วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562

10 เรื่องน่ารู้สำหรับ HR มือใหม่


            จากประสบการณ์ที่ผมได้รู้จักคนที่เข้ามาทำงาน HR ก็พบว่าบางคนมาทำงานด้านนี้เพราะใจสั่งมาคืออยากจะมาทำงานด้านนี้จริง ๆ ชอบการติดต่อกับผู้คน สนใจใฝ่เรียนรู้ในงาน HR

            แต่บางคนก็มาทำงาน HR เพราะไม่รู้จะทำงานอะไรดีหรือไม่ก็ปะเหมาะเคราะห์ดีบริษัทนี้เขารับเราเข้ามาทำงาน HR เพราะขาดคนก็เลยทำไปก่อนถ้าได้งานใหม่ค่อยไปทำที่ใหม่ หรือบางคนก็อาจจะถูกผู้บริหารย้ายให้มาทำงาน HR โดยมีสาเหตุต่าง ๆ กันไป เช่น มีความผิดและอยู่ระหว่างการสอบสวน, หมดไฟในหน่วยงานเดิมก็เลยย้ายมาทำงานที่ฝ่าย HR เพราะคิดว่าผลกระทบน้อยที่สุด ฯลฯ

            แต่ไม่ว่าใครจะมาทำงาน HR ด้วยเหตุผลใดก็ตามแล้วมาเป็นมือใหม่ในงาน HR ผมก็อยากจะแชร์ 10 เรื่องน่ารู้สำหรับ HR มือใหม่ (ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตามในฝ่าย HR) ดังนี้ครับ

1.      ต้องมีจรรยาบรรณรู้จักเก็บความลับ : งาน HR เป็นงานที่ต้องเกี่ยวกับความลับในเรื่องต่าง ๆ ของผู้คนในองค์กร เช่น ข้อมูลเงินเดือนของพนักงานทุกระดับ, ข้อมูลส่วนตัวของพนักงาน, ผลการขึ้นเงินเดือนประจำปี, ความคิดเห็นของฝ่ายบริหารต่อพนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่เป็น Off record ฯลฯ คนทำงาน HR จึงจะต้องมีจรรยาบรรณ รู้ว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูด ถ้าใครชอบทำตัวเป็น Insider หรือคนประเภทฉันรู้โลกต้องรู้ชอบแฉแต่เช้ายันค่ำคงไม่เหมาะกับงาน HR แล้วล่ะครับ

2.      มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง : คนทำงาน HR ควรจะต้องยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นมิตรกับคนรอบข้าง เพราะงาน HR ไม่ใช่งานที่เป็นเจ้านายของคนทั้งบริษัท HR ไม่มีอำนาจไปสั่งให้ใครทำอะไรได้เพราะไม่ได้เป็นหัวหน้าของคนทั้งบริษัท แต่งานจะสำเร็จได้จะต้องไป “ขอความร่วมมือ” จากหน่วยงานต่าง ๆ ถ้า HR ขาดมนุษยสัมพันธ์ท่านลองคิดดูว่าจะได้รับความร่วมมือหรือไม่

3.      มีทักษะการสื่อสารและประสานงาน : นอกจากจะต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีแล้วคนทำงาน HR ควรจะต้องมีทักษะในการสื่อสารและประสานงานหาความร่วมมือจากพนักงานในแต่ละระดับในแต่ละหน่วยงาน เมื่อพูดถึงทักษะคือการฝึกฝนจนชำนาญดังนั้นต้องฝึกครับยิ่งฝึกบ่อยยิ่งชำนาญ

4.      ไม่จ้องจับผิดและตักเตือนพนักงานทั้งบริษัท : ต้องเปลี่ยน Mindset เสียใหม่จากความคิดเดิมที่ว่า HR จะต้องเป็นเหมือนครูผู้ปกครองจะดุด่าว่ากล่าวพนักงานฝ่ายไหนแผนกไหนก็ได้ จะเรียกใครมาตักเตือนก็ทำได้ เพราะถ้าคนทำงาน HR คิดแบบนี้ก็จะมีบทบาทเป็นคนคอยจับผิดพนักงานมาลงโทษ   ซึ่งหน้าที่ในการตักเตือนพนักงานที่ทำผิดเป็นเรื่องของหัวหน้างานในหน่วยงานนั้น ๆ โดยตรงนะครับ ไม่ใช่หน้าที่ของ HR ส่วน HR จะมีหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษากับหัวหน้าแต่ละหน่วยงานว่าถ้าลูกน้องของตัวเองทำผิดฝ่าฝืนกฎระเบียบต่าง ๆ หัวหน้าควรจะทำยังไง ไม่ใช่ว่า HR ไปทำบทบาทหัวหน้าของพนักงานโดยตรงซะเอง

