ช่วงโควิดนี่ผมก็มักจะได้รับคำถามด้าน HR ที่เกี่ยวกับเรื่องโควิดในบริษัทต่าง
ๆ มาโดยตลอดนะครับ
อย่างเรื่องที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ก็เหมือนกัน
เป็นเรื่องที่พอได้ยินแล้วก็อดไม่ได้ที่จะเอามาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นข้อคิดในการบริหารงานบุคคล
เผื่อว่าเรื่องทำนองนี้อาจจะไปตรงกับท่านจะได้ใช้เป็นแนวคิดในการแก้ปัญหาในช่วงที่เรากำลังยากลำบากนี้ด้วยครับ
เรื่องมีอยู่ว่าในบริษัทแห่งหนึ่งให้พนักงานหญิงลาคลอดลูกไปแล้วประมาณ
30 วัน ซึ่งตามกฎหมายแรงงานที่แก้ไขใหม่ล่าสุดก็ให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาคลอด
(รวมการลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอด) ได้ครรภ์หนึ่ง 98 วัน
ดังนั้นพนักงานหญิงคนนี้ก็เหลือสิทธิวันลาคลอดอีกประมาณ
18 วันหรือสองสัปดาห์เศษ ๆ
ปัญหามันมาเกิดตรงที่หน่วยงานของพนักงานหญิงคนที่ลาคลอดคนนี้
มีพนักงานคนหนึ่งติดเชื้อโควิด ซึ่งคนที่จะรู้งานและสามารถมาทำงานแทนได้หรือพนักงานหญิงคนที่ลาคลอด !!
ฝ่ายบริหารก็เลยอยากจะให้ HR ติดต่อพนักงานหญิงคนนี้ให้มาทำงานแทนเพื่อนพนักงานที่ติดเชื้อโควิด
แล้วบริษัทจะทดวันลาคลอดอีกประมาณ 18 วันเอาไว้ให้หยุดในวันข้างหน้า
ถ้าท่านเป็น HR ท่านจะตอบฝ่ายบริหารว่ายังไงดีครับ
?
HR บริษัทแห่งนี้ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายบริหารก็เลยถามมาที่ผมว่ามีความคิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้
ผมก็เลยให้ข้อคิดไปอย่างนี้ครับ
1.
งานที่พนักงานคนที่ติดโควิดทำอยู่มีความสำคัญมากถึงขนาดถ้าไม่มีคนทำแล้วจะเกิดความเสียหายร้ายแรงกับบริษัทเลยหรือไม่
2.
บริษัทยังมีพนักงานคนอื่น
(ที่ไม่ใช่พนักงานหญิงคนที่ลาคลอด) สามารถทำงานแทนได้หรือไม่
3.
ถ้าไม่มีพนักงานคนใดสามารถทำแทนได้อีกเลย
แล้วจะเกิดความเสียหายร้ายแรงบริษัทก็ต้องแก้ปัญหานี้โดยด่วนแล้วล่ะครับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในหน่วยงานนี้ ขึ้นไปจนถึง CEO ควรจะต้องลงมาร่วมรับผิดชอบหาทางแก้ปัญหาเพื่อลดความร้ายแรง
(ถ้ามี) ให้น้อยลง
4.
สามารถให้พนักงานหญิงที่ลาคลอดทำงานหรือสอนงานพนักงานคนอื่นให้ทำแทนจากที่บ้านผ่านระบบ
Zoom หรือ โซเชียลมีเดียอื่นใดได้หรือไม่
5.
ถึงแม้ไม่มีพนักงานคนอื่นทำงานแทนได้
บริษัทควรสั่งให้พนักงานหญิงที่ลาคลอดมาทำงานนี้หรือไม่
6.
ถ้าบริษัทสั่งให้พนักงานหญิงที่ลาคลอดมาทำงานแทน
แล้วเกิดติดโควิดใครจะดูแลลูกอ่อนที่เพิ่งคลอด
แถมยังสุ่มเสี่ยงที่อาจจะติดโควิดกันทั้งบ้าน
7.
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าลูกอ่อนที่เพิ่งคลอดเกิดติดโควิดจากผู้เป็นแม่
คือติดโควิดทั้งแม่ทั้งลูกอ่อนผู้บริหารจะรับผิดชอบปัญหาสารพัดรวมถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการออกคำสั่งนี้ไหวหรือไม่
สุดท้ายผมก็บอก HR ว่าคงต้องพูดคำหนึ่งกับฝ่ายบริหารคือคำว่า
“ใจเขา-ใจเรา” แหละครับ ถ้าผู้บริหารคิดได้
และเข้าใจคำนี้จะต้องไม่สั่งให้พนักงานหญิงที่ลาคลอดมาทำงานแทนในสถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างในปัจจุบันนี้
ตอบคำถาม
HR บริษัทแห่งนี้ไปแล้วก็ได้แต่เอาใจช่วยให้ HR ไปคุยกับฝ่ายบริหารได้สำเร็จ
และขอให้ฝ่ายบริหารบริษัทแห่งนี้มีคุณธรรมที่สูงพอจะเลิกคิดที่จะใช้วิธีแก้ปัญหาแบบนี้ครับ
Lesson
learn จากเรื่องนี้ก็คือบริษัทของใครที่อาจจะมีเรื่องทำนองนี้ก็ควรจะต้องมีระบบการสอนงาน
หรือการวางระบบให้มีพนักงานคนอื่นสามารถทำแทนกันได้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
แต่ถ้าคนที่ทำแทนได้เป็นคนท้องที่ใกล้คลอดก็ควรจะต้องมีการถ่ายทอดงานให้กับพนักงานคนอื่นมาเรียนรู้งานเพื่อป้องกันปัญหาข้างต้นเอาไว้ด้วยครับ
..........................