วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562

หัวหน้าที่ไม่กล้าแจ้งผลการทำงานกับลูกน้องยังเหมาะที่จะเป็นหัวหน้าหรือไม่?


            การแจ้งผลการทำงานหรือที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า Feedback” (ซึ่งผมไม่ค่อยจะแปลว่า “การสะท้อนผลกลับ” เหมือนที่ใคร ๆ ชอบแปลอย่างนั้นเพราะฟังแล้วชวนงงกับคำแปล) เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งสำหรับคนที่เป็นหัวหน้า (ผมหมายถึงคนที่มีลูกน้องไม่ว่าจะใช้ชื่อเรียกตำแหน่งว่าอะไรก็ตาม แม้แต่คนที่เป็น MD หรือ CEO ผมก็เรียกรวมว่า “หัวหน้า” ด้วยนะครับ) ควรจะต้อง “กล้า” ที่จะแจ้งผลการทำงานของลูกน้องให้เขาได้รับทราบเพราะ....

1.      การแจ้งผลเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ให้ลูกน้องรู้ว่าตัวเองทำงานเป็นยังไงบ้างในสายตาหัวหน้า ถ้าหัวหน้าไม่ยอมแจ้งผลอะไรเลย ลูกน้องก็อาจจะคิดว่าพฤติกรรมหรือการทำงานที่ตัวเองทำอยู่ในแต่ละวันนั้นดีอยู่แล้วเพราะไม่เห็นพี่เขาว่าอะไร ทั้ง ๆ ที่พฤติกรรมหรือการทำงานของเขาเกิดปัญหาขึ้นแล้วกับงานที่เขาต้องรับผิดชอบ หรือกับทีมงาน

          ถ้าหัวหน้าไม่ส่งสัญญาณให้ลูกน้องรู้ปัญหาเหล่านี้ก็จะบานปลายเหมือนกับสนิมที่มักจะเกิดจากจุดเล็ก ๆ แล้วก็ลุกลามขยายมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

2.      เมื่อหัวหน้าแจ้งให้ลูกน้องรู้ว่าพฤติกรรมหรือการทำงานที่เขาทำอยู่นั้นดีหรือไม่ดี (ทั้งติหรือชม) ลูกน้องจะได้เกิดความมั่นใจมากขึ้น เมื่อหัวหน้าแจ้งยืนยัน (ชม)ในสิ่งดี ๆ ที่เขาทำอยู่ หรือจะได้พูดจากับหัวหน้าในเรื่องที่หัวหน้าบอกว่าไม่ดี (ติ) ในกรณีที่พฤติกรรมหรืองานที่ลูกน้องทำเกิดปัญหา จะได้หาข้อสรุปในการแก้ปัญหาร่วมกัน

          การแจ้งผลการทำงานนั้น หัวหน้าสามารถทำได้เสมอเมื่อต้องการจะชมหรือจะติในเรื่องพฤติกรรมหรือผลการทำงานของลูกน้องนะครับ และไม่จำเป็นจะต้องทำเป็นพิธีกรรมปีละครั้งตามตำราหรอก

            เรียกว่าเห็นลูกน้องทำงานดีก็เรียกมาชม หรือถ้าลูกน้องทำงานไม่ดีมีปัญหาก็บอกให้เขารู้และหาทางแก้ไขกันได้ทันที

          ถามว่าถ้าลูกน้องทำงานไม่ดีหัวหน้าจะตำหนิได้ไหม?

            ได้ครับ เพราะการตำหนิเมื่อลูกน้องทำงานไม่ดีจะเป็นการส่งสัญญาณที่แรงชัดมากขึ้นว่าพฤติกรรมหรือการทำงานที่เขากำลังทำอยู่นั้น หัวหน้าไม่เห็นด้วย

            แต่หัวหน้าก็จะต้องมีเหตุมีผลมีข้อมูลข้อเท็จจริงให้ชัดเจนว่าเรื่องที่ตำหนิลูกน้องน่ะเป็นเรื่องอะไร เกิดปัญหาอะไรยังไง มีผลกระทบยังไงบ้าง และสิ่งสำคัญคือทั้งหัวหน้ากับลูกน้องจะร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดนั้นยังไง

            แต่..การตำหนิไม่ใช่การด่าลูกน้องนะครับ เพราะการตำหนิลูกน้องด้วยเหตุด้วยผลและต้องการให้ลูกน้องปรับปรุงพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นผมมักพบว่าไม่มีปัญหาอะไรมากนัก

          แต่ปัญหาที่มักเกิดระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องคือการ “ด่า” นี่แหละครับ ที่เป็นสาเหตุให้ผมต้องเป็นกรรมการสอบสวนวินัยเรื่องที่ลูกน้องดักต่อยหัวหน้า, รถหัวหน้าถูกมือมืดกรีด, ปล่อยลมยางรถหัวหน้า ฯลฯ

          เพราะการด่าคือการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลครับ!!

