วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

คำถามที่ HR ต้องระวังในการสัมภาษณ์

            วันนี้เป็นโลกของ Social Network ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวอะไรก็สามารถแชร์ให้ผู้คนรับรู้กันได้รวดเร็วแค่เสี้ยววินาที ถ้าเป็นเรื่องดีก็ดีไป แต่ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีก็จะกระจายเรื่องส่งต่อกันอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นทางไลน์, เฟซบุ๊ค ฯลฯ เรื่องที่ผมจะเอามาแชร์ในวันนี้ก็เพื่ออยากจะให้เป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับคนที่ทำงาน HR ที่มีหน้าที่ในการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกผู้สมัครงาน

เพราะผมไปเจอการตั้งกระทู้ด่า HR ที่ทำหน้าที่สัมภาษณ์ผู้สมัครงานเกี่ยวกับการใช้คำถามต่าง ๆ ในระหว่างการสัมภาษณ์ และก็กลายเป็นกระทู้ยอดนิยมแล้วก็มีคนเข้ามาเม้นท์มาเม้าท์ด่าคนที่ทำงาน HR (ที่ไม่ใช่คนใช้คำถามไม่เหมาะสมคนนั้น) แบบเหมาเข่งว่าคนทำงาน HR พูดจาไม่ดี, ชอบเหยียดหยามคนอื่น ฯลฯ ทำให้เกิดภาพด้านลบกับอาชีพ HR เพียงเพราะคนที่ทำงาน HR บางคนเท่านั้นที่ยังขาดทักษะการสัมภาษณ์ว่าอะไรควรถามไม่ควรถามก็เลยทำให้คนที่ทำงาน HR ที่ดี ๆ พลอยถูกสังคมมองไปในภาพลบไปด้วย

            คำถามที่คนทำงาน HR บางคนใช้สัมภาษณ์ผู้สมัครงานแล้วถูกเขาด่าทางเว็บไซด์มีดังนี้ครับ

1. คำถามล้อเลียนปมด้อยของผู้สมัครงาน เช่น
-          ทำไมน้องตัวเตี้ยจังเลยล่ะ หน้าตาก็สวยดีหรอกนะแต่พี่ว่าถ้าน้องสูงกว่านี้อีกสักหน่อยก็คงจะดี
-          คุณผิวด๊ำดำนะ ตอนเด็ก ๆ ชอบตากแดดล่ะสิ พี่อยากได้คนขาวกว่านี้น่ะ
-          ฟันหน้าคุณยื่นมากไปนิดหนึ่งนะถ้าไปดัดฟันให้เข้าไปอีกสักหน่อยหน้าตาจะดูดีกว่านี้นะ

2. คำถามแสดงทัศนคติเชิงลบหรือเชิงดูถูกผู้สมัครงาน เช่น
-          ทำไมน้องจบมาได้เกรดแค่ 2.0 เองล่ะ  แล้วยังงี้จะทำงานได้เหรอ
-          คุณยังเช่าบ้านเขาอยู่เลยเหรอทำไมไม่คิดผ่อนบ้านอยู่เองล่ะ
-          ทำไมน้องแต่งตัวมอซอจังเลย
-          พี่ว่าคนจบจากสถาบันนี้ (ที่ผู้สมัครงานจบมา) ไม่ค่อยจะสู้งานเท่าไหร่นะ

3. คำถามอยากรู้อยากเห็น (ศัพท์เทคนิคเขาเรียกว่า “เผือก” ครับ) ซอกแซกโดยไม่มีเป้าหมาย เช่น
-          คุณเป็นเกย์ (หรือเป็นทอม) หรือเปล่า
-          ทำไมน้องถึงยังไม่มีแฟนล่ะ เลือกมากล่ะสิ

4. คำถามอวดภูมิรู้ของผู้สัมภาษณ์ เช่น
-          คุณยังไม่รู้เรื่องนี้อีกเหรอ ไปอยู่ที่ไหนมาล่ะเนี่ยะ
-          ขนาดพี่ยังรู้เรื่องนี้เลยแล้วทำไมคุณถึงไม่รู้ ไม่เคยอ่านหนังสือพิมพ์บ้างหรือ

5. ไม่ได้ถามแต่ชอบพูดสั่งสอนผู้สมัครงานโดยไม่จำเป็น เช่น
-          คุณแต่งตัวอย่างนี้ออกจากบ้านไม่อายคนอื่นที่เขามองบ้างเหรอ
-          คุณรู้ไหมว่าถ้าคุณสักลายเต็มตัวอย่างนี้ไม่มีที่ไหนเขาอยากจะรับคุณเข้าทำงานหรอก
-          คุณน่ะอายุยังน้อยยังคิดอะไรไม่รอบคอบ เอาไว้คุณอายุมากกว่านี้คุณก็จะคิดเหมือนผมแหละ

