วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

นำ OKR มาใช้แทน KPI ดีหรือไม่?

             เมื่อคืนวันที่ 25 กพ.64 ได้ฟัง PMAT เปิดห้องใน Clubhouse โดยเชิญกูรูด้าน HR มาแชร์เรื่อง OKR จากประสบการณ์ที่ทำมาจริงต้องชมว่าดีมากเลยครับ ตั้งแต่หนึ่งทุ่มจนสามทุ่มนี่มีแต่สาระเต็ม ๆ ถ้าใครพลาดก็บอกเลยว่าน่าเสียดายครับ

            ผมอยากจะสรุปข้อคิดความเห็นของวิทยากรที่พูดถึง OKR เมื่อคืนนี้บวกกับความเห็นส่วนตัวของผมที่จะบอกไว้ในวงเล็บดังนี้

1.      องค์กรที่คิดจะนำ OKR มาใช้ควรจะต้องดูวัฒนธรรมภายในของเราให้ดีเสียก่อนว่าเอื้ออำนวยต่อการนำ OKR มาใช้มากน้อยแค่ไหน หัวหน้า/ผู้บริหารเปิดใจรับฟังลูกน้องหรือเปล่า ยอมรับความล้มเหลวของลูกน้องถ้าทำไม่ได้ตามเป้าหมายและพร้อมที่จะเรียนรู้ความล้มเหลวเพื่อแก้ไขให้ก้าวผ่านไปสู่ความสำเร็จได้หรือไม่

2.      KPI ไม่ใช่ผู้ร้ายไม่ได้มีแต่ข้อเสีย (ตรงนี้ผมเห็นด้วยครับในความเห็นของผม ๆ เห็นว่าไม่ว่าจะระบบใดก็ตามมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เปรียบเสมือนเรามีมีดอยู่ในบ้าน เราจะใช้มีดในด้านที่เป็นประโยชน์เช่นหั่นผักหั่นปลาหั่นไก่เพื่อทำอาหารหรือเราจะใช้มีดในด้านลบคือเอามาไล่แทงคนในบ้านล่ะครับ ผมจึงเห็นว่าไม่ว่าจะ KPI หรือ OKR ต่างก็มีทั้งด้านบวกและด้านลบเหมือนกันอยู่ที่คนนำมาใช้ว่าจะใช้แบบไหน)

3.      ข้อนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมต่อจากข้อ 2 คือ สมมุติผมต้องการจะซื้อ Smart Phone มาใช้สักเครื่องหนึ่ง ผมควรจะต้องศึกษาหาข้อมูลเสียก่อนว่าโทรศัพท์ที่ผมจะซื้อมันมี Feature ทำอะไรได้บ้าง และผมต้องการโทรศัพท์นั้นมาใช้ประโยชน์อะไรถึงจะคุ้มค่าเงินที่จ่ายไป แม้ผมจะศึกษาดีแล้วแต่เมื่อซื้อ Smart Phone เครื่องนั้นมาใช้ผมก็ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมบางครั้งอาจจะต้องปรับตัวให้เข้ากับ Smart Phone เครื่องนี้เพิ่มเติม บ่อยครั้งที่พบว่าคนใช้ Smart Phone ยังไม่รู้คำสั่งหรือ Application ที่ดี ๆ ใน Smart Phone ยังใช้ไม่เป็นก็ไปด่วนสรุปหรือโทษเจ้า Smart Phone ที่ซื้อมาแล้วว่ามันไม่ดี ใช้ไม่ได้ แล้วก็ไปหาซื้อ Smart Phone เครื่องอื่นที่ “เขาว่า” ดีต่อไปอีก ทั้ง ๆ ที่ปัญหาเกิดจากตัวคนใช้งาน (Human error) มากกว่าเกิดจากตัวเครื่องมือ (Smart Phone) ถ้าปัญหาเกิดจากคนใช้งานผมว่าจะเปลี่ยน Smart Phone ไปอีกกี่เครื่องก็คงแก้ปัญหานี้ได้ยากแหละครับ

4.      การนำ OKR มาใช้ผสมกับ KPI หรือการนำมาใช้แบบ Hybrid ให้ระวังปัญหาการให้คุณให้โทษ (Reward) เพราะ OKR มักไม่นำมาโยงกับการขึ้นเงินเดือนประจำปีหรือการจ่ายโบนัส ต้องกลับไปดูเรื่องระบบประเมินผลการปฏิบัติงาน (ไม่ว่าจะเรียกว่า PMS-Performance Management System หรือบางที่จะมีแค่การประเมินผลการปฏิบัติงาน Performance Appraisal เพียงอย่างเดียวก็ตาม) ให้ดีว่าออกแบบไว้ยังไง และจะทำให้สอดคล้องกลมกลืนไปกับการทำ OKR ได้ยังไง เช่น ถ้าทำ OKR บรรลุตามเป้าหมายหรือไม่บรรลุเป้าหมาย (ล้มเหลว) จะมีผลกับการประเมินผลการปฏิบัติงานยังไง (ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งเลยครับ เพราะถ้าเข้าใจธรรมชาติของคนแล้วเมื่อทำงานใดสำเร็จก็ย่อมหวังผลตอบแทนซึ่งหลักการสร้างแรงจูงใจก็มักจะพูดถึงแรงจูงใจภายนอกคือให้เป็นตัวเงินเป็นวัตถุ กับแรงจูงใจภายในเช่นการชมเชยการยอมรับให้เกียรติ ฯลฯ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ต้องสมดุลกัน ถ้าทำ OKR แล้วบรรลุเป้าหมายมาเรื่อย ๆ แต่ไม่เห็นมีผลกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ นี่ก็น่าคิดอยู่เหมือนกันนะครับว่าความรู้สึกของคนทำสำเร็จจะเป็นยังไงต่อไปถ้าทำไปก็ได้แต่กล่องแต่ไม่ได้เงินกลับมา)

5.      ควร Implement OKR ตูมเดียวทั่วทั้งองค์กรเลยหรือไม่ ตรงนี้ยังมีแนวคิดที่แตกต่างกันอยู่แต่พอสรุปได้ว่าถ้าองค์กรไหนมีความพร้อมนายใหญ่เล่นด้วยวัฒนธรรมในองค์กรก็พร้อมและต้องการจะ Change จริง ๆ ก็สามารถทำพร้อมกันทั่วทั้งองค์กรได้ แต่ถ้าองค์กรไหนยังไม่พร้อมก็อาจจะ Implement ในบางฝ่ายบางส่วนเพื่อเรียนรู้ไปก่อนแล้วค่อย ๆ ขยายผล (ตรงนี้ผมว่าขึ้นอยู่กับบริบทภายในของแต่ละองค์กรที่แตกต่างกันครับ HR และนายใหญ่ต้องประเมินให้ดีว่าเรามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนเพราะถ้ายังไม่พร้อมแต่ดันไป Implement ทั้งองค์กรนี่อาจจะเจอกระแสตีกลับเอาง่าย ๆ เหมือนกัน)

ผมจดได้ประมาณนี้ ถ้าท่านใดที่จดได้มากกว่าผมก็เสริมเติมมาได้นะครับ ต้องขอบคุณ PMAT ที่จัด Session ดี ๆ แบบนี้ใน Clubhouse นะครับ

                                                ..............................