วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เงินเดือนน้อยแต่โอทีเยอะ..ดีไหม?

            จากอาชีพที่ผมต้องเดินสายขายเสียงพบปะผู้คนในบริษัทต่าง ๆ ก็เลยทำให้ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์กับคนในแต่ละระดับตั้งแต่พนักงานถึงผู้บริหารของบริษัทต่าง ๆ ซึ่งเรื่องหนึ่งที่มักจะได้รับคำถามอยู่เสมอ ๆ ก็คงจะเป็นเรื่องเงินเดือนนี่แหละครับ

            จะว่าไปแล้วเรื่องของเงินเดือนหรือค่าตอบแทน (ค่าตอบแทนนี่ไม่ได้มีแค่เงินเดือนอย่างเดียวนะครับ มันจะรวมไปถึงอื่น ๆ ด้วยเช่น โอที, ค่าตำแหน่ง, ค่าวิชาชีพ, ค่าน้ำมันรถ, ค่าครองชีพ ฯลฯ) ในหลายบริษัทที่ผมเคยพูดคุยมายังไม่เห็นความสำคัญในเรื่องเหล่านี้เท่าไหร่นัก

          ยังมีการจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่น ๆ ด้วยวิธี “จิตสัมผัส” กันอยู่เลยครับ !!??

            ถ้าจะถามว่าว่าการจ่ายค่าตอบแทนแบบจิตสัมผัสคือยังไง ก็ตอบได้ว่าจ่ายแบบตามใจเถ้าแก่หรือตามใจ MD (Managing Director) หรือตามใจ CEO (Chief Executive Officer) อยู่น่ะสิครับ

            ยกตัวอย่างเช่น....

            บริษัทจ้างวิศวกรจบใหม่เข้ามาคนหนึ่งให้เงินเดือนเริ่มต้น (Starting Rate) ที่ 20,000 บาท แต่มีค่าโอ (ที) เดือนละประมาณ 15,000 บาท

            พูดง่าย ๆ ว่าวิศวกรคนนี้ก็จะมีรายได้เดือนละ 35,000 บาท (เงินเดือน+โอที)

            เวลาวิศวกรคนนี้ไปคุยกับเพื่อน ๆ ก็จะดูดีเพราะเพื่อน ๆ จะร้อง “โอ้โห..”

นี่แหละครับที่ผมเรียกว่าการกำหนดค่าตอบแทนแบบ “จิตสัมผัส”

เพราะแม้ตัวเลขรายได้ต่อเดือนก็ดูดีมีชาติตระกูลก็จริงอยู่ แต่ MD ในบริษัทแห่งนี้เคยมองในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไหมครับ เช่น

1.      โอทีเดือนละ 15,000 บาท มีฐานในการคำนวณมายังไง ผม Break down ให้ดูดังนี้

เงินเดือน                        =          20,000 บาท บริษัทนี้ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน
เงินเดือนต่อวัน               =          20,000/30 = 667 บาท  
ต่อชั่วโมง                       =          667/8 = 83 บาท
ค่าโอทีในวันทำงาน         =          83x1.5= 124.5 บาท ต่อชั่วโมง (ผมปัดเศษเป็น 125 บาท)

            เทียบบัญญัติไตรยางศ์หาชั่วโมงการทำงานต่อเดือนคือ

            ได้โอที 125 บาท ทำงาน                                      1          ชั่วโมง
            ได้โอที 15,000 บาท ทำงาน         15,000/125 =   120      ชั่วโมง
            4 สัปดาห์ (1เดือน) ทำโอที                                   120      ชั่วโมง
            1 สัปดาห์ ทำโอที                        120/4          =     30      ชั่วโมง
            ทำโอทีวันละ                                30/6          =       5      ชั่วโมง

          สรุปคือพนักงานคนนี้จะต้องทำโอทีเพิ่มจากเวลาทำงานปกติ (ต่อสัปดาห์) ไปอีก 30 ชั่วโมง !
          ถ้าปกติบริษัทเลิกงานห้าโมงเย็นพนักงานคนนี้จะต้องทำโอทีต่อไปจนถึงสี่ทุ่มทุกวัน !

2.      ตามกฎหมายแรงงานกำหนดให้นายจ้างจัดชั่วโมงการทำงานปกติให้กับลูกจ้างสัปดาห์ละไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีชั่วโมงในการทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุดต้องไม่เกินสัปดาห์ละ 36 ชั่วโมง (ในหนึ่งสัปดาห์ลูกจ้างจะมีชั่วโมงทำงานปกติรวมกับโอทีต้องไม่เกิน 84 ชั่วโมง) 

                  แต่ถ้าดูตามข้อ 1 แล้วจะเห็นว่าชั่วโมงการทำโอทีก็ขาดอีกแค่ 6 ชั่วโมงก็จะถึง 36 ตามกฎหมายแล้วนะครับ

