เรื่องนี้มีอยู่ว่ามีน้องใหม่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังด้านบริหารธุรกิจ
เกรดเฉลี่ย 3 กว่า ๆ เข้ามาทำงานได้ประมาณ 2 เดือน แต่ถูกรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่มาก่อนรับน้องละน่วม คือชอบโยนงานต่าง ๆ
มาให้ทำเยอะแยะไปหมดแล้วตัวเองก็ไปนั่งเล่นเฟซบุ๊คให้น้องใหม่เห็นซะอีก
น้องใหม่รายนี้ก็เลยคับข้องใจเพราะถูกโยนงานทั้งหลายมาให้จนทำแทบไม่ทัน เหนื่อย
ทำไปก็ไม่เห็นจะได้ประสบการณ์อะไรเพิ่มขึ้นเลย
เริ่มคิดว่างานที่ทำไม่คุ้มกับเงินเดือน ๆ ละ 14,000 บาท
ก็อยากจะหางานใหม่เพราะฐานะทางบ้านก็ปานกลางลาออกมาก็ยังพอมีเวลาไปหางานใหม่ได้ ตกลงแล้วน้องใหม่รายนี้ควรจะลาออกดีหรือไม่
?
ผมเชื่อว่าปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้นได้กับมนุษย์เงินเดือนทุกคนไม่เฉพาะแต่พนักงานเข้าใหม่นะครับ
วิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดก็คือการลาออก
เพราะไม่ต้องคิดอะไรมากแค่เขียนใบลาออกแล้วก็ไปยื่นกับหัวหน้างานทุกอย่างก็จบสำหรับที่นี่
แต่ก่อนที่จะตัดสินใจอย่างงั้นลองนั่งนิ่ง
ๆ แล้วลองฟังผมสักนิดนึงก่อนนะครับ....
1. ทัศนคติคือทุก ๆ อย่างในชีวิต:
ถ้าอยากเป็นคนที่ประสบความสำเร็จต้องหาทางเปลี่ยนวิธีคิดจากลบเป็นบวกให้ได้เสียก่อน
เพราะสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วสิ่งนั้นไม่ได้ดีหรือเลวด้วยตัวของมันเองนะครับ
แต่ความรู้สึก (หรือทัศนคติ)
ของเราที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นต่างหากที่จะทำให้มันดีหรือเลว
2. มองวิกฤตเป็นโอกาส : ถ้าตั้งสติคิดได้ตามข้อ 1 แทนที่เราจะคิดว่าทำไมใคร ๆ
ก็โยนงานอะไรก็ไม่รู้มาให้เราทำตั้งเยอะแยะไม่ยุติธรรมเลย ก็ลองกลับมาคิดเสียใหม่ว่าแล้วเราได้เรียนรู้งานใหม่
ๆ ที่พี่ ๆ เขาโยนมาให้เรามากขึ้นกว่าเดิมบ้างล่ะ งานเหล่านี้ทำให้เรามีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้นในการทำงานมาก
ๆ ในระยะเวลาจำกัด ทำให้เราต้องบริหารเวลากับงานได้ดีขึ้นเพื่อส่งงานให้ได้ตรงเวลา
เมื่อเราสามารถทำงานเหล่านี้ได้มันก็จะเป็นผลงานของเราเองเลยนะครับ
ซึ่งประสบการณ์และผลงานเหล่านี้เราจะเอาไว้ไปคุยอวดใครเราก็พูดได้ด้วยความภูมิใจว่าเรื่องเหล่านี้เราก็ผ่านมันมาแล้ว
3. ฝึกทักษะในการแก้ปัญหา : จากงานที่โดนโยนมาเยอะแยะเหล่านั้น
จะทำให้เรามีโอกาสที่จะรู้จักวิธีแก้ปัญหา จัดการกับปัญหาต่าง ๆ
เพื่อทำให้งานสำเร็จให้ได้ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้เกิดจากประสบการณ์จริงในภาคปฏิบัติที่ไม่มีสอนเฉพาะเจาะจงในตำราเล่มไหน
เรียกว่าเราได้เรียนกระบวนการแก้ปัญหาและตัดสินใจจากหน้างานจริง
ๆ เลย ซึ่งในวันข้างหน้าประสบการณ์เหล่านี้เรายังเอาไว้ยกเป็นตัวอย่างให้คำแนะนำกับรุ่นน้องต่อ
