วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2562

คิดจะเป็น HRBP อย่าลืมเรียนรู้งาน HR ให้ดีด้วย


            อาจจะเป็นความโชคดีของผมมั๊งครับที่เรียนด้านบริหารธุรกิจมาแล้วจับพลัดจับผลูมาทำงาน HR ตั้งแต่จบ ทั้ง ๆ ที่ก่อนจบอยากทำงานด้าน Front Office เช่นฝ่ายการตลาด, สินเชื่อของธนาคาร เพราะคนที่เรียนด้านบริหารธุรกิจก็จะต้องเรียนเรื่องบัญชี, การเงิน, เศรษฐศาสตร์, การตลาด, การจัดการ, การผลิต, IT ฯลฯ เพื่อเป็นพื้นฐานให้เข้าใจเรื่องของธุรกิจทั้งหมดจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในงานที่ทำได้

            จากพื้นฐานตรงนี้ทำให้เมื่อผมต้องมาทำงาน HR ก็เลยทำให้ผมคุยกับผู้บริหารหรือ Line Manager รู้เรื่องเพราะเข้าใจภาษาธุรกิจ ถ้าเปรียบไปก็เหมือนกับพูดภาษาเดียวกับเขาได้แหละครับ เขาจะพูดเรื่องยอดขาย, กำไร, การวางแผนกลยุทธ์ของบริษัท, ส่วนลด, Promotion, Ratio ทางการเงิน, การอ่านงบการเงิน ฯลฯ เราก็เข้าใจว่าเขาหมายความว่าอะไร ไม่ใช่ว่าเราจะเอาแต่พูดภาษาของเรา (คือภาษา HR) แล้วไม่ยอมเข้าใจภาษาของเขาเลย เพราะถ้าจะพูดกันแต่เรื่องรับคนเข้า, เอาคนออก, ตรวจบัตรตอก, ออกใบเตือน ฯลฯ อย่างงี้ก็คงจะคุยกันไม่ราบรื่นแหง ๆ

            ผมเคยพูดและเขียนในหนังสือหรือบทความต่าง ๆ มากว่า 20 ปีแล้วว่า HR ควรจะต้องมีความรู้ด้านธุรกิจด้วย ไม่ใช่มีแต่ความรู้ด้าน HR เพียงอย่างเดียวและแนะนำว่า HR ควรจะต้องไปเรียน Min MBA หรือ Micro MBA หรือถ้าจะต่อโทก็ควรเรียนด้าน MBA เพื่อให้เข้าใจธุรกิจด้วยจะได้คุยกับ Line Manager รู้เรื่อง

            ความเห็นของผมในอดีตเหล่านี้ในปัจจุบันมาเรียกกันว่า HR Strategic Partner” บ้าง หรือเรียกว่า HR Business Partner” บ้าง ซึ่งไม่ว่าจะเรียกชื่ออะไร (ผมไม่ค่อยยึดติดชื่อเรียกที่ประดิษฐ์คำให้ดูหรูนักแต่จะดูว่านำไปใช้จริงได้ไหมเป็นหลักมากกว่า) ก็ตาม มันก็คือความหมายที่ว่าคนทำงาน HR ควรจะต้องมีความรู้ในเชิงธุรกิจจะได้มีส่วนช่วยฝ่ายบริหารและฝ่ายต่าง ๆ วางแผนในเรื่องของผู้คนในองค์กรให้มีศักยภาพให้มีขีดความสามารถมีความพร้อมในการทำงานเพื่อให้องค์กรสามารถแข่งขันได้

            ปัจจุบันก็มีการให้ความรู้ด้าน HRBP กันไม่น้อยซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่จะทำให้คนทำงาน HR ที่ยังไม่เคยเรียนรู้ด้านบริหารธุรกิจมาก่อนได้เปิดโลกทรรศน์มุมมองทางธุรกิจ จะได้คุยกับฝ่ายบริหารและ Line Manager ได้ดีขึ้น

            แต่....

            สิ่งที่ผมอยากจะฝากข้อคิดไว้ในเรื่องนี้ก็คือ....

          ในขณะที่เราขวนขวายเรียนรู้เรื่องของ HRBP ก็อย่าทิ้งการหาความรู้ด้าน HR ของเราให้แน่นและให้แม่นแบบ “รู้ลึก-รู้จริง” ไปด้วยนะครับ

            ควรหันกลับมาทบทวนและถามตัวเองด้วยว่าเราได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในงาน HR ที่สำคัญ 5 เรื่องหลัก ๆ คือ 1. การสรรหาคัดเลือก 2. การบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ 3. การประเมินผลการปฏิบัติงาน (ในวันนี้จะเรียกชื่อ PMS, KPI, BSC, OKR ฯลฯ ผมก็จับรวมไว้ในเรื่องนี้) 4. การพัฒนาบุคลากร (HRD) 5. กฎหมายแรงงานและการแรงงานสัมพันธ์ และในยุคนี้ก็ควรจะรวมเรื่อง HRIS (Human Resource Information System) เข้าไปด้วยเพราะเป็นยุค Big Data หรือ Data Scientist ซึ่งจะต้องพูดคุยแก้ปัญหาและตัดสินใจกันด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว ฉับไวกันแล้ว

            ต้องถามตัวเองว่าทั้ง 5-6 เรื่องที่ผมบอกมานี้เราได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ทำงานจริงแล้วหรือยัง ครบถ้วนทุกด้านไหม เราแม่นและรู้ลึกรู้จริงในเรื่องเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

            ควรหาโอกาสที่จะได้เข้าไปเรียนรู้ใน Function ที่เรายังไม่รู้ให้รู้และเข้าใจมากขึ้น

            ต้องไม่ลืมว่า HR Functions ทั้ง 5-6 เรื่องนี้คือ “งานหลัก” ที่คนในองค์กรคาดหวังว่าเราจะต้องมีความแม่นยำ สามารถให้คำปรึกษา และ Support ได้

          ไม่ใช่มัวแต่ไปเรียนรู้ HRBP จนลืมเรื่องหลักที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญของตัวเอง!

            ต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันเราคือใคร ทำงานอยู่ในตำแหน่งใด หน้าที่ความรับผิดชอบของเราคืออะไร เรามีความรู้ความสามารถและทำงานในตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบของเราได้ดีพอแล้วหรือยัง

            เพราะไม่งั้นเวลาไปคุยกับฝ่ายบริหารเรื่องแผนธุรกิจของบริษัทแล้วพอจะต้องแปลงแผนกลยุทธ์ของบริษัทมาเป็นแผนด้าน HR แล้วดันไม่แม่นในเรื่องของ HR Functions ที่ผมบอกไปข้างต้นนี่ความน่าเชื่อถือจากฝ่ายบริหารและ Line Manager กับ HR นี่จบเลยนะครับ

            เข้าตำรา “รู้ทุกอย่าง เว้นอย่างเดียวคือ..รู้งานของตัวเอง”

          ถ้าเป็นอย่างนี้ใครเขาจะยอมรับให้เป็น HRBP กันล่ะครับ?

………………………………….