วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การบริหารค่าตอบแทนในยุค AEC ตอนที่ 1


            เป็นที่ทราบกันดีแล้วนะครับว่าประเทศไทยเราจะต้องสู่ยุคของการแข่งขันกันกลุ่มประชาคมอาเซียน (Asean Economic Community – AEC) ในปี 2558 ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องการแข่งขันกันในเฉพาะแค่ทางการค้าการขายระหว่างชาติอาเซียนเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรีโดยการอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับบุคคลธรรมดาที่เกี่ยวกับการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน เช่นการออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญและแรงงานฝีมือ

            จากเรื่องดังกล่าวทำให้มีผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือ (Skill Labour) ในช่วงเริ่มต้น 7 วิชาชีพคือ แพทย์, ทันตแพทย์, พยาบาล, วิศวกร, สถาปัตยกรรม, การสำรวจ และนักบัญชี ส่วนสาขาอื่น ๆ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา   ซึ่ง 7 วิชาชีพแรกเหล่านี้ก็จะมีโอกาสได้โกอินเตอร์ (อาเซียน) ได้ง่าย ๆ ถ้ามีความสามารถ (Competency) เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอาเซียนครับ

            จากที่ผมได้บอกมาข้างต้นก็ทำให้ได้ข้อคิดหลาย ๆ อย่างในการเตรียมตัวให้พร้อมดังนี้

1.        ตลาดแรงงานจะเปิดกว้างมากขึ้นจากเดิมที่เรากรอบความคิดแค่ว่าเมื่อจบการศึกษามาแล้วจะทำงานในประเทศไทยเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็จะกลายเป็นว่าถ้าใครมีความพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความรู้ความสามารถและอยู่ในกลุ่มวิชาชีพ 7 สาขาดังกล่าว และสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้แล้วล่ะก็ จะมีโอกาสได้ไปทำงานในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนได้อีกด้วย

2.        จากการที่ตลาดแรงงานเปิดกว้างมากขึ้นตามข้อ 1 ก็จะมองได้ทั้งวิกฤติและโอกาสคือ เป็นโอกาสของลูกจ้างที่จะได้ทำงานในประเทศอื่น ๆ และแน่นอนว่ามีโอกาสที่จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มมากขึ้น และถ้าแรงงานที่มีฝีมือเหล่านี้ถูกดึงตัวไปทำงานในประเทศอื่นอย่างนี้ บ้านเราก็คงจะมีวิกฤติในเรื่องการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งจากผลการสำรวจของกรมการจัดหางานโดยกองวิจัยตลาดแรงงานในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียนศึกษาเฉพาะนักเรียนมัธยมปลายในกทม.จำนวน 736 คนพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 99.46 ยังไม่ทราบเรื่องการเคลื่อนย้ายเสรีในประชาคมอาเซียน มีเพียงร้อยละ 0.54 เท่านั้นที่มีความรู้และเข้าใจ (อ้างอิงจากศูนย์ข้อมูลอาชีพ Career Information Center สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่) ก็เป็นเรื่องน่าคิดนะครับว่าวันนี้เราได้ให้ความรู้กับอนาคตของชาติที่กำลังจะเข้าสูงยุคการแข่งขันในภูมิภาคเพื่อให้เขาเลือกสาขาวิชาที่เหมาะสมกับตัวเขาและประเทศชาติได้มากน้อยแค่ไหน

3.        เรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานนี่มองได้หลายมุมนะครับ ในมุมหนึ่งอาจจะมองว่าคนของเราที่มีความรู้ความสามารถ (Skill Labour) อาจจะโดนซื้อตัวไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งก็เป็นโอกาสของคน ๆ นั้น แต่อีกมุมหนึ่งถ้าคนในบ้านเราขาดความสามารถ ขาดทักษะฝีมือแรงงานแล้วล่ะก็คนเหล่านี้ก็มีโอกาสตกงานได้เพราะนายจ้างก็มีโอกาสจ้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือแรงงานจากเพื่อนบ้านในอาเซียนมาทำงานแทน โดยอาจจะยอมจ่ายแพงว่าแต่ได้ผลิตผล (Productivity) ที่มากกว่าการจ้างแรงงานคนไทยที่ขาดทักษะฝีมือแรงงานด้วยเหมือนกัน
        จากที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้เป็นการฉายภาพในเบื้องต้นให้ท่านได้รับทราบก่อนว่าในอีกไม่นาน ประเทศของเราก็จะต้องเข้าสู่การแข่งขันระดับอาเซียนกันแล้ว ซึ่งจากเดิมที่เราอาจจะแข่งขันกันในประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อไปเราจะต้องสร้างขีดความสามารถและความพร้อมในการแข่งขันระดับภูมิภาคกันแล้ว
        ในตอนต่อไปผมจะมาแลกเปลี่ยนข้อคิดในเรื่องการบริหารค่าตอบแทนสำหรับการแข่งขันนี้ว่าจะมีข้อคิดอะไรกันบ้างนะครับ


.....................................................