นี่เป็นตัวอย่างของคำถามเพียงบางส่วนที่มักจะทำให้ผู้สมัครงานเอามาโพสบนกระทู้ออนไลน์
แล้วก็เลยมีบรรดาขาเม้นท์ขาเม้าท์เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันด่า HR หรือผู้สัมภาษณ์ที่เป็น Line Manager ที่ปากเบาชอบถามอะไรโดยไม่คิดเสียก่อนว่าอะไรควรถาม (ควรพูด) หรือไม่ควรถาม

            ซึ่งก็จะมีคนบางคนพยายามจะ “แถ” ไปได้อีกนะครับ ว่าการที่ HR ถามทำนองนี้ก็เพราะอยากจะทดสอบผู้สมัครงานว่ามีวุฒิภาวะอดทนต่อคำพูดยั่วยุของผู้สัมภาษณ์หรือไม่ เพราะในการทำงานก็อาจจะต้องเจอสถานการณ์หรือคำพูดที่ไม่ดีจากคนอื่นในที่ทำงานบ้าง

            ถ้ามีเหตุผลในการตั้งคำถามแบบแย่ ๆ ตามตัวอย่างข้างต้น ผมยังยืนยันว่าเป็นการ “แถ” อยู่นั่นเองครับ เพราะในการสัมภาษณ์น่ะมักจะใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณคนละหนึ่งชั่วโมง (บวก-ลบ) กะอีแค่ใช้คำถามยั่วยุ หรือคำถามเชิงล้อเลียนดูถูกผู้สมัครงานแบบนี้มันไม่ได้วัดในเรื่องการควบคุมอารมณ์ของผู้สมัครงานได้ชัดเจนหรอกครับ

          แถมยังจะทำให้ผู้สมัครงานรู้สึกย่ำแย่กับบริษัทนั้น ๆ หรือกับ HR คนสัมภาษณ์อีกต่างหาก !!

            อันที่จริงแล้วถ้าคนที่ทำหน้าที่สัมภาษณ์มีการเตรียมคำถามเอาไว้ล่วงหน้าแบบ Structured Interview แล้วใช้คำถามนั้นกับผู้สมัครงานแบบเดียวกันและมีเกณฑ์ในการประเมินเพื่อวัดความเหมาะตรงกับตำแหน่งงานของผู้สมัครแต่ละรายอย่างชัดเจน ก็จะลดปัญหาชนิดที่ถามแบบเทพดลใจเพราะไม่ได้เตรียมคำถามอะไรมาก่อนก็เลย  เหมือนถามไปโดยปากพาไปจนกระทั่งปากพาจนทำให้คนเขาด่าในที่สุด

          มีบางคนเคยบอกไว้ว่าถ้าเราอยากจะรู้ว่าใครฉลาดรอบรู้เรื่องนั้น ๆ ไหมให้ดูจากคำตอบของเขา แต่ถ้าเราอยากจะรู้ว่าใครฉลาดแค่ไหนให้ดูจากคำถาม

          พูดง่าย ๆ ว่าคำถามจะเป็นตัวชี้วัดสติปัญญาของคนถามได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว !!

            ดังนั้น คนที่ทำงาน HR และต้องทำหน้าที่สัมภาษณ์ควรระวังการใช้คำถามที่ไม่คิดถึงใจเขา-ใจเรา แล้วก็ทำให้ผู้สมัครงานเขาเอาไปประจานให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์ชื่อเสียงขององค์กร รวมไปถึงคนเขาจะมองภาพของคนทำงาน HR ว่าไม่มีความเป็นมืออาชีพและจะพลอยมองภาพของ HR ในทางลบเข้าไปอีกซึ่งการแก้ชื่อเสียงภาพลักษณ์กลับมาก็ยุ่งยากกว่าการสร้างชื่อเสียอีก

            ฝากไว้เป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับทั้งคนที่เป็น HR และท่านที่เป็นผู้บริหารขององค์กรที่ไม่ใช่ HR แต่ต้องมาทำหน้าที่เป็นผู้สัมภาษณ์ผู้สมัครงานเพื่อระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ไม่เหมาะสมเอาไว้ด้วยเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับทั้งตัวเองและองค์กรนะครับ


……………………………….