เบี้ยขยันถือเป็นค่าจ้างหรือไม่ ?
ผมคงต้องขอยกเอาความหมายของ “ค่าจ้าง” ตามมาตรา 5 ของกฎหมายแรงงานมาเพื่อความเข้าใจกันในที่นี้อีกครั้งดังนี้
“ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง
รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น
หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน
และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน
แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้
จากนิยามค่าจ้างข้างต้น
“เบี้ยขยัน” จะเป็นค่าจ้างหรือไม่ ก็ต้องมาดูในข้อเท็จจริงสิครับว่าเบี้ยขยันของบริษัทของท่านมีวิธีการจ่ายกันอยู่ยังไง
เช่น
ถ้าผู้บริหารเห็นว่าหมู่นี้พนักงานมาสาย เริ่มขี้เกียจ
ทำงานไม่ค่อยจะเสร็จตามเป้าหมายก็เลยให้มีการจ่ายเบี้ยขยันให้กับพนักงาน
โดยมีเงื่อนไขของการจ่ายว่า
บริษัทจะจ่ายเบี้ยขยันให้กับพนักงานที่ไม่เคยมาทำงานสาย ขาดงาน ลางาน เกินกี่วัน แต่ถ้าป่วย
สาย ลา ขาดงาน ตั้งแต่กี่วันจะได้รับค่าเบี้ยขยันลดลงเหลือกี่บาท จนกระทั่งถ้าเกินกว่านี้ก็จะไม่ได้รับเบี้ยขยัน
หรือถ้าพนักงานทำงานได้ผลงานสูงกว่าเป้าหมาย
10 เปอร์เซ็นต์จะได้เบี้ยขยันเดือนละ 1,000 บาท
ถ้าทำงานสูงกว่าเป้าหมายเกิน 20 เปอร์เซ็นต์จะได้เบี้ยขยันเพิ่มเป็นเดือนละ
2,000 บาท เป็นต้น
ซึ่งมีวัตถุประสงค์โดยสรุปก็เพื่อต้องการจูงใจให้พนักงานมาทำงานโดยไม่มาสายหรือขาดงานนั่นแหละครับ
หรือจ่ายเพื่อให้เป็นแรงจูงใจตามผลงานที่พนักงานทำได้
ถ้าหากบริษัทจ่ายเบี้ยขยันในลักษณะที่มีเงื่อนไขเพื่อสร้างแรงจูงใจแบบนี้แล้วเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาดังนี้
“เบี้ยขยันที่นายจ้างนำมาจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยขยันต้องเป็นผู้ไม่ขาดงาน ไม่ลางาน ไม่มาทำงานสาย
นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างต่างหากจากค่าจ้างปกติ เป็นเงินค่าตอบแทนความขยัน
มิใช่ค่าจ้าง” (ฎ.9313-9976/2547)
สรุปได้ว่าถ้ามีการจ่ายค่าเบี้ยขยันโดยมีเงื่อนไขระเบียบกำหนดไว้ชัดเจนอย่างที่ผมบอกมาข้างต้นแล้ว
เบี้ยขยันจะไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง
ยังไงก็ตาม
ผมมีข้อคิดไว้บางประการคือในบางบริษัทมีการจ่ายเบี้ยขยันแบบเท่ากันทุกเดือนโดยไม่ได้มีเงื่อนไขทำนองเดียวกับที่บอกไว้ข้างต้น
เช่น บริษัทให้เบี้ยขยันแบบเหมาจ่ายเดือนละ
1,000
บาททุกคนโดยไม่ต้องมาดูว่าใครทำงานมีผลงานเป็นยังไง
หรือไม่ต้องดูเรื่องการมาทำงานป่วย สาย ลา ขาดงานอะไร พูดง่าย ๆ
ว่าจ่ายแบบไม่มีเงื่อนไขเท่ากันทุกคนเบี้ยขยันแบบนี้ก็จะกลายเป็น “ค่าจ้าง” นะครับ
ลองหันกลับมาดูนะครับว่าปัจจุบันบริษัทของท่านมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขการจ่ายเบี้ยขยันกันยังไงและปฏิบัติจริงเป็นยังไง
ยังมีลักษณะเป็นค่าจ้างหรือไม่ใช่ค่าจ้างจะได้ลดปัญหาในอนาคตลงครับ
ฟังพ็อดแคสต์คลิ๊ก