วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เป็นพนักงานเหมือนกันค่างานเท่ากันแต่อยู่คนละหน่วยงานควรได้ขึ้นเงินเดือนเท่ากันหรือไม่ ?

            ผู้บริหารในองค์กรแห่งหนึ่งถามผมในประเด็นที่ว่า ในกรณีที่เราประเมินค่างานแล้วพนักงานที่อยู่ในกลุ่มงาน (Job Group-JG) เดียวกัน แต่ทำงานกันคนละฝ่ายเมื่อถึงรอบขึ้นเงินเดือนประจำปีแล้วพนักงานทั้งสองคนนี้ต่างก็ได้รับการประเมินผลงานในเกรดเดียวกัน เช่น ได้เกรด C ทั้งสองคนนี้ควรจะได้รับการขึ้นเงินเดือนในเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากันหรือไม่ 

         เพราะค่างานของทั้งสองตำแหน่งนี้อยู่ใน JG เดียวกันเป็นพนักงานเหมือนกัน (แม้ว่าจะอยู่คนละฝ่าย) ก็ควรจะได้รับการขึ้นเงินเดือนเท่ากันถึงจะยุติธรรมตามหลักค่างาน
            
            เขายกตัวอย่างเช่น ถ้าพนักงานบัญชีคนหนึ่งเงินเดือน 15,000 บาท ถูกประเมินผลงานได้เกรด C ได้รับการขึ้นเงินเดือน 6% ดังนั้นพนักงานจัดซื้อ (ซึ่งตอนประเมินค่างานก็ถูกจัดให้อยู่ใน JG เดียวกับพนักงานบัญชี) เงินเดือน 15,000 บาทเท่ากัน ถูกประเมินผลงานได้เกรด C เหมือนกัน ก็ต้องได้รับการขึ้นเงินเดือนเท่ากับพนักงานบัญชีตามหลักค่างานเพราะอยู่ใน JG เดียวกันถือว่ามีความรับผิดชอบเท่ากัน ??!!

            มองเผิน ๆ หรือคิดเร็ว ๆ ก็ควรจะต้องขึ้นเงินเดือนให้เท่ากัน

แต่....เราลองมาดูในรายละเอียดกันสักนิดโดยผมขอยกตัวอย่างดังนี้ครับ

          
              จากตารางข้างต้นสมมุติว่าฝ่ายบัญชีมีพนักงาน 4 คน เงินเดือนรวมทั้งหมด 70,000 บาท ส่วนฝ่ายจัดซื้อมีพนักงานรวม 3 คนเงินเดือนรวม 50,000 บาท ทั้งสองฝ่ายได้รับการจัดสรรงบประมาณขึ้นเงินเดือนประจำปีเท่ากันคือ 6% ก็จะทำให้ฝ่ายบัญชีได้รับงบประมาณ 4,200 บาท ส่วนฝ่ายจัดซื้อได้งบฯ 3,000 บาท

            หากท่านดูในช่อง (A) กับ (B) ผมสมมุติว่านี่คือการพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีของทั้งสองฝ่ายตามหลักเกณฑ์ที่ควรจะเป็น เช่น สมมุติถ้าถูกประเมินผลเกรด B จะได้ขึ้นเงินเดือน 9% หากถูกประเมินในเกรด C จะได้ 6% แต่ท่านก็จะเห็นว่าถ้าทำอย่างนี้ทั้งสองฝ่ายก็จะไม่สามารถควบคุมเม็ดเงินให้อยู่ในงบประมาณที่ได้รับ

          ดังนั้นผู้บริหารของทั้งสองฝ่ายจึงต้องกลับมาพิจารณาเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนกันใหม่เพื่อให้ควบคุมเม็ดเงินให้อยู่ในงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาเป็นช่อง (C) และ (D)

