วันนี้ผมพาท่านย้อนยุคกลับไปสมัยลงทะเบียนวิชาจิตวิทยา 111 อีกครั้งเพื่อจะได้ทำความเข้าใจในเรื่องความต้องการของคนที่ไม่มีวันสิ้นสุดเผื่อจะได้ทำให้ทั้งหัวหน้างานและคนที่ทำงานด้าน
HR จะได้เข้าใจและทำใจเมื่อจะต้องไปบริหารคน
หวังว่าท่านที่เคยเรียนเรื่องนี้มาแล้วคงยังไม่เบื่อที่จะอ่านซ้ำนะครับ
อับราฮัม
ฮาโรล มาสโลว์ (Abraham
Harold Maslow- พศ.2451-2513) หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย
Brandeis (แบรนดีส์) นำเสนอทฤษฎีลำดับความต้องการ (Hierarchy
of Needs Theory) ที่โด่งดังในเวลาต่อมา
มาสโลว์บอกว่าคนเราจะมีความต้องการทั้งหมดอยู่
5 ระดับคือ
1.
ความต้องการทางร่างกาย (Physiological
Needs)
ซึ่งถือว่าเป็นความต้องการระดับพื้นฐานขั้นต่ำสุดของคน
นั่นคือคนเราจะต้องการปัจจัยสี่ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย
ยารักษาโรค
ดังนั้นคนเราจึงทำงานหาเงินมาเพื่อให้มีปัจจัยสี่และยังรวมไปถึงต้องการให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม
เช่น สภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม, ความสะอาด, แสงสว่าง, การระบายอากาศ
สถานที่ทำงานถูกสุขลักษณะด้วย ข้อคิดในเรื่องนี้ก็คือวันนี้องค์กรของท่านได้สนองความต้องการของพนักงานในระดับพื้นฐานบ้างแล้วหรือยัง
สถานที่ทำงานมีสภาพแวดล้อม, ความสะอาด, ความปลอดภัยน่าทำงานมากน้อยแค่ไหน
เพราะนี่ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่พนักงานเข้าใหม่ลาออกเพราะสถานที่ทำงานไม่น่าทำงานก็เป็นไปได้นะครับ
2.
ความต้องการความปลอดภัย (Safety Needs) เมื่อความต้องการทางร่างกายได้รับการเติมเต็มแล้ว
คนก็จะมีความต้องการในระดับที่สูงขึ้นคือต้องการความปลอดภัย,
ต้องการความมั่นคงในการทำงาน,
มีความปลอดภัยในการทำงานมากยิ่งขึ้นเช่นมีการประกันชีวิตและอุบัติเหตุสำหรับพนักงาน,
การมีกฎระเบียบในการทำงานที่ยุติธรรม, ไม่ถูกเลิกจ้างถูกลอยแพได้ง่าย ๆ คำถามในข้อนี้คือในองค์กรของท่านได้สร้างความปลอดภัยในการทำงานให้กับพนักงานแล้วหรือยัง,
มีกฎระเบียบคำสั่งใดที่เอารัดเอาเปรียบพนักงานหรือไม่,
จ่ายเงินเดือนตรงเวลาหรือเปล่า ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ก็มักจะเป็นต้นเหตุของปัญหาในเรื่องคนได้อยู่เสมอ
3.
ความต้องการทางสังคม (Social Needs) เมื่อคนเราได้รับความปลอดภัยในชีวิตในการทำงานดีแล้ว
มาสโลว์บอกว่าคนเราจะต้องการในเรื่องที่สูงขึ้นไปอีก นั่นคือจะต้องการมิตรภาพ,
ความรัก, เพื่อนฝูง, การยอมรับต้อนรับจากสังคม, การได้รับความชื่นชมจากคนรอบข้าง จากตรงนี้ถ้าองค์กรไหนสามารถสร้างกิจกรรมชมรมต่าง
ๆ เพื่อให้พนักงานมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันแบบนันทนาการก็จะสามารถสร้างความผูกพันระหว่างคนและองค์กรเอาไว้ได้เหมือนกันนะครับ
สำหรับองค์กรที่มีมิติเดียวคืองาน..งาน..และงานควรหันกลับมาให้ความสนใจและให้ความสำคัญในเรื่องนี้เอาไว้ด้วย
4.
ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียงและการยกย่อง
(Self
Esteem) มาสโลว์บอกว่าเมื่อคนได้รับมิตรภาพและได้รับการยอมรับให้เข้ากลุ่มแล้ว
คนจะต้องการในสิ่งที่สูงมากขึ้นไปอีก นั่นคือต้องการสร้างสถานภาพของตัวเองให้สูงเด่นยิ่งขึ้น
เช่น ต้องการได้รับการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งที่สูงมากยิ่งขึ้น, การได้รับโล่ห์เหรียญหรือรางวัลยกย่องเชิดชูความรู้ความสามารถ,
การได้รับความเคารพ, ได้รับการปรับเงินเดือนเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นคนที่มีความสามารถ,
ได้รับโอกาสให้ทำงานชิ้นสำคัญเพื่อแสดงฝีมือจนเกิดการยอมรับ ฯลฯ
ซึ่งหัวหน้างานหรือผู้บริหารที่เข้าใจในความต้องการของคนในระดับนี้ก็จะสร้างระบบรางวัลเพื่อจูงใจ
(Recognition
Reward) คนที่มีความรู้ความสามารถ เอาไว้ให้อยู่กับองค์กร
คำถามคือในองค์กรของท่านมีระบบเหล่านี้บ้างหรือยัง?
5.
ความต้องการเติมเต็มศักยภาพของตนเอง (Self-Actualization
Needs) ความต้องการระดับนี้มาสโลว์บอกว่าเป็นความต้องการระดับสูงสุดของคน
นั่นคือต้องการจะทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งหมดของตัวเองให้ได้ในสิ่งที่ตนเองปรารถนาไว้สูงสุด
เช่น
ฝันอยากจะเป็นเจ้าของกิจการก็จะมุ่งมั่นทำตัวเองให้ได้เป็นเจ้าของกิจการสำเร็จได้อย่างที่ฝันไว้
หรือฝันอยากจะเป็นเบอร์หนึ่งขององค์กรก็จะพยายามทำให้ตัวเองได้ก้าวขึ้นมายืนในตำแหน่งหมายเลขหนึ่งขององค์กรให้ได้
เป็นต้น
แต่...มีคนอีกไม่น้อยที่เคยฝันว่าอยากเป็นเจ้าของกิจการเล็ก
ๆ ก็พอใจแล้ว แต่เมื่อได้เป็นเจ้าของกิจการแล้วก็เริ่มคิดอยากจะขยายกิจการขยายสาขาไปเรื่อย
ๆ
บริษัทจ่ายโบนัสให้
4 เดือนเมื่อปีที่แล้ว
แต่พอปีนี้ได้โบนัสเท่าเดิมพนักงานก็อยากจะขอเพิ่มขึ้นเป็น 5 เดือนเพราะโรงงานข้าง ๆ เขาจ่ายโบนัส 5 เดือน
หรือให้เท่าไหร่ทำไมไม่ถึงใจคนรับสักที
ฯลฯ
จะมีสักกี่คนที่จะบอกว่า
“พอแล้ว” ?
ผมว่าสิ่งเหล่านี้คงขึ้นอยู่กับกิเลสในใจของแต่ละคนว่าจะมีมากน้อยแค่ไหนมั๊งครับ
ดังนั้นถ้าคนที่เป็นหัวหน้า ผู้บริหาร และ HR เข้าใจถึงความต้องการของคนได้ดีขึ้นตามแนวคิดของมาสโลว์แล้วจะได้เตรียมปรับความคิด
เตรียมทำใจเอาไว้เมื่อจะต้องไปบริหารคนหรือไปทำงานกับผู้คนว่า....
คน..มีแนวโน้มจะมีความต้องการอย่างไม่สิ้นสุดหรือได้เท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ
และจะมีแนวโน้มที่จะขยายความต้องการเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อย
ๆ ได้เท่านี้ก็ต้องการจะได้เพิ่มขึ้นไปอีก
ถ้าเราเข้าใจสัจธรรมอันนี้จะได้หาวิธีการบริหารความต้องการของคนในแต่ละกลุ่มให้เหมาะสมที่สุดในแต่ละสถานการณ์
โดยไม่มามัวนั่งบ่นหรือเซ็งใจว่าทำไมคนนั้นเป็นอย่างงั้นคนนี้เป็นอย่างงี้ ทำไมให้เท่าไหร่ไม่รู้จักพอเสียที
ฯลฯ
ก็เพราะว่าคนมักจะมีความต้องการแบบไม่สิ้นสุดนี่เองเราถึงต้องเรียนรู้การบริหารจัดการความไม่เคยพอของมนุษย์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้ทุก ๆ คนพอใจและการบริหารความไม่เคยพอของคนก็ไม่มีสูตรสำเร็จเสียด้วย
ข้อตกลงที่ทำไปเมื่อปีที่แล้วอาจจะใช้ไม่ได้ผลในปีนี้ก็ได้
งานที่เกี่ยวกับการบริหาร(ความต้องการของ)คนถึงได้มีเสน่ห์ตรงนี้ยังไงล่ะครับ
................................