คนที่มีทัศคติไม่ดีในการทำงานที่ผมพูดถึงต่อไปนี้ไม่ได้หมายความแค่เพียงระดับพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้นนะครับ
แต่รวมไปถึงคนที่เป็นผู้บริหารทุกระดับก็มีสิทธิจะมีทัศนคติไม่ดีด้วยเช่นเดียวกัน
อะไรบ้างคือทัศนคติไม่ดี
?
งานหลักไม่ทำ
งานประจำคือด่าบริษัท ด่าหัวหน้า ต่อว่าเพื่อนร่วมงาน
เจอใครที่รู้จักก็มักจะพูดแต่เรื่องลบ ๆ ร้าย ๆ ของบริษัทบ้างล่ะ
เรื่องไม่ดีของตัวบุคคลบ้างล่ะ เรื่องที่เม้าท์ก็จริงบ้างเท็จบ้าง เช่น
บริษัทเราขึ้นเงินเดือนน้อยจัง จ่ายโบนัสก็น้อย สวัสดิการไม่เห็นจะมีอะไรดี
ที่อื่นเขายังให้มากกว่านี้อีก หัวหน้าก็ไม่ยุติธรรม คอยหาเรื่องจับผิด ฯลฯ
จากทัศนคติไม่ดีข้างต้นนี้มีตั้งแต่น้อย
ๆ ไปจนถึง Bad
Attitude !
และเมื่อมีมากขึ้นเรื่อย
ๆ ก็จะเริ่มส่งผลให้เห็นออกมาเป็นพฤติกรรมที่ออกไปในทางลบทางร้าย เช่น
ใช้อารมณ์ในการทำงานมากกว่าจะฟังเหตุผล เกิดความขัดแย้งกับหัวหน้า ใช้อำนาจกับลูกน้องอย่างไม่เป็นธรรม
ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้แบบไบโพล่าร์ ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน ทะเลาะกับลูกค้า
ต่อต้านกฎเกณฑ์นโยบายต่าง ๆ ของบริษัท เฉื่อยงาน ไม่รับผิดชอบงาน มาสาย ขาดงาน
ทำตัวเป็นมาเฟียขาใหญ่
หนักกว่านั้นก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อหวอดชักชวนเพื่อนพนักงานที่มีทัศนคติร้าย
ๆ เหมือนกันมาต่อต้านและสร้างปัญหาอยู่ในองค์กรแบบขาประจำ ฯลฯ
สรุปแบบง่าย
ๆ คือคนพวกนี้จะมีทัศนคติแบบ I’m OK, you’re not OK. หรือฉันแน่
แกสิแย่นั่นแหละครับ
ยิ่งเป็นคนที่มีตำแหน่งสูงขึ้นไปเท่าไหร่แล้วมีทัศนคติไม่ดีแบบนี้
ก็ยิ่งมีปัญหาตามมามากขึ้นเรื่อย ๆ
แล้วบริษัททำยังไงดีกับคนแบบนี้
?
หลายบริษัทก็คิดง่าย
ๆ โดยส่งคนเหล่านี้ไปเข้าอบรมหลักสูตร “การสร้างทัศนคติเชิงบวก”
หรือสารพัดหลักสูตรที่เกี่ยวกับการปรับทัศนคติคน ????
โดยมองการฝึกอบรมเหมือนยาสารพัดนึก
คือพอส่งพนักงานเหล่านี้ไปเข้าอบรมปุ๊บกลับมาก็จะกลายเป็นคนใหม่ที่คิดบวกได้ตามชื่อหลักสูตรเป๊ะ
แถมมีวุฒิบัตรติดมือกลับมาเหมือนกับถูกฟอกย้อมมาแล้วอีกต่างหาก
ทำแบบนี้จะแก้ปัญหาได้จริงหรือครับ ?
มาถึงตรงนี้บางท่านก็คงจะมีคำถามว่าแล้วจะมีวิธีไหนแก้ปัญหานี้ได้บ้างล่ะ
ตอบว่ามีครับ
ขึ้นอยู่กับคนที่เป็นหัวหน้าของคนที่มีทัศนคติไม่ดีจะมีภาวะผู้นำที่กล้าจะเข้ามา Take Action แก้ปัญหานี้หรือเปล่าล่ะครับ
ถ้ากล้าที่จะแก้ปัญหาก็ต้องแก้ที่ตัวสาเหตุของปัญหาตรง
ๆ คือแก้ที่ตัวคนที่มีทัศนคติไม่ดีครับ ไม่ใช่การโยนการแก้ปัญหาไปให้การฝึกอบรม
แล้วทำตามนี้ครับ
1.
