หลักการสำคัญในการทำโครงสร้างเงินเดือนคือการนำตำแหน่งงานต่าง ๆ (ไม่ใช่แค่เพียงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง) ในแต่ละ Job Grade ไปเทียบกับตลาด (ซึ่งต้องมีข้อมูลการจ่ายเงินเดือนของตลาด) แล้วมาหาค่าเฉลี่ยว่าใน Job Grade นั้น ๆ ตลาดเขาจ่ายเงินเดือนมูลฐาน (Basic Salary) เฉลี่ยอยู่เท่าไหร่
แล้วจึงนำข้อมูลการจ่ายเงินเดือนมูลฐานของตลาดมาออกแบบโครงสร้างเงินเดือนโดยไม่ควรมีค่ากลาง
(Midpoint)
ในแต่ละ Job Grade ต่ำกว่าที่ตลาดเขาจ่ายกัน
แล้วค่อยไปหากรอบการจ่ายเงินเดือนของแต่ละ Job Grade ที่เหมาะสมว่าควรจะมี
Min (Minimum) หรือ Max (Maximum) เท่าไหร่ดี
เมื่อทำโครงสร้างเงินเดือนเสร็จเราก็จะมีกรอบการจ่ายเงินเดือนของตำแหน่งต่าง
ๆ ที่ชัดเจนและสามารถแข่งขันกับตลาดได้
แต่ต้องไม่ลืมว่าเราจะแข่งขันได้เฉพาะเรื่องการจ่ายเงินเดือนมูลฐานเท่านั้นนะครับ
!
เพราะบางบริษัทอาจจะจ่ายเฉพาะเงินเดือนอย่างเดียว
100% แต่ก็ยังมีบริษัทอีกไม่น้อยที่มีการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานที่นอกเหนือจากเงินเดือน
เงินอื่นเหล่านี้ผมมักจะเรียกรวม ๆ
กันว่า “สารพัดค่า”
เช่น
ค่าครองชีพ, ค่าตำแหน่ง, ค่าภาษา, ค่าวิชาชีพ, ค่ากะ, ค่าเบี้ยขยัน,
ค่าคอมมิชชั่น, ค่าบริการ, ค่าเช่าบ้าน, ค่าน้ำมัน, ค่ารถ ฯลฯ
ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมีการจ่ายสารพัดค่าเหล่านี้ที่แตกต่างกัน
ลองกลับมาย้อนดูบริษัทของท่านก็ได้ว่ามีการจ่ายเงินเดือนเพียงตัวเดียว
หรือจ่ายเงินเดือน+สารพัดค่า ถ้าจ่ายเงินเดือน+สารพัดค่า บริษัทจ่ายค่าอะไรบ้าง ?
เงินเดือน+สารพัดค่านี่แหละครับคือ Overall Package ที่จะต้องดูภาพรวมของการจ่ายทั้งหมด !!
ดังนั้น
เมื่อทำโครงสร้างเงินเดือนเสร็จแล้วถึงแม้ว่าเราจะมีการจ่ายเงินเดือนจริง (Actual
Basic Salary Pay) ที่แข่งขันกับตลาดได้ จ่ายเงินเดือนให้ไม่น้อยกว่าตลาดก็จริง
แต่เราต้องกลับมาดู
Overall
Package ด้วยว่าเมื่อมองในภาพรวมการจ่ายทั้งหมด (คือเงินเดือน+สารพัดค่า)
ในตำแหน่งใด (หรือบุคคลใด) ก็ตาม เรายังแข่งกับตลาดได้หรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น
สมมุติว่าบริษัทต้องการจะจ้างวิศวกรประสบการณ์ทำงาน 3 ปีเข้ามาทำงานในอัตราเงินเดือน
35,000 บาท ซึ่งอยู่ในกรอบของโครงสร้างเงินเดือนคือ Min=20,000
Max=50,000 Midpoint=35,000 (อันนี้เป็นตัวอย่างโครงสร้างเงินเดือนสมมุติอย่าเอาตัวเลขนี้ไปใช้จริงนะครับ)
บริษัทจ่ายเงินเดือนตัวเดียว
100% ไม่มีสารพัดค่าอื่น ๆ แต่มีโบนัสตามผลงานเฉลี่ย 3 เดือน
ซึ่งสมมุติว่าคู่แข่งก็มีการจ่ายเงินเดือนวิศวกรประสบการณ์ทำงาน 3 ปีอยู่ในอัตรา 32,000 บาท แต่มีค่าครองชีพ (Cost
of Living Allowance-COLA) เดือนละ 2,000 บาท,
ค่าวิชาชีพเดือนละ 3,500 บาท มีโบนัสตามผลงานเฉลี่ย 4
เดือน
เมื่อมีข้อมูลอย่างนี้แล้วก็จะเห็นได้ว่าบริษัทของเรามี
Overall
Package เฉลี่ยเดือนละ 35,000+(35,000 คูณ 3
หาร 12 = 8,750 บาท) = 43,750 บาท
ส่วนคู่แข่งจะมี
Overall
Package เฉลี่ยเดือนละ 32,000+(32,000 คูณ 4
หาร 12 = 10,667)+2,000+3,500 = 48,167 บาท
สรุปว่าบริษัทเรามี Overall Package ต่ำกว่าคู่แข่งเดือนละประมาณ 4,417 บาท
หรือต่ำกว่าประมาณ 10% ต่อเดือน !!
นี่จึงเป็นเรื่องที่ Com & Ben ต้อง Aware
เอาไว้ว่าเมื่อมีโครงสร้างเงินเดือนแล้วเห็นว่าการจ่ายเงินเดือนของเราสูงกว่าตลาดก็อย่าเพิ่งชะล่าใจจนลืมดู
Overall Package (หรือ Total Pay) ให้แน่ใจด้วยนะครับ