หลังจากที่วิเคราะห์ผลกระทบการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น
450 บาท
(ถ้ามีการปรับจริง) ว่าบริษัทจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อเตรียมรับผลกระทบไปแล้ว
และจะพบว่าในช่วงหาเสียงเลือกตั้งทุกพรรคการเมืองก็จะหาเสียงเรื่องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
ซึ่งแน่นอนว่าทุกพรรคการเมืองจะเสนอตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำในเปอร์เซ็นต์สูงมากกว่าการปรับโดยไตรภาคี
เช่น ในปี 2555-56 ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 40% ปี 2566 (ถ้ามีการปรับจริง) จะเพิ่มขึ้นประมาณ 27.5%
ในขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยไตรภาคีจะมีค่าเฉลี่ยไม่เกิน
5%
ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งจะมีผลกระทบตามมาหลายเรื่องอย่างที่เราท่านเห็นกันอยู่
ผลกระทบจะมากหรือน้อยก็จะแปรตามเปอร์เซ็นต์ของการปรับแต่ละครั้ง
ผมก็เลยมีคำถามเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และหลักการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่เห็นมายาวนานหลายสิบปีอย่างนี้ครับ
1. การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นหน้าที่ของใคร
- ไตรภาคี หรือ
- พรรคการเมือง
2.
จะทราบได้อย่างไรว่าตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่คำนวณมาโดยพรรคการเมืองเหมาะสมแล้วเมื่อเทียบกับไตรภาคี
3. ถ้าตอบว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่คำนวณมาโดยพรรคการเมืองเหมาะสมแล้ว
แสดงว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาไตรภาคี
คำนวณต่ำกว่าความเป็นจริงมาโดยตลอดหรือ
และถ้าเป็นอย่างนั้นยังจำเป็นต้องมีไตรภาคีอยู่หรือไม่
หรือเราควรจะปฏิรูปวิธีการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่แบบไหน ยังไง โดยใคร
ถึงจะทำให้สมเหตุสมผลกว่าที่เป็นมาในอดีต
4. การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยยกระดับชีวิตแรงงาน
Unskilled ได้ในระยะยาวจริงหรือ
มีทางเลือกอื่นที่จะช่วยยกระดับชีวิตแรงงาน Unskilled ที่ดีกว่าการโฟกัสไปที่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหลักหรือไม่
5. แรงงาน
Unskilled ของไทยหรือต่างด้าวได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่ากัน
และเป็นสัดส่วนระหว่างแรงงานไทยและต่างด้าวเท่าไหร่ และจะมีผลกระทบต่อวัตถุประสงค์ในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมากน้อยเพียงใด
6. ทำยังไงที่จะพัฒนาแรงงานแบบ Unskilled Labor มาเป็น Skilled
Labor ที่ตลาดต้องการแล้วจ่ายค่าจ้างตามทักษะวิชาชีพซึ่งจะเป็นการยกระดับฝีมือแรงงานและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตามทักษะวิชาชีพอย่างสมเหตุสมผล
ก็คงจะได้แต่ตั้งคำถามเอาไว้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออยากให้มีการทบทวนในเรื่องนี้ว่าควรจะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปหรือควรจะปรับเปลี่ยนเป็นแบบไหนถึงจะไม่เกิดความลักลั่นกันมากจนเกินไป
เผื่อว่าจะได้เอาไว้กลับมาดูในอีกหลาย
ๆ ปีข้างหน้าว่าเราจะยังวนเวียนอยู่ในวัฏจักรแบบนี้หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
คงต้องรอคำตอบจากเวลาที่ผ่านไปครับ