List
พฤติกรรมของลูกน้องที่มีปัญหาว่ามีอะไรบ้างที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมา
2.
จากพฤติกรรมที่มีปัญหาของลูกน้องตามข้อ 1 ทำให้เกิดผลกระทบหรือมีความเสียหายอะไรบ้างต่อทีมงาน,
ต่อหน่วยงานอื่น ๆ , ต่อคนรอบข้าง, ต่อบริษัท, ต่อลูกค้า
3.
สิ่งที่เรา (หัวหน้า)
ต้องเห็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงของลูกน้องคืออะไร ภายในเมื่อไหร่ให้ List เตรียมเอาไว้ด้วย
4.
หัวหน้าเชิญพนักงานที่มีปัญหามา Feedback แจ้งให้ทราบปัญหาอย่างตรงไปตรงมา
(แต่ไม่ใช่การเรียกมาด่าด้วยอารมณ์นะครับ)
โดยว่าไปตามข้อมูลทั้งหมดที่เราเตรียมไว้แล้วตามที่บอกไปข้างต้น
5.
ต้องการเห็นลูกน้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือปรับปรุงตัวเองยังไง
ให้เวลากี่เดือนในการปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น
6.
การเชิญลูกน้องมาพูดคุย Feedback อาจเป็นการเรียกมาตักเตือนด้วยวาจาโดยให้ระยะเวลาในการปรับปรุงตัวเอง
แต่ถ้าถึงเวลาที่ตกลงกันแล้วพฤติกรรมของลูกน้องยังไม่ดีขึ้นก็จะต้องเป็นการเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะต้องระบุเรื่องราวทั้งหมดเอาไว้ในใบเตือนและต้องมีพยานอย่างน้อย
1 คนในห้องตักเตือน
และให้ลูกน้องเซ็นรับทราบการตักเตือนตามขั้นตอนการตักเตือนและส่งสำเนาการตักเตือนให้ลูกน้องเอาไว้ด้วย
7. การตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรจะทำกี่ครั้งตรงนี้คงแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่หน้างาน ตามลักษณะของปัญหาของลูกน้องแต่ละคน รวมถึงการตัดสินใจของหัวหน้าแต่ละคนนะครับ
แต่หลักที่สำคัญคือคนที่เป็นหัวหน้าจะต้องกล้าตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าจะ "ไปต่อ" หรือ "พอแค่นี้" สำหรับลูกน้องคนนี้
8.
ถ้าสามารถพูดจากันแล้วลูกน้องมีการปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นก็เป็นโหมดของการ
“ไปต่อ” หัวหน้าก็ Follow
up พฤติกรรมลูกน้องเป็นระยะเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป
9. แต่ถ้า “พอแค่นี้” ทำยังไงก็ไม่ดีขึ้น ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการเลิกจ้างซึ่งก็ต้องไปคุยกับ HR เพื่อหาทางจบแบบ Soft Landing ถ้าเป็นไปได้ ซึ่งการเลิกจ้างนี้ก็ต้องมาดูรายละเอียดของแต่ละเคสกันอีกทีว่าเป็นความผิดร้ายแรง (ตามม.119 ของกฎหมายแรงงาน) หรือไม่ร้ายแรง ซึ่งบริษัทจะต้องจ่ายหรือไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
อันนี้ก็ว่ากันไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่ง HR ของบริษัทต้องเข้ามาช่วยให้ข้อคิดและให้คำปรึกษาที่ถูกต้องให้กับหัวหน้า
ทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้ก็อยู่ที่ท่านจะลองเอาไปคิดและเปรียบเทียบดูนะครับว่า
วิธีการแก้ปัญหาพนักงาน (หรือผู้บริหาร)
ที่มีทัศนคติไม่ดีจนกระทั่งกลายเป็นพฤติกรรมที่ก่อปัญหานั้น
บริษัทควรทำแบบไหนถึงจะแก้ปัญหาได้จริง
ระหว่างการส่งไปเข้าอบรมแล้วสูญเปล่ากับการที่หัวหน้ามีภาวะผู้นำที่กล้าแก้ปัญหาของลูกน้องโดยตรง
วิธีไหนจะแก้ปัญหานี้ได้ดีกว่ากัน
คำถามคือคนที่เป็นหัวหน้ามีภาวะผู้นำและมีความกล้าพอที่จะแก้ปัญหาและตัดสินใจในเรื่องนี้ไหมล่ะครับ
?