เมื่อพูดถึงคำว่า “ค่าล่วงเวลา” เราก็มักจะเรียกกันว่า “โอที” หรือ “ค่าโอ” ซึ่งในทางกฎหมายแรงงานหมายถึงการทำงานล่วงเวลา และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด แต่เรา ๆ ท่าน ๆ ก็มักจะเรียกรวมเอาเรื่องของค่าทำงานในวันหยุดรวมเข้าไปในความหมายของโอทีด้วย
ในบางองค์กรมีนโยบายเพิ่มรายได้ให้พนักงานด้วยการกำหนดให้พนักงานทำงานล่วงเวลาเพื่อพนักงานจะได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ผมมักจะพบว่าบริษัทที่มีนโยบายทำนองนี้มักจะมีการจ่ายค่าตอบแทนไม่สูงนัก
แต่จะจูงใจให้คนทำงานให้มากขึ้นเพื่อจะได้ทำให้รายได้สูงขึ้น
หรือไม่ก็แทนที่จะต้องเพิ่มอัตรากำลังให้เหมาะกับโหลดของงาน แต่ผู้บริหารคิดว่าขืนจ้างคนเพิ่มจะทำให้ต้นทุนต่าง
ๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วยแถมถ้าจำเป็นจะต้องลดคนลงในอนาคตก็จะต้องมีค่าชดเชยและอื่น ๆ
ตามมาอีก
ก็เลยให้คนที่รับผิดชอบงานนั้นอยู่ทำโอทีก็แล้วกันต้นทุนจะได้ไม่ต้องเพิ่มสูงเกินไป
แถมคนทำงานก็อาจจะชอบเพราะมีรายได้เพิ่มขึ้น
เช่น
บริษัทเปิดทำการสัปดาห์ละ 6
วัน หยุดหนึ่งวัน มีชั่วโมงทำงานวันละ 8 ชั่วโมง
แต่เนื่องจากบริษัทจ่ายเงินเดือนให้พนักงานไม่มากนัก
จึงส่งเสริมให้พนักงานทำงานล่วงเวลาเพิ่มวันละ 4 ชั่วโมง
แล้วก็คิดค่าทำงานล่วงเวลาให้ตามกฎหมายแรงงาน (1.5 เท่าสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ)
สรุปว่าเป็นที่รู้กันทั้งพนักงานและบริษัทว่าพนักงานทุกคนต้องทำงานวันละ
12 ชั่วโมง
ถ้าจะถามว่าบริษัทสามารถทำได้ไหม?
ก็ตอบได้ว่า “ทำได้” ครับ ตราบใดที่ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาไม่เกิน 36
ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ยังไม่ผิดกฎหมายแรงงาน
(ทำงานล่วงเวลา 4 ชั่วโมงต่อวัน สัปดาห์ละ 6 วัน รวมเป็น 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)
บางแห่งอาจให้พนักงานทำงานล่วงเวลามากกว่านี้ขึ้นไปอีก
เช่น ให้ทำงานล่วงเวลาวันละ 6 ชั่วโมง (ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน) ก็ยังอยู่ในข้อกำหนดว่าไม่เกิน
36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อยู่ดี
แต่ลองกลับมาดูความเป็นจริงกันสักนิดสิครับ
ผมสมมุติว่าพนักงานเข้างาน 8.00-17.00 น.ต้องทำโอทีต่ออีก 4 ชั่วโมงก็จะเลิกงาน 3 ทุ่ม ถ้าบริษัทให้ทำโอทีเต็มแม๊กคือ 6 ชั่วโมงก็จะเลิกงาน
5 ทุ่ม และต้องทำงานอย่างนี้ทุกวัน ทุกเดือน และตลอดปี?!?
แล้วคุณภาพชีวิตของพนักงานจะอยู่ที่ไหน?
แม้ว่าจะมีวันหยุดให้สัปดาห์ละ 1 วันก็ตาม
แต่มนุษย์นั้นมีร่างกายมีเลือดเนื้อนะครับ ไม่ได้เป็นคนเหล็กมาจากไหน
เขาจะอดทนทำงานแบบนี้ไปได้เท่าไหร่ สุขภาพก็จะเสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย
ๆ เพราะไม่มีเวลาที่จะดูแลสุขภาพตัวเอง โดยสิ่งที่ได้รับกลับมาก็เป็นเงินค่าโอทีที่เขาต้องนำมาจุนเจือเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว
ซึ่งก็จะทำได้ในช่วงที่อายุยังไม่มากนักและยังมีเรี่ยวแรงที่จะอึดอดทน
แต่ถ้าอายุมากขึ้นไปเรื่อย
ๆ ล่ะ เขาจะยังทำไหวไหม?
