สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ 24 มกราคม 2516 โดยคุณสมหมาย ฮุนตระกูลอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอาจารย์โงอิจิ โฮซูมิ อดีตประธานกรรมการสมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย หรือ JTECS
ผมเริ่มต้นการเป็นวิทยากรให้กับสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี
(ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ สสท.เมื่อปี 2537 ในขณะที่ยังทำงานเป็น Compensation &
Benefits Manager ที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประเทศไทย
โดยคำแนะนำของอาจารย์สมิต สัชฌุกร อดีตนายกสมาคมจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT)
ซึ่งท่านเคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาของผมที่ธนาคารไทยพาณิชย์
(ปัจจุบันท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว)
จำได้ว่าส่ง
Course
Outline หลักสูตรเทคนิคการสร้างระบบงาน HR ด้วย
dBASE III มาให้กับทางสสท.โดยสอนตั้งแต่การใช้ dBASE ขั้นพื้นฐานไปจนถึงการเขียนโปรแกรมสร้างระบบงาน HR ซึ่งหลักสูตรทำนองนี้ผมเคยใช้ในการสอนในโรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์
BCC มาแล้วหลายปีก่อนหน้านี้
หลังจากนั้นผมก็มีหลักสูตรอื่น
ๆ ด้าน HR
ที่สอนให้กับทางสสท.เพิ่มขึ้นเช่น เทคนิคการมอบหมายงาน,
เทคนิคการทำโครงสร้างเงินเดือน, การพัฒนาทักษะหัวหน้างาน ฯลฯ
แต่หลักสูตรเหล่านี้จะสอนในวันหยุดคือวันเสาร์เป็น Public Training เสียเป็นส่วนใหญ่ โดยสอนที่สสท.สุขุมวิท ซอย 29 จนกระทั่งสสท.เปิดที่ทำการเพิ่มที่ซอยพัฒนาการ
18 เมื่อปี 2541 ผมก็มาสอนที่สสท.พัฒนาการ
ผมยังจำคำของอาจารย์สมิตที่พูดกับผมตั้งแต่แรกจนถึงวันนี้ว่า
“สสท.เขาไม่ได้ให้ค่าวิทยากรมากเท่าที่อื่นนะเพราะที่นี่เขาไม่ได้เป็นองค์กรแสวงหากำไรแบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่ที่นี่จะเป็นโชว์รูมที่ดีสำหรับคุณ”
แล้วผมก็เริ่มต้นเป็นวิทยากรให้กับสสท.เป็นงานอดิเรกตั้งแต่ปี
2537 ควบคู่กับการทำงานประจำมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในเวลาต่อมาก็มีการเปิดสถาบันเทคโนโลยี
ไทย-ญี่ปุ่น หรือ TNI
(Thai Nichi Institute of Technology) ในปี 2550 ผมก็ไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนระดับปริญญาโทหลายหัวข้อด้าน
HR ให้กับ TNI ตั้งแต่เริ่มเปิดสถาบันจนถึงปัจจุบัน
และจากจุดเริ่มต้นกับสสท.ตรงนี้ผมก็กลายเป็นวิทยากรด้าน
HR ให้กับบริษัทต่าง ๆ และองค์กรที่ติดต่อให้ไปบรรยายทั้ง Inhouse และ Public Training อีกหลายแห่งในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบันเหมือนกับคำที่อาจารย์สมิตเคยบอกผมเอาไว้จริง
ๆ
เรียกว่าคนเริ่มรู้จักผมมากขึ้นในบทบาทของวิทยากรอิสระด้าน
HR
ก็เพราะมีจุดเริ่มต้นจากสสท.นี่แหละครับ
รวมไปถึงหนังสือเล่มแรกคือ
“เลือกคนให้ตรงกับงานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์” และหนังสือของผมอีกหลาย ๆ เล่มถัดมาส่วนใหญ่ก็พิมพ์ที่สำนักพิมพ์สสท.ครับ
จากปี
2537
ถึงปัจจุบันก็เรียกได้ว่าผมมีความผูกพันกับสสท.มาอย่างยาวนานและต่อเนื่องมาโดยตลอด
เป็นความผูกพันในเชิงของตัววิทยากร (อย่างผม) กับตัวสถาบันคือสสท.
ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้บริหารสสท.ถ้าอยากจะให้วิทยากรอย่างผมช่วยอะไรที่จะเป็นประโยชน์กับสสท.(และ
TNI) ได้ ผมก็ยินดีให้ความร่วมมือเสมอโดยไม่ต้องมีตำแหน่งใด ๆ
เพราะผมไม่เคยยึดติดตำแหน่งหัวโขนใด ๆ อยู่แล้ว
ซึ่งจากระยะเวลาที่ผ่านมาก็เคยได้รับเกียรติจากผู้บริหารสสท.ให้เข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องต่าง
ๆ เพื่อพัฒนาบุคลากรของสสท.และองค์กรให้ดีมากยิ่งขึ้นอยู่เป็นระยะ
จากปี
2537 จนถึงปีนี้ 2566 ซึ่งเป็นปีที่สสท.มีอายุครบ 50 ปี ถ้ามองเป็นตัวบุคคลก็เป็นคนที่มีทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ ตลอดจนประสบการณ์ที่สั่งสมมาจนมีความน่าเชื่อถือและเพียบพร้อมในทุกด้านที่จะทำสิ่งดี
ๆ ให้กับสังคมและประเทศชาติได้อีกมากมาย
ภูมิใจครับที่ตลอดระยะเวลา
50 ปีที่ผ่านมาของสสท.ผมได้มีโอกาสเป็นจิ๊กซอว์ตัวเล็ก ๆ อยู่ถึง 29 ปี และยังคงพร้อมที่จะเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่คอยสนับสนุนสสท.ให้ก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ
ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในวันครบรอบ 50 ปี สสท.ในวันที่ 24 มกราคม 2566 ครับ