วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2564

False Consensus Effect : อคติที่คิดเอาเองว่าคนอื่นก็คิดเหมือนอย่างเรา

             อคติชนิดนี้มักเกิดกับคนที่ชอบคิดเข้าข้างตัวเองว่าในเมื่อเราชอบอย่างงี้ คนอื่นก็ต้องชอบเหมือนเราด้วยสิ เช่น เวลาที่ไปกินข้าวร่วมกันกับเพื่อนหลาย ๆ คน นาย A ชอบกินเผ็ดก็มักจะสั่งอาหารรสเผ็ดและจะคิด (เอาเอง) ว่าเพื่อน ๆ ก็ต้องชอบกินเผ็ดเหมือนเรา ทั้ง ๆ ที่มีเพื่อนอีกหลาย ๆ คนกินเผ็ดไม่ได้

หรือถ้าเราชอบฟังเพลงแจ๊สเราก็มักจะชอบพาแฟนไปนั่งฟังเพลงแจ๊สเพราะคิดว่าแฟนคงชอบดนตรีแจ๊สเหมือนเรา ทั้ง ๆ ที่แฟนเขาไปฟังกับเราเพราะไม่อยากขัดใจเราเท่านั้นแหละส่วนตัวแล้วชอบฟังเพลงลูกทุ่งมากกว่าอีก

หรือนาย B นักการเมืองชื่อดังก็อาจจะประเมินเรตติ้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแบบเข้าข้างตัวเองว่า เรามีคะแนนนิยมเหนือกว่านักการเมือง C ที่เป็นคู่แข่ง ซึ่งการประเมินแบบเข้าข้างตัวเองในลักษณะนี้หลายครั้งก็จะเกิดการพลิกล็อคโดยนาย B แพ้นาย C เมื่อมีการเลือกตั้ง

เรื่องการคิดแบบลำเอียงเข้าข้างตัวเองว่าคนอื่นจะคิดเหมือนเราจะชอบในสิ่งเดียวกับที่เราชอบ ยังมีผลไปถึงการตัดสินใจในการทำงานที่ผิดพลาดได้นะครับ

เช่น บริษัทผู้ผลิตน้ำผลไม้มีแผนจะขายน้ำส้มรสชาติใหม่ แต่แทนที่จะทดลองรสชาติของน้ำส้มด้วยการให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายทดลองชิมแล้วประมวลความคิดเห็นหลาย ๆ กลุ่มเพื่อหาข้อสรุปว่ารสชาติไหนจะถูกปากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

แต่บริษัทกลับเอาน้ำส้มไปให้กรรมการผู้จัดการชิมเพียงคนเดียวแล้วให้เป็นคนตัดสินว่าจะผลิตน้ำส้มรสชาติใด เพราะเชื่อว่าถ้ากรรมการผู้จัดการชอบรสชาติไหน ผู้บริโภคก็ต้องชอบเหมือนกัน

ก็อาจจะทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการขายเมื่อน้ำส้มยี่ห้อนี้ออกวางตลาดแล้วไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเป้าหมาย

ซึ่งถ้าลดอคติในเรื่อง False Consensus Effect ลงก็จะลดปัญหาตามตัวอย่างข้างต้นลงได้ครับ

หัวหน้าคนไหนที่มี False Consensus Effect เยอะ ๆ ก็มักจะทำให้ลูกน้องแอบนินทาลับหลังว่าทำไมพี่เขาถึงได้เป็นคนเผด็จการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลอย่างงี้หนอ....

                                        ...............................