5.      ยึดหลักเกณฑ์มากกว่าหลักกู : ประเทศชาติมีกฎหมาย องค์กรมีกฎระเบียบหน้าที่หนึ่งที่สำคัญของ HR คือเป็นคนคอยดูแลให้ทุกหน่วยงานมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบกติกาที่องค์กรกำหนดไว้ให้เป็นไปในกติกาเดียวกัน ดังนั้น HR จำเป็นจะต้องยึดหลักเกณฑ์หรือระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ในการตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้คนในองค์กร เพราะถ้ายึดหลักกูคือใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจแก้ปัญหาโดยมีข้อยกเว้นให้กับคนนี้คนนั้นคนโน้นแล้วไม่สามารถตอบคำถามผู้คนในองค์กรได้ว่าทำไมคนนั้นถึงได้สิทธินั้น ทำไมฉันถึงไม่ได้บ้างทั้ง ๆ ที่องค์กรก็มีกฎเกณฑ์เดียวกันนี่บอกได้เลยว่าพนักงานจะขาดความเชื่อมั่นใน HR ไปเลยนะครับ  HR จึงจำเป็นต้องยึดหลักเกณฑ์มากกว่าหลักกู แต่ถ้าหลักเกณฑ์หรือกฎระเบียบข้อบังคับใดล้าสมัยก็สามารถเสนอขอ Update แก้ไขได้นะครับ แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อแก้ไขแล้วก็ต้องกลับมายึดกติกาไว้เหมือนเดิมครับ เพราะปัญหาในการบริหารคนทุกวันนี้ตั้งแต่ระดับองค์กรยันประเทศชาติก็เพราะการใช้หลักกูมากกว่าหลักเกณฑ์นี่แหละครับ

6.      เป็นผู้ดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเท่าเทียม : ข้อนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากการยึดหลักเกณฑ์มากกว่าหลักกู นั่นคือจะต้องเป็นคนกลางที่คอยดูแลให้ทุกหน่วยงานมีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือระเบียบตามที่บริษัทกำหนด ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติหรือมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกับพนักงานครับ

7.      จำ ๆ ลืม ๆ เสียบ้าง : อันนี้นายเก่าผมสอนมาเองครับ เพราะการทำงานเกี่ยวกับคนย่อมจะมีทั้งคนด่าและคนชม ถ้าถูกคนด่าในเรื่องที่เราไม่ได้ทำผิดแต่เขาอาจจะไม่พอใจที่เราไปยึดหลักเกณฑ์ พอเราทำตามหลักเกณฑ์แล้วพนักงานเสียประโยชน์เขาก็จะด่าว่าเรา อันนี้ก็ต้องลืมไปบ้างอย่าไป Give a damn ให้มันมากเกินไปครับไม่งั้นมีหวังเป็นโรคเครียดนอนไม่หลับ แต่ถ้าอะไรที่เราผิดพลาดจริง ๆ ก็ต้องจำเอาไว้ปรับปรุงแก้ไขไม่ให้ผิดซ้ำ

8.      สนใจใฝ่หาความรู้ในงาน HR ทุกด้าน : งานของ HR จะมี 5 Functions ใหญ่ ๆ คือ สรรหาว่าจ้าง, ค่าตอบแทนและสวัสดิการ, ประเมินผลการปฏิบัติงาน, พัฒนาพนักงาน, แรงงานสัมพันธ์ เมื่อมาทำงาน HR แล้วควรหาโอกาสศึกษาเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้ครบทุกด้านจะได้มีประโยชน์กับตัวเราเองในอนาคต ไม่ควรทำงานหน้าเดียว

9.      ยืนตรงกลางระหว่างผู้บริหารและพนักงาน : เมื่อพนักงานเรียกร้องหรือทำในสิ่งไม่ถูกต้องก็ต้องพร้อมจะอธิบายชี้แจงโดยต้องเตรียมใจให้พร้อมสำหรับข้อหาที่ว่า HR เข้าข้างบริษัท ในขณะที่ถ้าฝ่ายบริหารทำสิ่งไม่ถูกต้องก็ต้องกล้าที่จะบอกว่าสิ่งที่ฝ่ายบริหารจะทำนั้นจะเกิดปัญหาอะไรบ้างกับพนักงานและองค์กรและควรเสนอหาวิธีป้องกันแก้ไขให้ด้วย ซึ่งก็จะถูกฝ่ายบริหารตำหนิว่า HR เข้าข้างพนักงาน พูดง่าย ๆ ว่าโดยทั้งขึ้นทั้งล่องแหละครับ ใครจะว่าเรายังไงก็เป็นเรื่องของเขาแต่เราต้องรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่และสิ่งที่เราทำถูกต้องอยู่บนหลักเกณฑ์เหตุผลที่ดีก็พอแล้วครับ

10.   มีความละเอียดรอบคอบ : งานทุกชิ้นที่จะปล่อยออกไปสู่นอกหน่วยงาน เช่น ประกาศ, คำสั่ง, กฎระเบียบ, ข้อบังคับ ฯลฯ จะต้องมีความถูกต้องแม้แต่การสะกดชื่อ-นามสกุล, ตำแหน่ง, หน่วยงาน ของพนักงานจะต้องไม่ผิดพลาด ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการขออนุมัติต่าง ๆ เช่น การเสนอขออนุมัติการปรับเงินเดือน, ขออนุมัติจ่ายโบนัส ฯลฯ ตัวเลขข้อมูลทั้งปลีกย่อยและยอดรวมจะต้องมีความถูกต้อง ถ้าขาดความละเอียดรอบคอบและเกิดความผิดพลาดขึ้นมาบ่อย ๆ ล่ะจะเสียความน่าเชื่อถือได้ทันที

            ทั้ง 10 ข้อนี่แหละครับที่ผมแชร์มาจากประสบการณ์และคิดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ก้าวเข้ามาทำงานเป็น HR มือใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคนเพิ่งจบการศึกษามาใหม่หรือคนที่มีประสบการณ์ทำงานแล้วแต่ถูกย้ายให้มาทำงาน HR ได้ทราบเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจในการทำงานด้านนี้ต่อไปครับ

……………………………….