            หัวหน้าจึงต้องระวังเรื่องการด่าและเตือนใจตัวเอง (รวมถึงการมีสติควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้) ว่าอย่าฟิวส์ขาดให้มันง่ายนัก

          แล้วทำไมหัวหน้าอีกหลาย ๆ คนถึงไม่ยอมแจ้งผลลูกน้อง?

            ผมมักจะได้รับคำตอบทำนองนี้บ่อยครับ เช่น....

            บริษัทไม่มีนโยบายให้แจ้งผลจะแจ้งก็ไม่หรือไม่แจ้งก็ได้, แจ้งผลไปแล้วเดี๋ยวจะมีปัญหาเพิ่มขึ้น, แจ้งไปแล้วเดี๋ยวลูกน้องไม่พอใจ, ให้ฝ่ายบุคคลเป็นคนแจ้งดีกว่าเพราะเป็นคนกลาง, ไม่รู้ว่าจะแจ้งผลยังไงดี ฯลฯ

            ถ้าตราบใดที่หัวหน้ายังมีข้ออ้างสารพัดอยู่อย่างนี้ก็ไม่มีวันที่จะเริ่มแจ้งผลการทำงานให้ลูกน้องทราบได้หรอกครับ ผมว่าทั้งหลายทั้งปวงเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดของหัวหน้าเสียก่อนดีไหมครับว่าเราควรจะต้องแจ้งผลงานลูกน้อง เริ่มจากเริ่มชมเมื่อลูกน้องทำงานได้สำเร็จอย่างที่เรามอบหมาย

            เมื่อลูกน้องมีพฤติกรรมหรือมีการทำงานที่น่าจะเกิดปัญหาเราก็ควรจะต้องหาเวลาพูดคุย ซึ่งก่อนพูดคุยก็ควรจะมีการหาข้อมูลเสียก่อนว่าเรื่องที่เกิดปัญหามีอะไรบ้าง จะมีปัญหาต่อไปมาก-น้อยแค่ไหน เราอยากให้ลูกน้องปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขยังไง ผลลัพธ์ที่เราต้องการให้ลูกน้องเปลี่ยนคืออะไร เมื่อไหร่ ยังไง

            พูดง่าย ๆ ว่าก่อนแจ้งผลจะต้องหาข้อมูลและวางแผนเอาไว้ก่อนล่วงหน้าไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็เรียกลูกน้องมาตำหนิ มาด่า หรือมาพูดโดยไม่มีข้อมูล ไม่มีการวางแผนเอาไว้ก่อน

            ผมหวังว่าหัวหน้าที่ได้อ่านเรื่องนี้มาจนถึงตรงนี้คงจะเห็นความสำคัญของการแจ้งผลการทำงานให้ลูกน้องรู้มากขึ้นแล้วนะครับ

            ถ้าอ่านมาจนถึงตรงนี้แล้วยังไม่กล้าแจ้งผลให้ลูกน้องรู้อีกล่ะก็ ต่อให้เปลี่ยนจาก KPIs มาเป็น OKRs หรือจะใช้เครื่องมือหรือระบบอะไรเข้ามาก็ช่วยอะไรไม่ได้หรอกครับ

          เพราะระบบเป็นแค่ตัวช่วยตัวหนึ่งเท่านั้น ไม่สำคัญเท่ากับคนที่ใช้ระบบ(หรือผู้ประเมิน)มีคุณภาพหรือเปล่าต่างหาก

            แล้วหัวหน้าที่ไม่กล้าแจ้งผลให้ลูกน้องรู้นี่ผู้บริหารก็ควรจะต้องกลับมาคิดทบทวนแล้วด้วยเหมือนกันนะครับว่ายังมีความเหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้าดีหรือไม่?

            ลองคิดกันดูนะครับ

..................................