เงิน....ใคร
ๆ ก็อยากได้หรอกครับ แต่นายจ้างที่ดีก็ไม่ควรจะใช้เงินเข้ามาล่อลูกจ้างโดยไม่คำนึงถึงผลระยะยาวเกี่ยวกับสุขภาพ
คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ หรือครอบครัวของลูกจ้างว่าจะเป็นอย่างไร
ผมเคยต่อว่าหัวหน้างานที่สั่งให้ลูกน้องทำโอทีแบบหามรุ่งหามค่ำเป็นชั่วโมงทำงานที่ติดต่อกัน
(นับรวมชั่วโมงทำงานปกติรวมกับชั่วโมงที่ทำโอที) 2-3 วัน
โดยอ้างว่างานเร่ง ลูกค้าต้องการด่วน
ตัวลูกน้องก็อยากได้โอทีและคิดว่าตัวเองอายุยังน้อยยังสู้ไหวก็ทำงานติดต่อกันแบบไม่หลับไม่นอน
2-3 วัน จนที่สุดเมื่องานส่งมอบให้ลูกค้า
ลูกน้องก็ขับรถกลับบ้านระหว่างทางก็ไปเสยท้ายรถบรรทุกที่จอดข้างทางเพราะหลับใน
ดีนะครับที่ไม่ถึงกับเสียชีวิต
อย่าลืมว่าคนเราไม่ได้มีชีวิตแต่ที่ทำงานเพียงด้านเดียวนะครับ
พนักงานในบริษัทของท่านยังมีคนที่เขารัก และรักเขารอคอยอยู่ที่บ้านด้วยเหมือนกัน
ถ้าผู้บังคับบัญชาคิดแต่จะเร่งงานจนลืมคิดถึงความอ่อนล้าของคน
หรือไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพความปลอดภัยของลูกน้อง คิดแต่เพียงง่าย ๆ
ว่าขอให้งานเสร็จ งานเสร็จเราก็จ่ายเงิน (โอที) ให้
พนักงานก็แฮปปี้เพราะได้เงินมีรายได้เพิ่ม
คิดอย่างนี้ไม่เห็นแก่ตัวเกินไปหรือครับ?
เพราะคนเราต้องสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัว (และครอบครัว)
ให้ดีด้วยเช่นเดียวกัน แบบที่เขาเรียกว่าจะต้องมี “Work Life
Balance” ที่ดีด้วย
แม้ลูกน้องอยากจะมีรายได้เพิ่มจากการทำโอที
แต่ผู้บริหารก็ควรจะต้องมีดุลยพินิจและมีสามัญสำนึกที่เหมาะสมด้วยถึงจะเป็นผู้นำที่ดีได้ครับ
จากที่ผมบอกมาทั้งหมดนี้ก็อยากจะให้เป็นข้อคิดอีกเรื่องหนึ่งว่า
ปัจจุบันองค์กรของท่านมีการจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมดีแล้วหรือยังเมื่อเทียบกับตลาดแข่งขัน
องค์กรของท่านจ่ายน้อยเกินไปจนกระทั่งพนักงานต้องมาพึ่งพารายได้จากโอทีจนทำให้คุณภาพชีวิตของเขาแย่ลงไปหรือไม่!
และในอนาคตองค์กรของท่านจะมีพนักงานที่กรอบเพราะทำงานหนักจนเกินไป
มีแต่พนักงานขี้โรคที่ขาดความสามารถจะเติบโตไปกับองค์กรในอนาคต
หรือพนักงานมีปัญหาครอบครัวเพราะมัวแต่บ้างานแล้วในที่สุดจากปัญหาครอบครัวก็จะลามมาถึงที่ทำงาน
เช่น พนักงานเครียดเพราะมีปัญหากับแฟน มีปัญหาลูกขาดความอบอุ่นติดเกมติดยา ฯลฯ
อย่างนั้นหรือครับ?
.................................