหาก็สอนในเรื่องของการเป็นหัวหน้างานที่ดีและเก่งควรเป็นยังไง และเมื่อมีแบบทดสอบ Pre Test และ Post Test ผู้เข้าอบรมก็ตอบได้ถูกต้องว่าการเป็นหัวหน้างานที่ดีจะต้องมีความเป็นผู้นำ, ต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดี, มีบุคลิกภาพดี, มีการสร้างแรงจูงใจให้กับลูกน้อง, มีการแก้ปัญหาและตัดสินใจที่ดี ฯลฯ

เรียกว่าผลสอบออกมาผู้เข้าอบรมรายนี้สอบได้คะแนนเต็ม

            แต่พบได้บ่อยว่าพอผู้เข้าอบรมรายนี้กลับไปทำงานแล้ว ก็ยังคงเป็นหัวหน้างานที่ขาดภาวะผู้นำ, การสื่อสารก็ยังพูดไม่เข้าหูคน, ไม่เคยสร้างแรงจูงใจให้กับทีมงาน, เป็นคนหนีปัญหาและไม่กล้าตัดสินใจอีกต่างหาก !

            หรือจะเรียกว่า “หมูสนามจริง..สิงห์สนามสอบ” ดีไหมครับ ?

            ที่ผมพูดมานี่ก็เพื่อเป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับองค์กรที่มุ่งเน้นแต่การสอบมากจนเกินไป ผมไม่ได้บอกว่าการทดสอบไม่ดีนะครับ มีการทดสอบน่ะดี แต่อย่าทิ้งน้ำหนักไปที่การทดสอบทั้งหมดชนิดที่ว่าพอผู้เข้าอบรมทดสอบได้คะแนนสูงในเรื่องไหน แปลว่าจะเก่งเรื่องนั้นแน่ ๆ น่ะมันไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไปหรอกครับ

          เพราะตอนสอบน่ะ เขารู้ว่า How to ตอบให้มันได้คะแนนน่ะควรจะตอบยังไงดี

            แต่ตอนปฏิบัติจริงในที่ทำงานมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

          สิ่งที่สำคัญก็คือ “หัวหน้างาน” ของผู้เข้าอบรมนั่นแหละครับที่จะต้องคอยสอดส่องติดตามผลจากการฝึกอบรม คอย Feedback และสอนงานลูกน้องด้วย

เมื่อลูกน้องผ่านการฝึกอบรมไปแล้วจะมีพัฒนาการหรือมีพฤติกรรมการทำงาน, วิธีคิด หรือนำสิ่งที่ได้รับจากการฝึกอบรมมาปรับปรุงพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเป็นรูปธรรมจึงมีความสำคัญมากกว่าการมาดูแค่ผลการสอบ Pre & Post Test ครับ