3.      สาเหตุที่กฎหมายกำหนดชั่วโมงการงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุดไม่ให้เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็เพราะเห็นว่าหากลูกจ้างมีชั่วโมงการทำงานมากจนเกินไปก็อาจส่งผลเสียกับสุขภาพของลูกจ้างในระยะยาว เพราะทำแต่งานจนไม่มีเวลาไปออกกำลังกายหรือดูแลตัวเอง หรือมีเวลาสำหรับครอบครัว

4.      ผู้บริหารเคยมองในอีกมุมหนึ่งไหมครับว่า
4.1   พนักงานที่มีชั่วโมงการทำโอทีมากอย่างงี้ไปหลาย ๆ ปีสุขภาพเขาจะเป็นยังไงในระยะยาว เพราะเมื่อเวลาผ่านไปบริษัทก็จะมีแต่พนักงานที่สุขภาพไม่แข็งแรงเพราะมัวแต่ทำงานทำโอทีจนไม่มีเวลาไปดูแลตัวเองไปออกกำลังกาย บริษัทจะมีแต่คนสุขภาพไม่ดี แล้วบริษัทจะต้องมาแบกต้นทุนค่ารักษาพยาบาลกับพนักงานเหล่านี้อีกเท่าไหร่

4.2   พนักงานทำงานหนักจนเกินไปทุ่มเทเวลาอยู่กับที่ทำงานมากจนเกินไป จนทำให้ครอบครัวมีปัญหา เช่น ลูกพนักงานติดเกม, ติดยา, ทะเลาะกับคนที่บ้าน, หย่าร้าง ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ก็จะวนกลับมาในบริษัทอีกคือพนักงานก็จะเครียดกับเรื่องที่บ้านจนไม่เป็นอันทำงาน เสียงานเสียการ หรือเหม่อลอยเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน ฯลฯ บริษัทจะต้องมาแบกรับต้นทุนในส่วนนี้อีกเท่าไหร่

5.      สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ในตอนนี้วันนี้บริษัทอาจจะมีออเดอร์เยอะ, มียอดขายสูง, กำไรดี ก็เลยมีเงินมาจ่ายค่าโอทีเพื่อจูงใจให้พนักงานทำงานสร้างผลผลิตออกมาได้มาก ๆ แต่ในวันใดวันหนึ่งที่เศรษฐกิจไม่ดี, ออเดอร์ลดลง, รายได้และกำไรลดลง บริษัทก็คงจะต้องลดชั่วโมงโอทีลงและถ้าแย่กว่านั้นก็คือการงดไม่ให้มีการทำโอที ผลกระทบกับพนักงานก็คือคนเคยมีรายได้เดือนละ 35,000 บาท ก็จะมีการจับจ่ายใช้สอยอยู่ในระดับ 35,000 บาท อาจจะไปผ่อนบ้านผ่อนรถสร้างหนี้สินเอาไว้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อรายได้ลดลงและแย่สุดคือลดลงเหลือแค่เดือนละ 20,000 บาท พนักงานที่ไปก่อหนี้สร้างภาระไว้แล้วจะทำยังไง 

                 ซึ่งปัญหานี้ก็จะวนเวียนกลับเข้ามาในบริษัท เผลอ ๆ ก็จะมีการประท้วงเรียกร้องขอปรับโน่นปรับนี่เพิ่มขึ้นเป็นปัญหาแรงงานสัมพันธ์ต่อไปอีก

           จากที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้นนี่แหละครับที่ผมเรียกว่าเป็นการบริหารค่าตอบแทนแบบ “จิตสัมผัส” คือคิดไปเองว่าการจ่ายแบบนี้อาจจะทำให้พนักงาน Happy เพราะมีรายได้ต่อเดือนเยอะในขณะที่บริษัทก็พร้อมจะจ่ายให้เสียด้วย

          แต่บริษัทกำลังมองใกล้..ไม่มองไกลหรือเปล่า ?

            บริษัทอาจไม่เคยมองในมุมของ “นักบริหารค่าตอบแทน” ที่จะมองแบบนักวิเคราะห์โดยใช้เหตุและผลข้อมูลข้อเท็จจริงต่าง ๆ มาประกอบกันเพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนเสนอให้กับฝ่ายบริหารเพื่อพิจารณาตัดสินใจ ซึ่งผมว่าจะดีกว่าการตัดสินใจบริหารค่าตอบแทนแบบจิตสัมผัสที่เล่าให้ฟังมาในข้างต้นนี้เยอะเลยจริงไหมครับ

            ผมถึงอยากจะตั้งคำถามปิดท้ายในวันนี้ว่า....

          บริษัทของท่านมีนักบริหารค่าตอบแทน หรือมีคนที่จะดูแลเรื่องค่าตอบแทนเพื่อลดปัญหาในเรื่องเหล่านี้บ้างแล้วหรือยังครับ ?


…………………………………….