วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ประเภทของการปรับเงินเดือน

             ผมเคยตั้งสมการเกี่ยวกับการปรับเงินเดือนเอาไว้คือ

          เงินเดือน = P+C

            หมายถึงการให้เงินเดือนจะแปรไปตามผลการปฏิบัติงาน (Performance) และความสามารถ (Competency) ของคน ซึ่ง Competency ก็หมายถึงคน ๆ นั้นมีความรู้ในงาน (Knowledge) มีทักษะในงาน (Skill) มีคุณลักษณะเชิงนามธรรมในตัวเองที่เหมาะตรงกับงานที่ทำ (Attributes) มากน้อยแค่ไหน

            P+C ก็คือ “คุณค่า” หรือมูลค่าในตัวคน ๆ นั้นว่ามีอยู่มากน้อยแค่ไหนในองค์กร

            การที่คนได้รับเงินเดือนอยู่เท่าไหร่ในตอนนี้ก็หมายถึงองค์กรเห็นคุณค่าของคน ๆ นั้นมากน้อยแค่ไหนก็จะตั้งเงินเดือนไปตามนั้น

            การปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นก็เช่นเดียวกัน

            คนที่เข้ามาทำงานจะได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากเดิมก็อยู่บนหลักของ P+C ว่าคนไหนที่มีคุณค่าในตัวเองเพิ่มขึ้นมากกว่าตอนที่เข้ามา

คน ๆ นั้นก็ควรที่จะได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

            ในทางกลับกัน ถ้าคน ๆ ไหนมีคุณค่า (P+C) เพิ่มขึ้นน้อยหรือไม่มีอะไรเพิ่มขึ้นเลย ก็จะได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นน้อยลงหรืออาจจะไม่ได้รับการปรับเงินเดือน

            ผมก็เลยสรุปประเภทของการปรับเงินเดือนแบบต่าง ๆ มาดูกันดังนี้ครับ

1.      ขึ้นเงินเดือนประจำปี

การปรับเงินเดือนในข้อนี้เป็นเรื่องปกติในองค์กรต่าง ๆ ที่มักทำปีละครั้ง (ในช่วงภาวะเศรษฐกิจเป็นปกติ หรือบริษัทไม่ได้มีปัญหาด้านการเงิน) ซึ่งก็จะอิงกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานเป็นหลัก ค่าเฉลี่ยในการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีในรอบกว่า 10 ปีย้อนหลัง (ปี 2550-2564) จะอยู่ที่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์มาโดยตลอด

2.      ปรับเงินเดือนเมื่อ Promote

เมื่อพนักงานได้รับการเลื่อนตำแหน่ง องค์กรส่วนใหญ่ก็จะปรับเงินเดือนเพิ่มให้เพราะพนักงานจะต้องรับผิดชอบในค่างานที่สูงขึ้น ต้องรับผิดชอบมากขึ้นในตำแหน่งงานใหม่ ซึ่งค่าเฉลี่ยการปรับเงินเดือนเมื่อ Promote จะอยู่ที่ 10-12 เปอร์เซ็นต์แต่ไม่เกินค่ากลาง (Midpoint) ของกระบอกเงินเดือนถัดไป (กรณีที่บริษัทมีโครงสร้างเงินเดือน)

3.      ปรับเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษตามผลงานสำหรับ Talent หรือ Successor

การปรับเงินเดือนในลักษณะนี้องค์กรจะปรับให้สำหรับพนักงานที่มีศักยภาพสูง เช่น เป็น Talent Pool หรือเป็นคนที่ถูกวางตัวให้เป็นทายาท (Successor) ที่จะขึ้นไปดำรงตำแหน่งที่องค์กรวางแผนไว้ในอนาคต

4.      ปรับเงินเดือนเมื่อต้องการความสามารถพิเศษ

การปรับเงินเดือนแบบนี้มักทำเมื่อพนักงานมีความสามารถบางอย่างที่ตรงกับความต้องการขององค์กร เช่น มีความสามารถทางภาษา, มีความสามารถบางอย่างที่ตรงกับงานที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งบางองค์กรอาจจะปรับฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้น แต่บางองค์กรก็อาจจะแยกออกจากฐานเงินเดือนไปเป็นค่าภาษา, ค่าวิชาชีพ ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะแยกออกจากฐานเงินเดือนหรือไม่ก็จะต้องนำมารวมเป็น “ค่าจ้าง” ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของพนักงานตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด

5.      ปรับเงินเดือนเนื่องจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

การปรับเงินเดือนประเภทนี้เป็นการปรับเพราะกฎหมายแรงงานบังคับให้ปรับตามประกาศของกระทรวงแรงงาน ถ้าบริษัทไหนไม่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามกฎหมายก็จะมีโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

6.      ปรับเงินเดือนเพื่อการแข่งขันกับตลาด

ในกรณีที่ตลาดมีการปรับเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเงินเดือน บริษัทก็อาจจะต้องมีการปรับเงินเดือนให้กับพนักงานเพื่อให้ยังสามารถรักษาคนในและจูงใจคนนอกให้อยากมาร่วมงานกับบริษัท ถ้าหากไม่ปรับเงินเดือนเพื่อให้แข่งขันกับตลาดได้ก็จะทำให้คนไหลออกไปอยู่ที่อื่น และหาคนมาทำงานด้วยยาก

7.      ปรับเงินเดือนคนเก่าเพื่อหนีผลกระทบจากคนใหม่

การปรับเงินเดือนประเภทนี้มักเป็นการปรับเนื่องจากองค์กรได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หรือการปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิใหม่เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบกับคนเก่าที่เข้ามาก่อนจะถูกคนใหม่มีเงินเดือนไล่หลังหรืออาจจะแซงคนเก่า จึงจำเป็นต้องปรับเงินเดือนเพื่อหนีผลกระทบ ซึ่งก็จะมีวิธีการปรับเงินเดือนคนเก่าเพื่อหนีผลกระทบคนใหม่อยู่หลายวิธี

8.      ปรับเงินเดือนเพื่อดึงไว้ไม่ให้ลาออก

การปรับเงินเดือนแบบนี้ในบางองค์กรอาจจะทำเมื่อพนักงานมายื่นใบลาออกแล้วบอกว่าได้งานที่ใหม่ที่ให้เงินเดือนสูงกว่าที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน ทำให้บางบริษัทก็เลยยื่นข้อเสนอว่าขอให้พนักงานอยู่ต่อแล้วบริษัทจะปรับเงินเดือนเพิ่มให้เท่ากับที่ใหม่ ซึ่งผมไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนให้ปรับเงินเดือนในข้อนี้เพราะมีข้อเสียมากกว่าข้อดีและเคยเขียนบทความเรื่อง “พนักงานมายื่นใบลาออกควรปรับขึ้นเงินเดือนให้ดีไหม” ในบล็อกของผมแล้วลองไป Search ดูนะครับ

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้แล้วก็ขอสรุปข้อเตือนใจว่าการปรับเงินเดือนทุกครั้งจะมีผลกระทบต่อ Staff Cost ขององค์กรเสมอ ดังนั้นก่อนการปรับเงินเดือนจึงควรจะต้องหาข้อมูลเพื่อนำมาประกอบการคิดอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจครับ