วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ลาออกโดยไม่ยื่นใบลาออก..ได้ไหม ?

          “เพื่อนฝากผมมาให้ถามอาจารย์ว่าเขาถูกหัวหน้าปฏิบัติไม่ดีกับเขามาก ๆ ถ้าเขาจะลาออกโดยไม่ยื่นใบลาออก คือวันพรุ่งนี้เขาจะไม่ไปทำงานที่บริษัทนั้นอีกต่อไปได้ไหมครับ”

            เรื่องที่ผมคิดว่าคนที่เป็นหัวหน้าหรือ HR จะพบเจออยู่ในปัจจุบันก็คือการที่พนักงานลาออกไปโดยไม่ยื่นใบลาออกแต่จะใช้วิธีหายไปเฉย ๆ ไม่บอกกล่าวอะไร โดยเฉพาะพนักงานที่เพิ่งเข้ามาใหม่บางคนเมื่อทำงานไปแล้วไม่ชอบงานที่ทำก็หายจ้อยไปเฉย ๆ โดยไม่เขียนใบลาออกซะงั้น ทั้ง ๆ ที่ทุกบริษัทจะมีกฎระเบียบเรื่องการลาออกคล้าย ๆ กันคือหากพนักงานที่อยากจะลาออกก็ต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน

            Back to the basic เราลองกลับมาดูเรื่องของการลาออกในกฎหมายแรงงานกันก่อนดีไหมครับ ?

            ผมขอยกบางส่วนของมาตรา 17 เฉพาะในส่วนของการลาออกมาดังนี้ครับ

มาตรา ๑๗  สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน....

จากมาตรา 17 ข้างต้นอธิบายภาษาชาวบ้านก็คือ

1.      สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลาก็หมายถึงสัญญาจ้างพนักงานประจำนั่นแหละครับ

2.      ถ้าพนักงานจะลาออกก็ควรจะต้องทำเป็นหนังสือแจ้งให้บริษัททราบล่วงหน้าแต่ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าเกิน 3 เดือน ซึ่งปกติทั่วไปบริษัทต่าง ๆ มักจะระเบียบเรื่องการลาออกคือให้พนักงานยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วันหรือ 1 เดือนซึ่งก็ถือว่ายังอยู่ในระยะเวลาตามมาตรา 17 ครับ

เอาล่ะครับ..เมื่อทราบหลักของกฎหมายแรงงานแล้วเราก็เอาหลักกฎหมายเข้ามาจับกับการปฏิบัติใน
เรื่องนี้ได้แล้ว

            นั่นคือถ้าพนักงานที่อยากจะลาออกเล่นหายไปเฉย ๆ แล้วไม่ยื่นใบลาออกโดยแจ้งให้บริษัททราบล่วงหน้าก็ถือว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรา 17 เพราะอยู่ดี ๆ ก็ไม่มาทำงานแม้บางคนจะบอกว่า “ก็บอกหัวหน้าแล้วนี่ว่าจะลาออกก็น่าจะพอแล้ว” แต่พูดแล้วไม่มีเอกสารหลักฐานอะไรมายืนยันกับบริษัทว่าต้องการจะลาออกนี่ครับ

ผมสมมุติว่าวันนี้พนักงานบอกหัวหน้าว่าจะลาออกแต่พอวันรุ่งขึ้นกลับมาบอกหัวหน้าว่าเปลี่ยนใจไม่ลาออกแล้ว อย่างนี้บริษัทจะไปบอกว่าไม่ให้เข้าทำงานอีกต่อไปเพราะถือว่าบอกลาออกแล้วตั้งแต่เมื่อวาน ถ้าบริษัททำอย่างนี้ก็จะกลายเป็นการเลิกจ้างไม่ใช่การลาออกนะครับเพราะบริษัทไม่มีหลักฐานอะไรไปแสดงให้ศาลแรงงานเห็นนี่ครับว่าพนักงานประสงค์จะลาออก

            ดังนั้นถ้าพนักงานจะลาออกแล้วไม่ยื่นใบลาออกแต่เล่นหายไปเฉย ๆ นี่บริษัทก็อาจจะถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 119 ของกฎหมายแรงงาน ทางบริษัทก็จะทำหนังสือเลิกจ้างพนักงานรายนี้ด้วยสาเหตุดังกล่าวได้

          บริษัทก็สามารถเลิกจ้างพนักงานรายนี้ได้เนื่องจากทำความผิด ซึ่งถือว่าเป็นความผิดกรณีร้ายแรง และที่สำคัญคือการเลิกจ้างในความผิดนี้บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น

แถมพนักงานยังเสียประวัติอีกต่างหากเพราะถ้าจะไปสมัครงานที่บริษัทแห่งใหม่เขาก็มักจะมีคำถามตรงข้างท้ายใบสมัครงานว่าพ้นสภาพจากที่บริษัทเดิมเพราะสาเหตุใด ก็ต้องตอบไปตามตรงว่า “ถูกเลิกจ้าง” ไม่ใช่การลาออกตามปกติ

ดังนั้นเมื่อจะลาออกจากที่ไหนก็ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรระบุวันที่มีผลจะลาออกและเซ็นชื่อในใบลาออกให้ทางบริษัทเขารับทราบ ทำตามระเบียบที่เขามีไว้เพื่อแสดงถึงความเป็น “มืออาชีพ” และมีความรับผิดชอบจะดีกว่าถึงแม้ว่าหัวหน้าจะมีพฤติกรรมที่ไม่ดีกับเรายังไงก็ตาม

ทำให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับตัวเราเองในภายหลังจะดีกว่านะครับ

          จึงสรุปตรงนี้ได้ว่า “การลาออกโดยไม่ยื่นใบลาออกแล้วหายไปเฉย ๆ อาจเป็นสาเหตุให้ถูกบริษัทเลิกจ้างได้เพราะขาดงานสามวันทำงานติดต่อกันขึ้นไปโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร” ครับ

คราวนี้ท่านที่คิดจะลาออกคงจะทราบแล้วนะครับว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำถึงแม้ว่าหัวหน้าจะมีพฤติกรรมไม่ดีกับเรายังไงผมก็เห็นว่าลาออกให้ถูกต้องด้วยการยื่นใบลาออกจะดีกว่านะครับ


………………………………