            จากตารางช่อง (C) และ (D) เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างพนักงานบัญชีและพนักงานจัดซื้อท่านก็จะเห็นว่าพนักงานจัดซื้อได้รับการขึ้นเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำกว่าพนักงานบัญชีทั้ง ๆ ที่มีค่างานอยู่ใน Job Group เดียวกัน แต่เพราะฝ่ายจัดซื้อได้รับการจัดสรรงบประมาณมาน้อยกว่าจึงดูเหมือนเสียเปรียบฝ่ายบัญชี

          นี่จึงเป็นที่มาของคำถามนี้ว่าการขึ้นเงินเดือนแบบนี้ยุติธรรมตามหลัก “ค่างาน” แล้วหรือ ?

             ตรงนี้ผมอยากจะขอทำความเข้าใจอย่างนี้นะครับ

1.      เมื่อเราประเมินค่างานเราจะมีคณะกรรมการประเมินค่างาน ซึ่งเป็นคนกลางทำหน้าที่ประเมินค่างานโดยอาศัยปัจจัย (Factors) ต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้น มาวัดหรือประเมินดูว่าในตำแหน่งต่าง ๆ นั้นน่ะ ตำแหน่งไหนจะมีค่างาน (Job Value) ที่สูงกว่าหรือต่ำกว่ากันมากน้อยแค่ไหนแล้วนำมาจัดเรียงตามคะแนนที่ถูกประเมินแล้วจึงจัดทุกตำแหน่งงานเข้า Job Group ต่าง ๆ ซึ่งการประเมินค่างานเป็นการประเมินกันที่ตัว “ตำแหน่งงาน” เป็นหลัก ไม่ใช่การประเมินที่ “ตัวบุคคล”

2.      เมื่อจัดแบ่งตำแหน่งงานต่าง ๆ เข้าแต่ละ Job Group ตามคะแนนแล้ว เราก็จะนำเอาตำแหน่งต่าง ๆ ในแต่ละ Job Group ของเราไปดูว่าตลาดเขาจ่ายกันอยู่เท่าไหร่เพื่อที่จะได้นำข้อมูลของตลาดมาวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างเงินเดือนให้เหมาะสมกับองค์กรของเราเพื่อให้แข่งขันกับตลาดได้

3.      เมื่อจบขั้นตอนตามข้อ 3 แล้ว ถือว่าเรื่องของการประเมินค่างานเสร็จสิ้นแล้วครับ เราจะไม่นำเรื่องค่างาน (Job Value) มาผูกโยงต่อไปว่าค่างานเท่ากันหรืออยู่ Job Group เดียวกันจะต้องได้รับการขึ้นเงินเดือนเท่ากันถึงจะยุติธรรม หรือพูดง่าย ๆ ว่าจะไม่เอาเรื่องค่างานมาผูกกับเรื่องผลการปฏิบัติงาน เพราะ....

3.1   ถ้าเราจะมองว่าพนักงานบัญชีกับพนักงานจัดซื้อถูกประเมินผลงานในเกรดเดียวกัน เช่น ทั้งสองคนได้เกรด C แต่ต้องไม่ลืมว่านี่เป็นการมองแบบผิวเผิน เพราะแม้ว่าพนักงานบัญชีและพนักงานจัดซื้อจะถูกประเมินได้เกรด C เหมือนกันก็จริง แต่ผู้ประเมินก็คือหัวหน้าของพนักงานบัญชีและหัวหน้าของพนักงานจัดซื้อนั้นต่างก็ประเมินลูกน้องไปตามผลงานของลูกน้องแต่ละคน

3.2   เมื่อหัวหน้าผู้ประเมินเป็นคนละคนทั้งหัวหน้าของพนักงานบัญชีและหัวหน้าของพนักงานจัดซื้อต่างก็จะมีดุลพินิจความคิดเห็นในการประเมินผลงานลูกน้องของตัวเองที่แตกต่างกันไป

