วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563

มายาคติที่เกี่ยวกับ D I S C

             ว่าจะเขียนเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ลืมไปเสียทุกทีอาจจะเนื่องจากเริ่มสว.มั๊งครับเลยทำให้เรื่องที่คิดจะเขียนมาเร็วไปเร็ว 😉

            มาวันนี้นึกออกเลยรีบเขียนเรื่องนี้ทันทีจะได้ไม่ลืม

            คือเรื่องของมายาคติหรือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ D I S C นี่แหละครับ

            สำหรับใครที่ยังไม่เคยได้ยินเรื่องของ D I S C ก็ขอให้ไปดาวน์โหลด “รู้เขารู้เราด้วย D I S C ที่ผมเปิดให้โหลดฟรีในบล็อกของผมคือ https://tamrongsakk.blogspot.com (มีอยู่ 5 ตอน) อ่านเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ตรงกันเสียก่อนนะครับ แล้วค่อยมาอ่านเรื่องที่ผมจะเขียนต่อไปนี้

            ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ D I S C ที่ผมเห็นมักมีดังนี้ครับ

1.      คิดว่าคนที่มีสไตล์เดียวกันจะทำงานร่วมกันได้ราบรื่น

ข้อนี้ผมว่าไม่จริงครับ การที่ไปสรุปแบบรวบรัดว่า “การที่คนมีสไตล์เดียวกันจะทำงานร่วมกันได้ไม่มีปัญหา” นี่ ผมว่าคงเป็นการสรุปแบบคร่าว ๆ และเร็วเกินไป เพราะในชีวิตจริงผมเคยพบเห็นคนสไตล์เดียวกัน เช่น คนสไตล์ D มาเจอกับ D พอทำงานร่วมกันแล้ววงแตกนี่ก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ หรือคนสไตล์ติสท์ I กับ I พอมาทำงานด้วยกันนี่ติสท์แตกไม่มองหน้ากันก็เยอะ ดังนั้นสไตล์ที่เหมือนกันจึงไม่ได้แปลว่าจะทำงานร่วมกัน หรือใช้ชีวิตร่วมกันแล้วจะไม่มีปัญหานะครับ

2.      คิดว่าคนที่มีสไตล์ต่างกันเมื่อทำงานร่วมกันแล้วจะขัดแย้งกัน

ข้อนี้ก็ไม่จริงอีกเช่นเดียวกัน ผมเคยเห็นคนสไตล์ D กับ S ที่ทำงานร่วมกันได้ดีทั้ง ๆ ที่เป็นสไตล์ที่ตรงกันข้าม หรือแม้แต่คนสไตล์ C กับ I ที่มีลักษณะที่ตรงกันข้ามที่ทำงานกันด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย

ถ้างั้น D I S C คืออะไรกันแน่?

ในมุมมองของผม D I S C คือการทำความเข้าใจลักษณะของคนแต่ละรูปแบบให้เข้าใจว่าคนแต่ละสไตล์จะมีบุคลิกลักษณะอุปนิสัยใจคอแบบไหน คนสไตล์ไหนชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร มีวิธีคิดในการทำงานหรือการใช้ชีวิตแบบไหนยังไง ฯลฯ

เมื่อเราได้เรียนรู้เรื่องสไตล์หรือรูปแบบที่แตกต่างของคนทั้ง 4 แบบนี้แล้ว เราจะได้นำมาใช้ในการปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกัน หรือใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างราบรื่นดียิ่งขึ้นลดความขัดแย้งซึ่งกันและกันลง

อันนี้แหละที่ผมว่าคือประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องของ D I S C

แต่ไม่ควรเรียนรู้แล้วนำมาสรุปรวบยอดแบบฟันธงเร็ว ๆ ง่าย ๆ ว่าคนที่สไตล์เหมือนกันจะต้องทำงานร่วมกันหรือใช้ชีวิตร่วมกันอย่างราบรื่นแน่นอน หรือคนที่มีสไตล์ที่ตรงกันข้ามจะอยู่ด้วยกันไม่ได้แน่ ๆ

ถ้าคิดแบบนี้ผมว่าคงจะทำให้การเรียนรู้เกี่ยวกับ D I S C ผิดเพี้ยนไปแล้วแหละครับ

เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งคือสไตล์ของคนไม่คงที่ และจะปรับเปลี่ยนไปได้เมื่อเวลาเปลี่ยนไป หรือเมื่อคน ๆ นั้นได้รับประสบการณ์จากชีวิตจริงใหม่ ๆ เข้ามาทำให้ได้ข้อคิดหรือเริ่มรู้สึกที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเอง

อย่างที่ผมเจอมาคือมีหัวหน้างานคนหนึ่งเคยเป็นคนสไตล์ D โผงผางดุดัน ชอบด่าว่าลูกน้องเสียงดังในแผนกอยู่เสมอ ๆ พอวันร้ายคืนร้ายโดนลูกน้องที่สไตล์ D ดักต่อยหลังจากหัวหน้าคนนี้เดินออกไปจากบริษัทตอนเย็น ๆ ก็ทำให้หัวหน้าคนนี้เปลี่ยนสไตล์จาก D ไปเป็น S แบบพลิกฝ่ามือ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้มีคนเตือนหลายคนแล้วว่าไม่ควรด่าว่าลูกน้องรุนแรงแบบนั้น แต่หัวหน้าคนนี้ก็ No สน No แคร์จนกระทั่งโดนลูกน้องต่อยถึงได้เปลี่ยนสไตล์ตัวเอง

อีกเรื่องหนึ่งคือแม้ว่าจะมีการทดสอบ D I S C ด้วยเครื่องมือใดก็ตามไม่ได้แปลว่าจะแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ มันมีโอกาสที่จะ Error ได้ ดังนั้นเครื่องมือทดสอบ D I S C จึงเป็นคล้ายกับการตรวจความดัน หรือวัดชีพจรซึ่งอาจมีการผิดเพี้ยนได้บ้างก็อย่าไปซีเรียสกับเครื่องมือว่าเมื่อวัดออกมาแล้ว “จะต้อง” เป็นคนสไตล์นั้นสไตล์นี้เสมอไป

และเมื่อรวมกับเรื่องที่ผมบอกไปแล้วว่าสไตล์ของคนจะไม่คงที่ และจะปรับเปลี่ยนไปได้ตามเวลาที่เปลี่ยนไป จึงเป็นเรื่องที่เราควรจะต้องมาสำรวจสไตล์การใช้ชีวิตและการทำงานของตัวเราเองและคนรอบข้างว่าปัจจุบันเป็นยังไง และเราจะมีวิธีปรับตัวเรายังไงให้สามารถใช้ชีวิตหรือทำงานร่วมกันคนรอบข้างได้อย่างราบรื่นมากที่สุดโดยใช้แนวทางของ D I S C มาเป็นตัวเทียบเคียง

หวังว่านี่คงจะเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่จะทำให้ท่านเห็นภาพของ D I S C จากชีวิตจริงนอกตำราได้ชัดเจนขึ้นนะครับ

.......................................