ก่อนที่เราจะลาออกจากที่ทำงานเดิมเพื่อไปเริ่มต้นกับที่ทำงานใหม่ก็ต้องมีการเซ็นสัญญาจ้างงานกับที่ทำงานใหม่ให้เรียบร้อยกันเสียก่อนนะครับ
ผมเคยเขียนบทความไปก่อนหน้านี้แล้วว่า
เรายังไม่ควรยื่นใบลาออกจากที่เดิมถ้ายังไม่ได้เซ็นสัญญาจ้างกับที่ใหม่เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมาไม่น้อยว่าพอยื่นใบลาออกจากที่เดิมเรียบร้อยแล้วระหว่างรอไปเริ่มต้นทำงานกับที่ใหม่ก็โดนเบี้ยวจนเกิดปัญหาดราม่ากันมาหลายรายแล้ว
มาวันนี้ผมก็เลยขอพูดถึงว่าก่อนที่เราจะจรดปากกาเซ็นสัญญาในที่ทำงานใหม่ที่เราจะไปเริ่มงานด้วยนั้น
เราควรจะต้องเคลียร์เรื่องอะไรบ้างกับที่ใหม่เพื่อให้เข้าใจตรงกันดังนี้ครับ
1.
เคลียร์เรื่องของงานและความรับผิดชอบ : พูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับงานและความรับผิดชอบในตำแหน่งงานที่จะไปทำให้ชัดเจนว่าเราต้องรับผิดชอบงานอะไรมี
Scope ของงานมากน้อยแค่ไหน มีอำนาจดำเนินการเรื่องอะไรบ้าง
มากน้อยแค่ไหน มีใครเป็นหัวหน้า มีลูกน้องหรือไม่ ฯลฯ ถ้าที่ทำงานใหม่นำ JD (Job Description) มาอธิบายให้เข้าใจด้วยยิ่งดี
2.
KPIs และเป้าหมายของงาน : สอบถามว่าเมื่อมารับผิดชอบงานในตำแหน่งนี้
ผู้บังคับบัญชามีเป้าหมายของงานเอาไว้ยังไง มีตัวชี้วัดผลงานที่สำคัญ (KPIs-Key
Performance Indicators) อะไรบ้าง จัดวัดผลงานกับเมื่อไหร่ยังไง
3.
ระยะเวลาทดลองงานและวิธีการประเมินผลงาน : มีการทดลองงานหรือไม่
ถ้ามีก็ขอทราบระยะเวลาทดลองงานที่กำหนดเอาไว้ว่ากี่วัน
ในระหว่างทดลองงานจะมีการประเมินผลการทำงานในเรื่องใดบ้าง
มีหลักเกณฑ์ในการประเมินผลงานอะไรบ้าง ผลงานแบบไหนถือว่าผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์
จะมีการแจ้งผลการปฏิบัติงานเมื่อไหร่
4.
อัตราเงินเดือนและเงินอื่น ๆ
นอกเหนือจากเงินเดือน : เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการตกลงกันให้ชัดเจนว่าเมื่อเรามาทำงานในตำแหน่งนี้จะได้รับเงินเดือน
ๆ ละเท่าไหร่ และได้รับเงินอื่นนอกเหนือจากเงินเดือนอีกหรือไม่ เช่น ค่ารถ, ค่ากะ,
ค่าเบี้ยขยัน, ค่าตำแหน่ง, ค่าครองชีพ, ค่าวิชาชีพ, โบนัส ฯลฯ ทั้งเงินเดือนและเงินสารพัดค่าเหล่านี้จะได้รับเข้า
Payroll ทุกวันที่เท่าไหร่ของเดือน ใช้บัญชี Payroll ของแบงค์อะไร มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายและมีการหักเงินอะไรอีกหรือไม่
(ต้องไม่มีการหักค่าจ้างที่ขัดม.76 ของกฎหมายแรงงานนะครับ)
5.
สิทธิประโยชน์และสวัสดิการ : นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เรื่องหนึ่งที่ต้องสอบถามให้ชัดเจนว่าเมื่อเราเข้ามาทำงานกับองค์กรที่ใหม่นี้เขามีสิทธิประโยชน์และสวัสดิการใดให้บ้าง
เช่น รถรับส่งพนักงาน, การประกันชีวิตและอุบัติเหตุ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ,
ค่าอาหารกลางวัน, วันหยุดวันลาประเภทต่าง ๆ ฯลฯ มีอะไรไรบ้าง
6.
อ่านและทำความเข้าใจกับเงื่อนไขการทำงานและสภาพการจ้างในสัญญาจ้างให้ละเอียด : ก่อนที่จะจรดปากกาเซ็นสัญญาจ้าง
จำเป็นต้องอ่านข้อความในสัญญาจ้างให้ละเอียดว่าในสัญญาจ้างมีการระบุเรื่องอะไรเอาไว้บ้าง
เช่น ชั่วโมงการทำงานและระยะเวลาการทำงาน,
การมอบลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานให้กับบริษัท, การให้ความยินยอมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล,
เมื่อลาออกไปแล้วห้ามไปทำงานในลักษณะเดียวกันกับบริษัทคู่แข่ง ฯลฯ
ซึ่งสัญญาจ้างของแต่ละบริษัทจะไม่เหมือนกัน จึงต้องอ่านทำความเข้าใจและสอบถาม HR
ขององค์กรนั้น ๆ ในเงื่อนไขสัญญาต่าง ๆ ให้ดีก่อนเซ็นชื่อ
เมื่อเซ็นสัญญาจ้างเสร็จแล้ว
บริษัทที่มีความเป็นมืออาชีพควรจะต้องให้สำเนาสัญญาจ้างกับเราด้วย
ไม่ใช่ว่าพอเซ็นสัญญาจ้างแล้วก็มุบมิบเก็บสัญญาจ้างไปดื้อ ๆ
อย่างงี้มืออาชีพเขาไม่ทำกันนะครับ
เพราะการให้สำเนาสัญญาจ้างกับผู้สมัครงานที่เข้ามาเซ็นสัญญาว่ากำลังจะเข้ามาเป็นพนักงานใหม่ในองค์กรจะทำให้เขาเกิดความมั่นใจว่าไม่โดนเบี้ยวและไปยื่นใบลาออกกับที่เดิมได้อย่างสะดวกใจ
ใจเขาใจเรานะครับ
หวังว่าคนที่จะต้องไปเซ็นสัญญาจ้างจะได้ข้อคิดและรู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้างในการไปเซ็นสัญญาจ้างกับที่ใหม่แล้วนะครับ