3.3   ยิ่งบริษัทมีระบบประเมินผลโดยมีการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมาย (KPIs) ก็จะพบว่าทั้งพนักงานบัญชีและพนักงานจัดซื้อต่างก็มี KPIs ที่ต่างกันเพราะลักษณะงานต่างกัน ยิ่งถ้าเป็นการประเมินผลงานแบบ “จิตสัมผัส” หรือแบบ Rating Scale ยิ่งบอกไม่ได้เลยว่าเกรด C ของหัวหน้าในฝ่ายบัญชีจะเหมือนกับเกรด C ของหัวหน้าในฝ่ายจัดซื้อหรือไม่

3.4   ดังนั้นแม้พนักงานบัญชีและพนักงานจัดซื้อต่างก็ถูกหัวหน้าประเมินแล้วได้เกรด C เหมือนกันก็ไม่ได้หมายความว่า C ของพนักงานบัญชีจะเท่ากับ C ของพนักงานจัดซื้อ เพราะผู้ประเมินก็คนละคน, ผู้ถูกประเมินก็คนละคน, ลักษณะงานก็ต่างกัน, เป้าหมายในงานก็ต่างกันอย่างที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้แล้ว

3.5   แต่ละฝ่ายจำเป็นจะต้องบริหารงบประมาณการขึ้นเงินเดือนประจำปีให้ไม่เกินงบฯ ดังนั้นผู้บริหารในแต่ละฝ่ายต่างก็จะต้องจัดสรรเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนให้สอดคล้องกับเกรดที่ตัวเองประเมินลูกน้อง และยังต้องควบคุมงบฯไม่ให้เกินที่ได้รับการจัดสรรมาอีกด้วย

4.      จากที่ผมอธิบายไปในข้อต้น ๆ จะเห็นได้ว่าการประเมินค่างานจะเป็นการประเมินค่าของงานในตำแหน่งต่าง ๆ โดยมีคณะกรรมการที่เป็นคนกลาง และมีการกำหนดปัจจัยต่าง ๆ ขึ้นมาประเมินความแตกต่างของงานในตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งจะใช้เกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน

5.      แต่การประเมินผลการปฏิบัติงานจะเป็นการประเมินผลการทำงานของตัวบุคคลโดยหัวหน้างาน ซึ่งเป็นเรื่องของ “ผลงาน” หรือ KPIs ของพนักงานแต่ละคนที่จะทำได้หรือไม่ตามที่ตกลงกัน และยังเป็นเรื่องของดุลพินิจของหัวหน้าในการประเมินลูกน้อง ซึ่งก็เป็นเรื่องของลูกน้องในฝ่ายใครฝ่ายมัน

6.      ดังนั้นถ้าเราจะมาโยงด้วยตรรกะที่ว่า “ค่างานเท่ากันได้รับการประเมินผลเกรดเดียวกันก็ต้องได้รับการขึ้นเงินเดือนเท่ากัน” นั้น จึงไม่ใช่การเปรียบเทียบแบบ Apple to apple เพราะการประเมินค่างานเป็นการประเมินค่าของงานในแต่ละตำแหน่งโดยคณะกรรมการประเมินค่างานที่เป็นคนกลาง แต่การประเมินผลงานเป็นการประเมินผลงานของตัวบุคคลโดยหัวหน้างาน แถมมีตัวแปรอีกเยอะที่ชี้ได้ยากกว่าเกรด A ของพนักงานฝ่ายนี้จะเท่ากับเกรด A ของพนักงานอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่

จากเหตุผลทั้งหมดที่ผมอธิบายมานี้จึงเป็นข้อสรุปของผมที่ว่า...

“ตำแหน่งเดียวกัน แต่อยู่คนละหน่วยงาน มีค่างานเท่ากัน อยู่ Job Group เดียวกัน ถูกประเมินผลด้วยเกรดเดียวกันก็ไม่จำเป็นจะต้องได้รับการขึ้นเงินเดือนเท่ากัน” ครับ

.........................................................