ๆ ไปได้อีกนะครับเรียกว่ามีนิทานจากเรื่องจริงมาเล่าให้ลูกน้องฟังกันไม่หมดเลยแหละ
แถมบางเรื่องอาจจะดูซีเรียสในตอนที่เจอปัญหา แต่เมื่อผ่านปัญหานั้นมาได้ก็กลายเป็นเรื่องขำ
ๆ ในภายหลังไปเลยก็มี
4. ฝึกความอดทน : ประสบการณ์แบบนี้จะช่วยฝึกการควบคุมอารมณ์ตัวเอง
เพราะในชีวิตการทำงานนั้นจะต้องมีบ้างแหละครับที่ “เราต้องทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ
และไม่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ”
ดังนั้นความอดทนและสู้งานเป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งที่องค์กรต้องการ พูดง่าย ๆ
คือเก่งงานแค่ไหนแต่ถ้าไม่อดทนก็เติบโตยากนะครับ
5. ถ้าหนีปัญหาคงจะต้องหนีไปเรื่อย
ๆ : ถ้าน้องใหม่คนนี้ตัดสินใจแก้ปัญหานี้ด้วยการลาออกทันทีที่เจอปัญหา
ผมก็อยากจะบอกว่านี่ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการ “หนีปัญหา” มากกว่า
และถ้าตัดสินใจลาออกทันทีแบบนี้ทั้งที่ทำงานได้ประมาณ 2 เดือน
แล้วน้องไปเจอปัญหาทำนองเดียวกันนี้ในที่ทำงานใหม่น้องจะทำยังไงครับ ? จะลาออกอีกไหม ? แล้วน้องจะรู้ได้ยังไงล่ะครับว่างานที่ใหม่จะมีปัญหาน้อยกว่านี้
ถ้าจะลาออกเพื่อหนีปัญหามิต้องลาออกทุก ๆ ครั้งที่เจอปัญหาหรือ ?
เอาล่ะนะครับผมพูดให้ฟังมาจนขนาดนี้แล้วถ้าน้องใหม่คนนี้จะยังตัดสินใจลาออกทั้ง
ๆ ที่เพิ่งทำงานมาได้แค่ 2 เดือนก็เชิญตามสะดวกเลยนะครับ
เป็นสิทธิของท่าน....
จากปัญหาที่น้องใหม่รายนี้ (ซึ่งหมายถึงคนทำงานทุกคนแม้จะไม่ใช่น้องใหม่ก็ตาม)
เจอ ก็ไม่ต่างจากในอดีตสมัยที่ผมเพิ่งจบและเริ่มทำงานใหม่ ๆ เจอในลักษณะปัญหาคล้าย ๆ กัน
ซึ่งผมเองก็เคยคิดคล้าย ๆ กับน้องใหม่คนนี้คืออยากจะยื่นใบลาออกตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ทำงานด้วยซ้ำไป
เพราะในที่ทำงานแห่งนั้นไม่มีการสอนงานอะไรที่เป็นระบบเลย
แถมมีการโบ้ยงานโยนงานมาสารพัด แต่พอผมกลับไปบ้านเริ่มใจเย็นลง
มีสติมากขึ้นรุ่งขึ้นเช้าผมก็มาทำงานต่อไปตามปกติจนกระทั่งอยู่ในที่ทำงานแห่งนั้นมาได้ตั้งเก้าปี
(ทั้ง ๆ ที่อยากจะลาออกตั้งแต่สัปดาห์แรก)
และสิ่งที่ผมได้รับจากวันนั้นมาถึงวันนี้ก็คือความรู้และประสบการณ์ในงานยาก
ๆ หลาย ๆ เรื่องที่คนอื่นเขาไม่อยากทำแต่ผมถูกสั่งให้ทำ
(ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้อยากจะทำด้วยนะครับ) แต่ก็ต้องทำจนกระทั่งงานนั้น ๆ สำเร็จลงได้ ทำให้มีประสบการณ์เรื่องราวต่าง ๆ
จากชีวิตการทำงานจริงมาเล่าสู่กันฟังที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้นอกจากต้องเจอมาเอง ซึ่งบทเรียนจากประสบการณ์เหล่านี้จะทำให้เรามีคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้นไปเรื่อย
ๆ เมื่ออายุตัวและอายุงานเพิ่มขึ้น
เพราะผมเชื่อว่าทุกองค์กรอยากได้คนที่พร้อมจะสู้กับปัญหาและเป็นนักแก้ปัญหามากกว่าคนที่เอาแต่หนีปัญหา..จริงไหมครับ
?
…………………………….